xs
xsm
sm
md
lg

โจรสลัดชีวภาพ...ไร้คนทำวิจัย โจทย์ใหญ่แพทย์แผนไทย ก่อนผลักดันสู่ระดับบัณฑิตศึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังจากผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการต่อสู้กับกระแสความไม่เข้าใจมาได้ระยะหนึ่ง ณ เวลานี้ สามารถกล่าวได้ว่า “การแพทย์แผนไทย” ได้เดินทางมาถึงจุดที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนคนไทยอย่างน่าพอใจเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยาสมุนไพร การนวดแผนไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่มีมหาวิทยาลัยจำนวนมากเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี

ล่าสุด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เตรียมที่จะเปิดหลักสูตรบัณฑิตศึกษาระดับปริญญาโทและเอกในสาขาวิชาการแพทย์แผนไทย แถมยังเปิดสอนแบบ “อินเตอร์” ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการแพทย์แผนไทยได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม แม้จะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ชัดขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า ยังคงมีปัญหาใหญ่ของแพทย์แผนไทยให้ต้องแก้ไขอีกมาก ส่วนความตั้งใจของจุฬาฯ จะสำเร็จหรือไม่ นี่คือสิ่งที่น่าค้นหาคำตอบยิ่ง

**ผ่าสารพันปัญหาแพทย์แผนไทย
ศ.(พิเศษ) ดร.พญ.สมบูรณ์ เกียรตินันท์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ภาพกว้างๆ ของสถานการณ์วิกฤตด้านองค์ความรู้ด้านแพทย์แผนไทย ว่า ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยมีองค์ความรู้ด้านการแพทย์พื้นบ้านที่เรียกกันว่า “แผนไทย” มายาวนาน มีการสั่งสมภูมิปัญญาและมีทรัพยากรสมุนไพรในธรรมชาติเป็นจำนวนมาก แต่สถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นประสบการณ์ตรงในการลงพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อไปเก็บตัวอย่างสมุนไพรมาทำวิจัย พบว่า มีชาวต่างชาติทั้งในโลกตะวันออกและโลกตะวันตกเข้าเก็บสมุนไพรตัดหน้าคนไทยไปไม่น้อย จนขณะนี้เหลือสมุนไพรเหลือให้คนไทยวิจัยเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น

“เราโดนฝรั่งล้างสมอง ดูถูกองค์ความรู้ของเราเอง ขณะนี้เราพบปัญหาพอสมควร ถ้าเราต้องการจะทำวิจัยสักชิ้น เราอาจจะมีสมุนไพร แต่กว่าจะหานายแพทย์มาทำวิจัยด้านการแพทย์แผนไทยได้ เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะคนสนใจน้อย ค่าตอบแทนไม่มี ในขณะที่หมอรับวิจัยยาแผนปัจจุบันจากต่างชาติได้เงินเดือน เดือนละเป็นแสนบาท”

ศ.(พิเศษ) ดร.พญ.สมบูรณ์ ให้ข้อมูลต่อไปอีกว่า แม้ว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) จะแนะนำให้แต่ละประเทศนำการแพทย์พื้นบ้านเข้ามาผสานกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งสำหรับสมุนไพรไทยนั้น ได้รับการยอมรับในระดับโลกจากชาติอื่นๆ แต่ในประเทศไทยเองกลับไม่ได้รับการตอบสนองที่ดีนัก ปัจจัยอันเป็นปัญหาหลักก็คือยาสมุนไพรยังคงขาดมาตรฐานการควบคุมและขาดการทำวิจัยเพื่อยืนยันประสิทธิผลและความปลอดภัย

ด้าน นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุขบอกเล่าถึงอุปสรรคที่ขัดขวางการเติบโตของการแพทย์แผนไทยว่า เป็นเพราะความเชื่อถือและความนิยมในการเลือกใช้บริการด้านการรักษาและการดูแลสุขภาพของคนไทยส่วนใหญ่ ยังให้น้ำหนักกับแพทย์แผนไทยน้อย ทั้งที่ในขณะนี้ โรงพยาบาลชุมชนกว่า 800 แห่ง โรงพยาบาลศูนย์อีกกว่า 100 แห่ง และสถานีอนามัยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 มีการเปิดบริการทางเลือกแพทย์แผนไทย แต่ปรากฏว่า พบข้อมูลตัวเลขผู้มาใช้บริการไม่ถึง 10% ในขณะที่มูลค่าการใช้ยาสมุนไพรในขณะนี้มีเพียง 0.8% แต่อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงสาธารณสุขก็ได้เร่งผลักดันและรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้สมุนไพรในการรักษาโรค โดยตั้งเป้าไว้สูงถึง 50%

