xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนากาฬสินธุ์ไม่เชื่อมั่นโครงการจำนำข้าวเปลือกรัฐบาล ชี้นายทุนโรงสีจ้องโกงตลอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์ - ชาวนากาฬสินธุ์ชี้นำข้าวเปลือกขายตามตลาดรับซื้อข้าวเปลือกได้ราคาสูงกว่าเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐ ชี้เหตุถูกกดราคาเอาเปรียบทุกรูปแบบจากนายทุนโรงสีในท้องถิ่น เผยถูกนายทุนเอาเปรียบทุกรูปแบบตั้งแต่เริ่มทำนา

เกษตรกรชาว จ.กาฬสินธุ์ ในหลายหมู่บ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เมือง และ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ จากการลงพื้นที่สอบถามพบว่าในฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี 2551/2552 เกษตรกรส่วนใหญ่จะหันเอาข้าวเปลือกไปขายตามตลาดกลางรับซื้อข้าวมากกว่าที่จะนำข้าวไปเข้าโครงการรับจำนำกับภาครัฐที่จะมีการจำนำใบประทวนที่ส่วนใหญ่ให้เหตุผลคือไม่เชื่อมั่นในตัวนายทุนที่ได้รับสัมปทานเป็นจุดรับจำนำข้าวเปลือก เนื่องจากปีที่ผ่านมาทั้งฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีและข้าวนาปรัง ชาวนาถูกเอารัดเอาเปรียบตั้งแต่เริ่มทำนาข้าว

นายไล ภูปรางค์ อายุ 65 ปี เกษตรกรบ้านตูม ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ความทุกข์ใจคือหากเอาข้าวเข้าไปจำนำกับพวกนายทุนอีกเหมือนปีที่ผ่านๆ มาผลที่ได้คือความผิดหวัง เพราะราคาที่ภาครัฐออกมาประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้นำเข้าไปเข้าโครงการรับจำนำแบบใบประทวนที่จะต้องมีการขนข้าวไปตรวจวัดค่าความชื้นที่โรงสีที่ได้รับเป็นผู้ดำเนินการ และทุกครั้งตัวเลขที่ทางภาครัฐระบุไว้กับที่ทางโรงสีอนุมัติเงินเบิกจ่ายให้เรามันตรงกันข้ามกัน

เช่นกรณีปีนี้ ข้าวเปลือกเหนียว ตั้งไว้ที่ตันละ 9,000 บาท ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท 12,000 บาท และหากเข้าไปที่โรงสีก็จะถูกหักไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักรถ ค่าความชื้น และอื่นๆ อีกที่เป็นภาษานายทุนชาวนาอย่างฟังไม่รู้เรื่องมาอ้างต่างๆ นานา ทำให้ราคาเหลืออยู่เกินครึ่งนิดๆ เท่านั้นบางรายหนักเหลือไม่ถึงครึ่ง

สุดท้ายชาวบ้านก็ต้องน้ำตาตก หันไปพึ่งใครก็ไม่ได้เพราะนายทุนควบคุมไว้ทั้งระบบเริ่มตั้งแต่ระดับหมู่บ้านจนถึงระดับใหญ่ๆ ในจังหวัด


ด้าน นายประภาส ภูวงกต อายุ 58 ปี เกษตรกรบ้านดงเมือง อ.เมืองกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในปีนี้หากจะเข้าร่วมกับภาครัฐจริงๆ คงจะเป็นการรับจำนำที่ยุ้งฉางเพราะมันคุ้มค่ากว่าอย่างน้อยเราก็เห็นข้าวเราทุกวันได้ดูแลต่ออีก ถ้าจะไปจำนำใบประทวนกับโรงสีคงไม่ไหวเพราะถึงอย่างไรก็ถูกนายทุนเอาเปรียบเหมือนเดิมเกษตรกรไม่มีสิทธิ์เรียกร้อง หรือขอตรวจสอบใดๆ ขนาดเดินขบวนประท้วงเรียกร้องต่างๆ ยังไม่เป็นผลสุด้ทายผลประโยชน์ส่วนใหญ่ก็อยู่กับนายทุนไม่ได้ช่วยชาวนาเลย

“ปลูกข้าวแต่ละปีประมาณ 10-30 ไร่ แต่ละไร่ได้ผลผลิตเฉลี่ยที่ไร่ละ 700-800 กิโลกรัม หากคิดเป็นเงินก็ไม่เท่าไหร่เพราะต้นทุนการทำนาปีนี้สูงมากเฉลี่ยแล้วอยู่ประมาณ 8,000-10,000 บาท ซึ่งถ้าเอาข้าวไปจำนำกับทางโรงสีมันไม่ถึงต้นทุนด้วยซ้ำมันขาดทุน อีกอย่างขั้นตอนยังล่าช้ากว่าจะตรวจสอบกว่าจะเดินเข้าไปรับใบประทวนแล้วมาขึ้นเงินกับทาง ธ.ก.ส. มันนานกินเวลาร่วมเดือนเงินมันต้องการใช้โดยเฉพาะช่วงที่ลูกหลานต้องเรียนหนังสือ ช่วงเปิดเทอมใหม่ ๆ ถ้าเอาข้าวไปขายตามตลาดกลางรับซื้อข้าวมันเร็วได้เงินสด อีกอย่างราคาก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก”

ส่วน นายหนูผัน พิชัยเชิด อายุ 47 ปี กล่าวว่า ตนเองไม่มีความเชื่อมั่นในโครงการรับจำนำเข้าของภาครัฐที่ให้เอกชนเข้ามามาส่วนในการรับจำนำข้าว เพราะนายทุนโรงสีไม่ว่าที่ไหนก็ยังจ้องจะเอาเปรียบชาวนาอยู่เสมอ

อีกอย่างราคาที่รัฐบาลตั้งไว้นั้นสูงทำให้ชาวนาดีใจ แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นเรื่องหลอกลวง เพราะราคาที่นายทุนโรงสีประเมินให้เกษตรกรนั้นแตกต่างกันลิบลิ่ว แต่ถ้าเป็นรูปแบบภาครัฐดำเนินการเองทั้งหมดยังจะมีความเชื่อมั่นมากกว่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น