xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาสุรินทร์ช้ำ! ข้าวแพงแต่ไม่ได้เงิน ขาย 17 บ.แต่ต้องซื้อกิน 40

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชาวนา จ.สุรินทร์ สุดช้ำ เจ็บหนักสุด ข้าวแพงไม่ได้ประโยชน์แม้สักบาทเดียว เพราะทำข้าวนาปี เทขายข้าวหมดเกลี้ยง ตั้งแต่ปลายปี 2550 ทำให้ขายข้าวได้ราคากิโลกรัมละ 7-8 บาท แต่ต้องซื้อข้าวสารกิน กก.ละ 40 บาท ด้านตัวแทนโรงสี ชี้ ข้าวแพงยังไงก็ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย แต่รัฐบาลต้องเข้ามาควบคุมไม่ให้ได้กำไรเกินควร ให้ข้อมูลเกษตรกร ผู้ส่งออกมั่นใจราคาข้าวยังสูงต่อเนื่อง 2-3 ปี

วันนี้ (28 เม.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเวทีสาธารณะ “วิกฤตอาหาร วิกฤตเศรษฐกิจไทย : ข้าวแพง ชาวนาได้ประโยชน์จริงหรือ?” โดยนายวิฑูรย์ ปัญญากุล เลขาธิการมูลนิธิสายใยแผ่นดิน หรือ กรีนเนท กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า วิกฤตราคาข้าวแพงเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย โดยมีสาเหตุหลักมาจากปัญหาสภาพอากาศ โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมาเกิดสภาวะโลกร้อน ภัยแล้ง อุทกภัยในประเทศต่างๆ เช่น เวียดนาม ออสเตรเลีย เอกวาดอร์ เป็นต้น จึงทำให้ประเทศผู้ส่งออกข้าวต้องสั่งสำรองข้าวเพิ่มมากขึ้นและลดปริมาณการส่งออกหรือสั่งห้ามการส่งออกชั่วคราว จึงทำให้ปริมาณข้าวในตลาดโลกลดน้อยลง ประกอบกับปัญหาค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ อ่อนตัวลง จึงส่งผลให้ราคาข้าวปรับสูงขึ้นประมาณ ร้อยละ 10 ซึ่งวิกฤตดังกล่าวส่งผลกระทบถึงประเทศไทยด้วย เพราะไทยเป็นประเทศที่มีการส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก คือ ประมาณ 9 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโลก

“การที่ทั่วโลกสั่งสำรองข้าวสาร เพราะกลัวข้าวขาดแคลน จะยิ่งส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นอีก ซึ่งขณะนี้แม้แต่ประชาชนในประเทศไทยเองก็เริ่มกักตุนข้าวสารกันบ้างแล้ว ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นรัฐบาลไทยก็ไม่กล้าแก้ปัญหาให้เกิดความชัดเจนว่าจะให้ราคาข้าวเป็นแบบใด สูงขึ้นตลอดไป หรือแก้ไขให้ราคาลดต่ำลง อีกทั้งยังประกาศว่า ข้าวแจะแพงกว่าน้ำมัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่มีผลในเชิงจิตวิทยา ที่ทำให้ประเทศต่างๆ กักตุนข้าวมากขึ้น” นายวิฑูรย์ กล่าว

นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่า แม้ปัญหาขาดแคลนข้าวจะลดลงก็ไม่ทำให้ราคาข้าวกลับไปมีราคาถูกลงเหมือนเดิม เพราะปัจจุบันต้นทุนในการผลิตปรับตัวสูงขึ้นกว่าก่อนมาก โดยเฉพาะน้ำมัน ปุ๋ย รวมถึงปัญหาการจัดสรรน้ำให้นาข้าวสำหรับข้าวนาปรังซึ่งต้องใช้น้ำมากจะเกิดปัญหาการแย่งน้ำกับพืชชนิดอื่นๆ

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหารัฐบาลควรให้ความสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.พัฒนาเทคโนโลยีและการจัดการฟาร์มภายใต้ภาวะความผกผันของสภาพภูมิอากาศและต้นทุนการผลิต 2.นโยบายและแผนปฏิบัติเรื่องข้าวและอาหารอย่างเป็นระบบ โดยไม่ดูเฉพาะการส่งออกของผู้ประกอบการ แต่ดูถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภค และ 3.ระบบการประกันราคาที่เป็นธรรมกับเกษตรกร