“หากเทียบกันในระบบแพทย์ทางเลือกที่กฎหมายให้การรับรอง แพทย์แผนไทยเป็นระบบที่โตช้าและได้รับความนิยมน้อยกว่าเพื่อนหากเทียบกับแพทย์ไคโรแพรกติก (จัดกระดูก) และการแพทย์แผนจีน” นพ.ปราโมทย์ กล่าว

**รับการเรียนการสอนเหลวกว่าครึ่งเรียนเพื่อตัวเอง
ในขณะที่ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ ผอ.กองประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เสนอมุมมองปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนาการแพทย์แผนไทยว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะองค์ความรู้ด้านนี้เป็นการถ่ายทอดแบบปากต่อปาก แบบฝากตัวเป็นศิษย์และอาศัยการสังเกต ตลอดจนเส้นทางการถ่ายทอดภูมิปัญญาที่ยาวนานผ่านถนนแห่งกาลเวลา ประกอบกับมีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรน้อย ซ้ำบางส่วนก็ถูกเผาทำลายไป ทำให้เกิดการตกหล่น เกิดการเลือนหายขององค์ความรู้บางอย่างไปอย่างน่าเสียดาย

“ผมคิดว่าสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนด้านแพทย์แผนไทยยังคงมีไม่มาก และขณะนี้มีเพียง 12 แห่งเท่านั้นที่ยื่นเรื่องขอเข้าสู่การรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหากนักศึกษาเข้าศึกษาในสถาบันที่ได้รับการรับรอง เมื่อจบไปก็จะได้รับใบประกอบโรคศิลปะ ซึ่งสามารถนำไปประกอบอาชีพเป็นแพทย์แผนไทยได้ แต่ปัญหาก็คือ พบว่าเกือบครึ่งของนักศึกษาที่สนใจมาเรียนนี้เป็นการมาเรียนแบบเพื่อต้องการนำไปดูแลตนเอง ไม่ได้คิดจะนำความรู้ที่ได้เข้าสู่ตลาดงานสายตรงเพื่อการรักษาหรือใช้วิชาชีพที่ได้นำไปต่อยอดในด้านวิชาการค่อนข้างน้อย”

**จุฬาฯขอเปิดบัณฑิตศึกษา
รศ.ดร.นิจศิริ เรืองรังสี รองผู้อำนวยการวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาฯ เสนอหนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาและแนวทางพัฒนาองค์ความรู้ด้านแพทย์แผนไทย ว่า จำเป็นจะต้องก่อเกิดงานวิจัยด้านการแพทย์แผนไทย ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาโทหรือเอก แต่ทุกวันนี้ยังไม่มีสถาบันการศึกษาแห่งใดที่เปิดสอนหลักสูตรการแพทย์แผนไทยในขั้นบัณฑิตศึกษา ซึ่งทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้เตรียมเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรการแพทย์แผนไทยในระดับบัณฑิตศึกษา ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก โดยใช้ชื่อหลักสูตรว่า “หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต” และ “หลักสูตรวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต” ด้านแพทย์แผนไทย

“เราตั้งใจจะเปิดกว้าง ดังนั้น ในระดับปริญญาโท เราจึงเปิดรับผู้ที่สนใจอยากเข้าศึกษาที่จบปริญญาตรีทุกสาขา โดยผู้สมัครต้องสอบภาษาอังกฤษ CU TEP ได้ไม่ต่ำกว่า 450 คะแนน และในปริญญาเอกไม่ต่ำกว่า 500 คะแนน”

รอง ผอ.วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาฯ กล่าวต่อไปอีกว่า การเปิดหลักสูตรดังกล่าว นอกจากจะเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทำการวิจัยใหม่ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์แผนไทยแล้ว ยังเป็นการเปิดการเรียนการสอนเพื่อสร้างบุคลากรที่สำเร็จการศึกษาออกไปอย่างมีความรู้ความสามารถ ป้อนเข้าเป็นนักวิชาการและอาจารย์ด้านการแพทย์แผนไทย เพื่อสร้าง “หมอแผนไทย” รุ่นใหม่ต่อๆ ไปนั่นเอง

