"สมการการเมือง"
โดย...พาณิชย์ ภูมิพระราม
เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทยจัดงานเลี้ยงแสดงความยินดีให้ “ทรงศักดิ์ ทองศรี” ลูกพี่ลูกน้องของเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ที่สามารถเรียนจบปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย โดยมีแกนนำของพรรคเข้าร่วมแสดงความยินดีอย่างพร้อมเพรียง ทั้ง ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย เนวิน ชิดชอบ อนุทิน ชาญวีรกูล สรอรรถ กลิ่นประทุม ฯลฯ
ดูเหมือนว่า ปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยเอกชนทั้ง 35 แห่งทั่วประเทศ และรวมทั้ง ม.รามคำแหง กลายเป็นเป้าหมายทางการเมืองใหม่ของนักการเมืองไทย
ทรงศักดิ์ ทองศรี วัย 52 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต จาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง และระดับปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์น เอเชีย
ที่แปลกอย่างยิ่งคือ ดอกเตอร์ทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ สดๆร้อนๆ เพราะเพิ่งได้รับการอนุมัติปริญญา เมื่อ 18 กันยานที่ผ่านมาคือ “สมบัติ เมทะนี” นักการเมืองพรรคเพื่อไทย ก็สำเร็จการศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย
ต่อไปคงต้องเรียกว่า ดอกเตอร์สมบัติ...ผู้พลิกผันจากพระเอกหนัง กลายมาเป็น ดอกเตอร์ด้านรัฐประศาสนศาสตร์
มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ก่อตั้งโดย ชวน และมานี ชวนิชย์ ซึ่งได้บริจาคทุนและที่ดินเพื่อจัดตั้งมหาวิทยาลัย และได้รับอนุญาตจากทบวงมหาวิทยาลัย ให้เปิดดำเนินการเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2539
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยแห่งนี้เปิดสอนระดับปริญญาเอก 3 หลักสูตร คือหลักสูตรบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด (D.B.A.) หลักสูตรปรัชญาดุษฎบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ (Ph.D.) และหลักสูตรศึกษาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา และผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Ed.D)
ที่น่าสนใจก็คือ แว่วๆว่า ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ ก็กำลังเรียนปริญญาเอก คณะรัฐประศาสนศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
ดูเหมือนว่าหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ กำลังกลายเป็น“เหยื่อ” ของนักการเมืองสำหรับการตาล่าหาดีกรีปริญญาเอก
นอกจากนี้ พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ วัยเกือบ 50 ปี โฆษกพรรคเพื่อไทย ก็กำลังศึกษา กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาเอก ปรัชญาดุษฏีบัณฑิต สาขาการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกริก หลังจากที่จบปริญญาโท รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสื่อสารการเมือง จากสถาบันแห่งนี้ และปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์จาก ม.รามคำแหง
ก่อนหน้านี้ นักการเมืองที่โด่งดังด้านปริญญาเอกมากที่สุด คงหนีไม่พ้น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งจบปริญญาเอก ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง จนเกิดข้อครหาว่า “จบมาได้อย่างไร”
แต่หากพิจารณาจากรายชื่อคณะกรรมการที่ปรึกษาดุษฎีนิพนธ์ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ประจำ รังสรรค์ แสงสุข เป็นประธาน พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.มัลลิกา พินิจจันทร์ และ รองศาสตราจารย์พูนศักดิ์ วรรณพงษ์…ก็ไม่น่าสงสัย
ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยรามคำแหงเปิดหลักสูตรปริญญาเอกทั้งสิ้น 10 หลักสูตร ประกอบด้วย นิติศาสตรดุษฏีบัณฑิต (Doctor of Laws Program) หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชารัฐศาสตร์ (Doctor of Philosophy in Political Science) หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์
(Doctor of Philosophy in Economics)
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา (Doctor of Philosophy in Education Technology) หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาจิตวิทยาให้คำปรึกษา (Doctor of Philosophy in Counseling Psychology) หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ (Doctor of Philosophy in Industrial and Organizational Psychology) หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาบริหารธุรกิจ (Doctor of Philosophy in Business Administration)
ที่สำคัญที่สุด การเรียนจบหลักสูตรปริญญาเอกในปัจจุบัน ได้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมที่สำคัญ เพื่อคัดกรองคุณภาพ นั่นคือ ผลงานดุษฎีนิพนธ์ต้องผ่านการเสนอต่อที่ประชุมสัมมนาทางวิชาการ และได้รับการตีพิมพ์หรืออย่างน้อยดำเนินการให้ผลงานหรือส่วนของผลงานได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้นก่อน จึงจะถือว่าสำเร็จการศึกษา
ข้อกำหนดนี้เริ่มมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ ปีการศึกษา 2545!!