นางกัญญา อ่อนศรี ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาชีพทางเลือก บ้านทัพไทย จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นเกษตรกรปลูกข้าวนาปีแบบเกษตรอินทรีย์ กล่าวว่า ขณะนี้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก แต่เกษตรกรที่ทำนาปีไม่ได้ประโยชน์จากราคาที่สูงขึ้นเลย เพราะเกษตรกรได้ขายข้าวไปหมดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2550-มกราคม 2551 โดยราคาข้าวเปลือกขายหน้าโรงสีที่กิโลกรัมละ 7-8 บาท แต่ไม่รู้ว่าจริงๆ ข้าวราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 20 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ แต่เกษตรกรก็ไม่ได้ประโยชน์จากราคาที่ปรับสูงขึ้นแม้แต่บาทเดียว ขณะที่กลุ่มพ่อค้า นายทุน นักส่งออก และโรงสี เท่านั้น ที่ได้ผลประโยชน์

“ปีนี้ชาวนาใน จ.สุรินทร์ เจ็บหนักที่สุด เพราะขายข้าวเปลือกในราคาถูก คือ กิโลกรัมละ 7-8 บาท และเทขายหมดไม่เหลือไว้กิน จึงต้องซื้อข้าวสารกินในราคากิโลกรัมละ 40 บาท ถามว่ามันคุ้มกันไหม มันเท่ากับเราเสียประโยชน์เต็มๆ แถมเทียบไม่ได้กับราคาค่าครองชีพที่สูงขึ้น ดังนั้น ที่พูดกันว่าปีนี้ชาวนารวยขายข้าวได้ราคาก็ไม่จริง เพราะชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จปลายพฤศจิกายน ก็รีบขายข้าวทันที ไม่ได้กักเก็บไว้เพื่อเก็งกำไรหรือรอให้ราคาข้าวสูงขึ้น ที่พูดนี่ไม่ใช่ไม่อยากเก็งกำไร พวกเราก็อยากขายข้าวให้ได้ราคาเหมือนกัน แต่เราทำไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าราคาข้าวจะพุ่งขึ้นสูงเมื่อไร เพราะไม่มีใครมาบอก ชาวนาไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจในไทย หรือเศรษฐกิจของโลก ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลควรจะบอกข่าวหรือแจ้งให้ประชาชนรู้บ้างก็ดี พวกเราจะได้ตามทัน และวิธีที่ถูกต้องควรจะประกันราคาข้าวให้สูงขึ้นด้วย” นางกัญญา กล่าว

ด้าน นางกิมอั้ง พงษ์นารายณ์ ผู้ประสานสภาเครือข่ายองค์กรประชาชน จ.ชัยนาท ซึ่งเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ทำข้าวนาปรัง กล่าวว่า ยอมรับว่า เกษตรกรที่อยู่ในเขตชลประทานในภาคกลางได้ประโยชน์จากราคาข้าวสูงขึ้น เพราะได้ทำนาปรัง ซึ่งจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ ทำให้ยังขายข้าวในช่วงนี้ได้อยู่ แต่เชื่อว่าเกษตรกรจะได้ประโยชน์แค่ปีนี้ปีเดียว ปีถัดๆ ไป อาจจะต้องขาดทุนเป็น 2 เท่า เพราะการปลูกข้าวมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะเรื่องโรคระบาดโดยเฉพาะเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และสภาพภูมิอากาศหากเกิดพายุหรือมรสุมเข้าทำให้น้ำท่วมนาข้าว ซึ่งหากเกิดความเสียหายเกษตรกรก็จะลำบากขายข้าวไม่ได้ ทำให้เป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร(ธกส.) ที่ชาวนากู้ยืมเงินมาซื้อปุ๋ยเคมี คราวละเป็นหลักแสนบาท เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จก็ต้องรีบขายข้าวเพื่อนำเงินมาจ่ายเป็นค่าดอก เงินต้นให้กับ ธ.ก.ส.

