xs
xsm
sm
md
lg

“ธ.ก.ส.เชียงราย” เตรียมงบ 3 พันล้านรับจำนำข้าว-เร่งสอบคุณสมบัติ 11 โรงสี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – “ธ.ก.ส.” คาดต้องใช้เงิน 3,000 ล้านจำนำข้าวนาปีเชียงราย เชื่อเกษตรกรนำข้าวเข้าโครงการ 1 แสนตัน หรือ 10%ของผลผลิตทั้งหมด ขณะที่การจำนำข้าวเหนียวปรังปี 51 จนถึงวันนี้ยังมีเกษตรกรเมืองพ่อขุนฯไม่ได้รับเงินอีก 395 ราย ปีหน้าพร้อมใจลดพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวหลังเห็นราคาร่วงหนัก


นายจำเนียน จอมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงาน ธ.ก.ส.เชียงราย เปิดเผยว่า ปัจจุบันโครงการรับจำนำข้าวนาปีจากเกษตรกรคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากที่องค์การคลังสินค้า หรือ อคส.องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร หรือ อ.ต.ก.รับฝากและออกใบประทวนให้แก่เกษตรกรแล้ว ทาง ธ.ก.ส.ก็จะรับจำนำใบประทวนตามมาตรการรับจำนำตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2551-28 ก.พ.2552

ปีนี้ ธ.ก.ส.คาดว่า จะมีข้าวเหนียวประมาณ 300,000 ไร่ ผลผลิตจะอยู่ที่ประมาณ 600,000 ตัน ข้าวจ้าวประมาณ 400,000 ไร่ ผลผลิตประมาณ 240,000 ตัน รวมทั้งหมดจะมีผลผลิตออกมาประมาณ 800,000 กว่าตัน แต่คาดว่าเกษตรกจะมาเข้าร่วมโครงการรับจำนำประมาณ 80,000-100,000 ตัน หรือคิดเป็น 10% ของผลผลิตทั้งหมด

ดังนั้น จึงคาดว่าจะใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งทาง ธ.ก.ส.ได้เตรียมเงินไว้พร้อมแล้ว เพื่อรับจำนำตามที่รัฐบาลกำหนดคือข้าวเหนียวคละ ตันละ 9,000 บาท ข้าวเหนียวเมล็ดยาวตันละ 10,000 บาทต่อตัน และข้าวจ้าว ตันละ 12,000 บาทต่อตัน ข้าวหอมมะลิ 15,000 บาทต่อตัน

ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการจกำกับดูแลเแล้ว 1 ชุด มีปลัดจังหวัดเป็นประธาน มีคณะกรรมการอย่างพาณิชย์จังหวัด การค้าภายใน และผู้อำนวยการ ธ.ก.ส. ซึ่งได้ตรวจสอบโรงสีที่ยื่นความจำนงเข้าร่วมโครงการ ที่ตอนนี้มีทั้งหมด 11 โรงสี อยู่ที่อำเภอแม่จัน 4 โรงอำเภอเมือง 3 โรง อ.ป่าแดด 1 โรง และอำเภอพาน 3 โรง แต่ละโรงได้ทำหลักประกันให้กับทางรัฐบาล จึงคาดว่าภายในไม่กี่วันนี้จะเริ่มทยอยเปิดรับฝากและออกใบประทวนให้กับเกษตรกรได้แล้ว

“สำหรับการจำนำข้าวแบบยุ้งฉาง นั้นเป็นการจำนำแบบกลุ่ม ไม่ได้จำนำแบบรายคน โดยมีการรับประกัน 2 ชั้น คือประกันด้วยข้าว และประกันด้วยสมาชิกอีกชั้นหนึ่ง เมื่อมีการแอบนำข้าวไปขายหลังจากนำมาจำนำแล้ว ทางกลุ่มนั้นก็จะเสียเครดิต ปีต่อๆ ไปก็จะถูกแบล็คลิสต์ จะไม่มีการเข้าไปรับจำนำแล้ว เกษตรกรจะเป็นผู้เสียโอกาส ดังนั้น โครงการนี้เป็นโครงการที่ช่วยเหลือเกษตรกรมากที่สุด และอำนวยความสะดวกสำหรับเกษตรกรที่อยู่ไกลจากโรงสี จึงอยากฝากให้ทางเกษตรกรรักษาเครดิตตัวนี้ให้ไว้ดีที่สุด” นายจำเนียน กล่าว

ด้าน นายบุญแต่ง ธรรมสาร แกนนำกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จ.เชียงราย กล่าวว่า หลังจากชาวบ้านได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตข้าวนาปรังในปี 2551 พบว่าหลังผ่านเหตุการณ์เรียกร้องต่างๆ มานานหลายเดือนหรือตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ยังมีชาวนาในเชียงรายที่ไม่ได้รับเงินเหลืออยู่อีกกว่า 395 ราย เป็นเงินประมาณ 26 ล้านบาท เฉพาะ อ.แม่สาย เหลือประมาณ 100 กว่ารายเป็นเงินประมาณ 5 ล้านบาท แต่ก็ค่อยๆ ได้รับเรื่อยๆ

จึงคาดว่าในฤดูนาปรังหน้านี้ชาวบ้านคงจะไม่ปลูกข้าวเหนียวกันมากเหมือนเดิม เพราะจะได้ราคาเพียงกิโลกรัมละ 6-7 บาท ซึ่งไม่คุ้มค่าซื้อปุ๋ย เพราะราคาที่เราอยากได้คือกิโลกรัมละ 8 บาทขึ้นไป ส่วนนาปีก็หวังว่าจะได้ราคาดี เพราะมีการรับประกันกันเอาไว้แล้วอย่างชัดเจนไม่เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับนาปรัง
กำลังโหลดความคิดเห็น