ที่สำคัญ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาได้กำหนด “กรอบมาตรฐานคุณวิมิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2552” ซึ่งจะมีผลบังคับใช้สำหรับหลักสูตรใหม่ เป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปีการศึกษา 2553 และหลักสูตรที่สอนอยู่แล้ว ตั้งแต่ปีการศึกษา 2555
นอกเหนือจาก ต้องสอบผ่านภาษาอังกฤษ หรือสถิติ หรือคอมพิวเตอร์ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่มหาวิทยาลัยกำหนด ต้องผ่านการสอบประเมินคุณสมบัติ (Qualifying Examination) เพื่อเป็นผู้มีสิทธิขอทำดุษฎีนิพนธ์ ต้องสอบผ่านการสอบปากเปล่าป้องกันดุษฎีนิพนธ์ โดยคณะกรรมการ ซึ่งจะต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
ลองคิดว่า นักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย มีความสามารถพอจะเข้าใจสถิติ คอมพิวเตอร์ หรือภาษาอังกฤษ พอหรือไม่?
อย่างไรก็ตาม หากอยากจะรู้ว่า นักการเมืองคนใดเรียนจบปริญญาเอก ต้องไปดูที่นิตยสาร Voice of Taksin:เสียงทักษิณ และหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ไทย เรด นิวส์
ทั้ง สุทิน คลังแสง เรียนจบปรัชญาดุษฎีบัณฑิต MAGADH UNIVERSITY ประเทศอินเดีย
สุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน ศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวางแผนและพัฒนาชนบท จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้
เอกพร รักความสุข ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งเปิดหลักสูตรปริญญาเอก โดยมีมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนที่เปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาเอกจำนวน 48 แห่ง (ไม่รวมมหาวิทยาลัยรามคำแหง) ค่าใช้จ่ายในการเรียนมีตั้งแต่ 700,000 -3,000,000 บาท
“ปัญหาด้านคุณภาพจะไม่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยที่สามารถจัดหาทรัพยากรและบุคลากรไว้รองรับนักศึกษาได้อย่างเพียงพอ ขณะที่มหาวิทยาลัยบางแห่งที่ไม่ความพร้อม แต่เปิดสอนระดับปริญญาเอก ได้เกิดปัญหาตามมาหลายประการ อาทิ อาจารย์ 1 คน ต้องดูแลนักศึกษา 10 คนขึ้นไป จึงให้คำปรึกษาได้ไม่ทั่วถึง ทรัพยากรในห้องสมุดไม่เพียงพอสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ และการทำดุษฎีนิพนธ์ขาดคุณภาพ ไม่สามารถเป็นองค์ความรู้แก่ประเทศได้ เป็นต้น เมื่อนักศึกษาปริญญาเอกเหล่านี้จบการศึกษา และไปประกอบอาชีพเป็นอาจารย์ หรือนักวิชาการ ย่อมส่งผลต่อคุณภาพอุดมศึกษาของประเทศเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่” ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาคนหนึ่งกล่าวไว้