นางกิมอั้ง กล่าวต่อว่า ปัจจุบันชาวนาส่วนใหญ่มักจะเช่าที่เพื่อทำนา บางคนมีที่นาเป็นของตัวเองแค่ 5 ไร่ แต่ต้องไปเช่าที่ทำนาอีก 40 ไร่ ซึ่งทำให้มีต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น เพราะนายหน้าเจ้าของที่จะคิดค่าเช่านาไร่ละ 1,500 บาท แต่พอราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นก็เพิ่มค่าเช่านาเป็นไร่ละ 2,000 บาท หากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ก็แย่ เพราะไม่รู้ว่าเมื่อราคาข้าวลดลงมาแล้วเจ้าของที่พวกนี้จะลดราคาค่าเช่านาลงมาเหมือนเดิมหรือไม่

“ที่สำคัญ รัฐบาลกลับไปแก้ปัญหาราคาปุ๋ยเคมีที่มีแพงให้ถูกลงซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะช่วยชาวนา หรือช่วยผู้ประกอบการที่ขายปุ๋ย ซึ่งรัฐบาลควรจะส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งมีราคาถูก ประหยัดเงิน และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายชั้นผิวดินเหมือนกับปุ๋ยเคมีที่ทำให้ดินแข็งตัวจนรากของกล้าข้าวไม่สามารถแทรกตัวลงได้มากกว่า” นางกิมอั้งกล่าว

ขณะที่ นายปราโมทย์ วานิชชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าราคาข้าวจะพุ่งขึ้นสูงขนาดนี้ ซึ่งหากทางโรงสีข้าวรู้ก็คงจะรอขายในช่วงที่มีราคาสูงเช่นกันดังนั้นในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน จึงเป็นการตั้งหลักใหม่ของทุกฝ่าย ดังนั้น หากถามว่าใครได้ประโยชน์จากการที่ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นบ้าง คงต้องบอกว่า กว้างๆ ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย ทั้งผู้ส่งออก โรงสี และเกษตรกร และได้ประโยชน์มากกว่าปกติด้วย แต่ใครจะได้ประโยชน์มากหรือน้อยนั้น ไม่สามารถชี้ชัดได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่า อนาคตราคาข้าวจะยังคงสูงขึ้นเป็นลักษณะขั้นบันไดไปตลอด ราคาลงคงไม่มี ถือเป็นการปรับฐานครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์

“เป็นข้ออ่อนของประเทศไทยที่ไม่มีการให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูล หรือทำความเข้าใจเรื่องหลักการตลาด ดังนั้น ส่วนเกษตรกรที่ทำนาปี อาจจะได้ประโยชน์ไม่ถึง 20% จากนี้รัฐบาลจะต้องเริ่มจากส่วนให้ชาวนาอยู่รอด ดูแลอนาคตชาวนา ไม่ใช่เพียงแค่พยุงราคา แต่จะต้องพัฒนากำหนดต้นทุนมาตรฐานและกำไรมาตรฐาน เพราะหากทำนาแล้วไม่คุ้มทุนคงจะไม่มีใครอยากทำและเลิกกันหมด ยกระดับชีวิตชาวนา ซึ่งผู้บริโภคก็ต้องยอมรับในการกินข้าวแพงขึ้น ทั้งนี้ รัฐจะต้องใช้กลไกการค้าเสรี โดยใช้อำนาจรัฐกำกับไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้กำไรเกินควร” นายปราโมทย์ กล่าว

ด้านนายวิโรจน์ เกล่าประภัสสร กรรมการสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า เชื่อว่าราคาข้าวจะไม่ปรับตัวลงภายใน 2-3 ปีอย่างแน่นอน เพราะปัจจัยเสริมต่างๆ เช่น น้ำมัน ปุ๋ยเคมี ทองคำ และสินค้านำเข้ายังมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกลุ่มโอเร็กซ์ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของประเทศผู้ส่งข่าวข้าว มีน้อยมาก หากจัดตั้งได้ขึ้นจริงจะส่งผลให้เกิดปัญหาการเมืองระหว่างประเทศได้ หากจะจัดตั้งรวมกลุ่มผู้ค้าข้าวระหว่างประเทศขึ้น ควรจะเป็นเรื่องความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสารมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น