อุบลราชธานี - ชาวนาเมืองดอกบัวสบช่องขายข้าวตรงจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค ทำให้ชาวนาได้ผลตอบแทนจากราคาข้าวเหนียว-ข้าวเจ้าสูงกว่าที่โรงสีรับซื้ออีกเท่าตัว ส่วนผู้บริโภคก็ซื้อข้าวสารได้ถูกกว่าราคาท้องตลาด 5-7 บาทต่อกิโลกรัม
ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดอุบลราชธานี รายงานว่า เกษตรกรชาวนาผู้ปลูกข้าวเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปีประจำฤดูกาลผลิต 2551/2552 แต่ได้รับผลกระทบจากอากาศมีความชื้นสูงและบางพื้นที่ยังคงมีฝนตกลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวคาดว่าจะขายข้าวหรือนำไปจำนำได้ราคาต่ำกว่าปกติ
เพราะข้าวเปลือกมีความชื้นสูงกว่า 15% ตามที่รัฐบาลประกาศให้ธนาคารเพื่อการเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 9,000 บาท ส่วนโรงสีเปิดรับซื้อข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 13,200 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 6,000 บาท
จากราคาข้าวเปลือกที่ยังผันผวนอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มเกษตรกรชาวนาใน อ.นาตาล ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรพอเพียงไม่นำผลผลิตไปจำนำหรือจำหน่าย แต่ได้เก็บผลผลิตของตนไว้ โดยใช้วิธีทยอยนำข้าวเปลือกมาสีจำหน่าย เมื่อลูกค้ามีคำสั่งซื้อมา ทำให้สามารถขายข้าวได้ราคามากกว่าการนำไปจำนำกับ ธ.ก.ส.และทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อข้าวสารได้ในราคาถูกกว่าราคาท้องตลาดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 5-7 บาท
นายยงยุทธ นวนิยม เกษตรกรบ้านนาเวียง ต.นาตาล ผู้นำแนวความคิดไม่พึ่งพาพ่อค้าคนกลางในการขายข้าวกล่าวว่า แนวความคิดของตนเกิดเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา มีญาติไปทำงานที่กรุงเทพฯ และเปิดร้านขายกับข้าว จึงติดต่อส่งข้าวสารไปขายในราคาต่ำกว่าท้องตลาด โดยขนส่งไปกับรถโดยสารประจำทาง ต่อมาก็มีร้านขายกับข้าวมาติดต่อซื้อข้าวที่ส่งไปขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากส่งข้าวไปขายในกรุงเทพฯ แล้วยังประสานไปยังชุมชนในเขตเมือง เพื่อนำข้าวเข้าไปจำหน่ายตามความต้องการเป็นระยะ จากที่เริ่มคิดทำเพียงรายเดียว ปัจจุบันมีชาวนาเข้ามารวมกลุ่มขายข้าวด้วยวิธีนี้กว่าสิบรายแล้ว
นายยงยุทธ เล่าต่อว่า ปัจจุบันชาวนาที่มีวิถีชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง จะมีต้นทุนการผลิตข้าวเปลือกไร่ละ 800-900 บาท และได้ผลผลิตข้าว 320-350 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อนำข้าวเปลือกไปสีจะเสียค่าสีข้าว 13 บาทต่อ 12 กิโลกรัม หรือหนึ่งหมื่นข้าวสาร หลังการสีข้าวชาวนายังได้รำข้าวใช้เป็นส่วนผสมเลี้ยงสัตว์ หากต้องการจำหน่ายก็มีราคารับซื้อรำข้าวกิโลกรัมละ 5 บาท ปัจจุบันราคาข้าวสารเหนียวในท้องตลาดจำหน่ายกิโลกรัมละ 25-31 บาท
แต่ข้าวของกลุ่มชาวนาพวกตนขายเพียงกิโลกรัมละ 20 บาท ส่วนข้าวสารเจ้าขายกิโลกรัมละ 24-25 บาท ขณะที่ราคาจำหน่ายในท้องตลาดขายกิโลกรัมละ 30-35 บาท
“ส่วนต่างของราคาข้าวที่ชาวนาได้เพิ่มขึ้นจากข้าวเหนียวและข้าวเจ้าอีกเท่าตัวคือ ข้าวเหนียวตันละ 20,000 บาท ส่วนข้าวเจ้าตันละ 25,000 บาท เพราะตัดค่าใช้จ่ายและผลกำไรของกลุ่มพ่อค้าคนกลางคือ โรงสีข้าวและกลุ่มพ่อค้าข้าวออกไป ขณะเดียวกันผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากราคาข้าวสารที่ลดลง เพราะได้ซื้อข้าวจากชาวนาที่เป็นผู้ผลิต โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางที่เป็นคนกำหนดราคาขายอีกทอดนั่นเอง” นายยงยุทธเกษตรกรชาวนาหัวก้าวหน้า กล่าว