คุณภาพของคนเรียน โดยเฉพาะนักการเมือง กลายเป็นปัญหาของการปฏิรูปการศึกษา จนทำให้ สกอ. ถึงถกเถียงเกี่ยวกับเรื่อง “จะทำอย่างไรให้สังคมเชื่อมั่นได้ว่า คุณวุฒิที่บัณฑิตได้รับจากสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งมีคุณภาพ และมาตรฐานที่เทียบเคียงกันได้”
ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวอีกว่า ขณะนี้ กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ดังนั้นหลักสูตรใหม่ที่จะขออนุมัติเปิดหลักสูตรตั้งแต่ปีการศึกษา 2553 จะต้องได้มาตรฐานตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิฯ ส่วนหลักสูตรที่มีอยู่แล้วจะต้องปรับปรุงและพัฒนาให้ได้มาตรฐานภายในปี 2555
"ต่อไปคนจบ ป.ตรี ต้องมีความสามารถเป็นผู้จัดการได้ คนจบป.โท-เอก ต้องมีความรู้ระดับผู้เชี่ยวชาญ เป็นนักวิจัยได้" ดร.สุเมธกล่าว
กรอบมาตรฐานคุณวุฒิใหม่นั้น ในระดับปริญญาเอก ประกอบด้วย 1. ด้านคุณธรรม จริยธรรม นั่นคือ สามารถจัดการเกี่ยวกับปัญหาทางคุณธรรม จริยธรรม ที่ซับซ้อนในบริบททางวิชาการหรือวิชาชีพ
2. ด้านความรู้ สามารถพัฒนานวัตกรรม หรือสร้างองค์ความรู้ใหม่
3. ด้านทักษะทางปัญญา สามารถใช้ความเข้าใจอันถ่องแท้ในทฤษฎีและเทคนิคการแสวงหาความรู้ในการวิเคราะห์ประเด็นและปัญหาสำคัญได้อย่างสร้างสรรค์
4. ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ มีความสามารถสูงในการแสดงความเห็นทางวิชาการ และวิชาชีพ และแก้ปัญหาที่ซับซ้อนสูงมากด้วยตัวเอง
5. ด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถคัดกรองข้อมูลทางคณิตศาสตร์ และสถิติเพื่อนำมาใช้ในการศึกษาค้นคว้าในประเด็นปัญหาที่สำคัญและซับซ้อน
ลองพิจารณาดูว่า คนอย่างทรงศักดิ์...สมบัติ.... เชาวริน... สุทิน...พร้อมพงศ์...สุนัย รู้จักการวิเคราะห์ทางถสิติอย่างง่าย แบบ Time Series Regression Analysis, Factor Analysis หรือไม่ ?
ต่อไปเราอาจจะเห็น ดอกเตอร์ตู่ ดอกเตอร์ณัฐ ดอกเตอร์ตั้ม ฯลฯ
นั่นก็แสดงว่า สังคมคุณภาพ มาตรฐานคุณวุฒิ มีปัญหาเรื้อรังมากทีเดียว
ไม่เพียงแต่ จะมีปัญหาเรื่องคนเรียนเท่านั้น แม้แต่คุณภาพของผู้สอน ก็มีปัญหา เมื่อเร็วๆ มีเพื่อนเล่าให้ฟังถึง กิริยาดูถูกนักศึกษาของอาจารย์คนหนึ่ง
กิริยาที่ครอบครัวตั้งให้เป็นชื่อ กลับไม่สามารถลบ “พฤติกรรม วาจา” ก้าวร้าว เหยียดหยันที่อยู่ภายในได้
นั่นจึงทำให้วุฒิภาวะของผู้สอน กลายเป็นปัญหาใหญ่อีกด้านหนึ่งของ “มาตรฐานคุณวุฒิ” เช่นกัน
ที่สำคัญ “การเมืองภายในมหาวิทยาลัย” จัดเป็นตัวการที่สำคัญชักนำให้ “นักการเมืองประเภท” ซื้อปริญญาบัตรเพื่อเพิ่มการยอมรับทางสังคม
Self-esteem ยังเป็นที่ไขว่คว้าของคนที่ไร้คุณภาพอยู่เสมอ