“เราเปิดให้นักศึกษาที่เข้ามาได้ทำวิจัยทั้งวิจัยในกระดาษ และวิจัยกับตัวคนไข้เอง สำหรับปริญญาโท ต้องจบปริญญาตรีและผ่านการพิจารณาคัดเลือกเข้าศึกษาจากคณะกรรมการ แต่สำหรับปริญญาเอก เรารับทั้งผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท และผู้ที่จบปริญญาตรีที่ได้รับเกียรตินิยม ก็อาจจะได้ผ่านไปเรียนระดับปริญญาเอกเลย อยู่ที่การพิจารณาของคณะกรรมการ”

**ค้านสอนในหลักสูตรอินเตอร์
แต่ภายหลังทราบว่า หลักสูตรดังกล่าวจะเปิดเป็นหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ หรือที่นิยมเรียกกันว่า “หลักสูตรอินเตอร์” นั้น ก็ปรากฏเสียงคัดค้านจากทั้งนักวิชาการ คณาจารย์จากสถาบันต่างๆ รวมถึงผู้ที่สนใจอยากเข้าศึกษาในหลักสูตรดังกล่าวจำนวนมาก

“เจี๊ยบ” และ “มุ” สองสาวผู้กำลังศึกษาด้านการแพทย์แผนไทยระดับปริญญาตรีในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ซึ่งสนใจและต้องการจะเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรที่จุฬาฯ กำลังจะเปิดในปีหน้า แสดงอาการท้อใจและไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงที่ได้รับแจ้งว่าหลักสูตรที่เธอต้องการจะเรียน ต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร

“คงเรียนไม่ได้แล้วล่ะค่ะ เพราะตอนแรกทราบว่าจะต้องใช้คะแนน CU TEP 450 ก็จะตายอยู่แล้ว นี่เล่นสอนเป็นภาษาอังกฤษอีก คนที่อยากเรียนแต่ไม่เก่งภาษาอังกฤษเลยอย่างพวกหนูสองคนคงจะหมดสิทธิ์” นักศึกษาสาวทั้งสองเอ่ยอย่างสุดเสียดาย

แม้กระทั่งเหล่าคณาจารย์ระดับผู้ใหญ่ นำทีมโดย ศ.(พิเศษ) ดร.พญ.สมบูรณ์เองก็ไม่เห็นด้วยภายหลังรับทราบว่าหลักสูตรดังกล่าวนี้จะเปิดเป็นอินเตอร์ โดย ศ.(พิเศษ) ดร.พญ.สมบูรณ์กล่าวว่า ตอนแรกที่ทราบว่า จุฬาฯ ให้ความสำคัญต่อองค์ความรู้พื้นบ้านถึงขั้นจะเปิดให้มีการศึกษาในระดับปริญญาโทและเอกก็รู้สึกดีใจ แต่ไม่คาดว่าจะเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ

“เราเสียภูมิปัญญาไทยให้ต่างชาติไปมากมาย ทั้งเปล้าน้อย และล่าสุด ก็กรณีของฤาษีดัดตนที่เกือบจะโดนเอาไป ถ้าเริ่มแรกก็เปิดหลักสูตรอินเตอร์ เชื่อว่า จะต้องมีชาวต่างชาติที่สนใจมาลงเรียนแน่นอน ก็เกรงว่าจะมาเอาภูมิปัญญาไทยไปอีก แพทย์แผนไทยยังไม่พร้อมขนาดนั้น เรียกได้ว่าอยู่ในระดับเพิ่งผงกหัว เราไม่พร้อมที่จะให้คนต่างชาติเข้ามาเรียน ตราบใดที่คนไทยยังไม่มีโอกาสศึกษาได้อย่างเข้มแข็งและถ่องแท้” โดยอาจารย์อาวุโสท่านนี้ถึงกับออกปากประกาศทิ้งท้ายในการสรุปการเสวนาว่า “ถ้าเปิดเป็นอินเตอร์ ก็คงไม่มีหมอสมบูรณ์มาเกี่ยวข้อง”
กำลังโหลดความคิดเห็น