xs
xsm
sm
md
lg

จี้จัดการตลาดค้าสัตว์ป่า นครพนม-หนองคายเส้นทางส่งออกสัตว์ป่าข้ามชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการจี้จัดการตลาดมืด และตลาดสีเทา ค้าขายสัตว์ป่า ระบุทำให้สัตว์หมดไปเป็นชนิดและแหล่ง จากนั้นก็เปลี่ยนไปค้าสัตว์ชนิดอื่นและแหล่งใหม่ เผยเส้นทางค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ ออกที่ชายแดน จ.นครพนม และหนองคายมากสุด ก่อนจะส่งไปเวียดนาม และจีน เร่งรณรงค์เปลี่ยนค่านิยมเลี้ยงสัตว์ป่าเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างจริงจัง

วันนี้ (22 เม.ย.) ที่ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดสัมมนา เรื่อง “เปิดโปงขบวนการค้าสัตว์ป่า จับเท่าไหร่ ทำไมไม่หมด” โดย นายธีเดช ปาละสุวรรณ เจ้าหน้าที่คุ้มครองสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า การล่าสัตว์ป่ามีทั้งล่าเพื่อนำไปบริโภค คือ กินเลือด กินเนื้อ หรือเอาไปใช้อุปโภค เอาหนังไปทำเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการค้าสัตว์ป่า เพื่อนไปเลี้ยงดูเพื่อความสวยงามเพลิดเพลิน หรือเอาไปไว้ในสวนสัตว์ รวมทั้งใช้สัตว์ป่าเป็นของขวัญทางการทูตระหว่างประเทศ และการนำสัตว์ไปใช้ทดลองทางการแพทย์ หรือทดลองสารพิษ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ขบวนการค้าสัตว์ป่าไม่หมดไปเสียที โดยระบบของตลาดนั้น เริ่มจากการจับสัตว์ป่าจากในป่า นำเข้ามาสู่เมือง และจากในเมืองไปสู่บ้าน และออกนอกประเทศ ขณะที่ขบวนการใหญ่ที่เป็นการค้าข้ามชาติจะมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง สำหรับประเทศไทยนั้น ทางออกที่สำคัญอยู่ที่ จ.นครพนม และหนองคาย เพื่อลำเลียงไปยังเวียดนาม ก่อนจะส่งไปสู่จีน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการค้าสัตว์ป่ามีมาอย่างต่อเนื่องและมีอยู่ตลอดเวลา

“ขณะนี้ประเทศไทยมีฟาร์มเพาะพันธุ์สัตว์ป่าที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกกฎหมายอยู่เพียง 2 แห่งเท่านั้น ซึ่งเป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงงูหลาม และงูเหลือม ดังนั้น ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าของไทยที่อื่นๆ นั้นล้วนแต่เป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงที่ไม่ถูกต้อง แต่อาจจะมีหนังสือให้อำนาจในการครอบครองสัตว์ป่าที่อนุโลมให้สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ป่ามานาน ดังนั้น การค้าสัตว์ป่าไทยจึงผิดกฎหมายทั้งสิ้น เพียงแต่ก่อนปี 2535 ที่ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าจะประกาศใช้ ได้มีผู้เลี้ยงสัตว์ป่าไว้ก่อนหน้านี้ กฎหมายจึงอนุโลมออกหนังสือแสดงอำนาจถือครองสัตว์ป่าให้ เนื่องจากเห็นว่าเลี้ยงไว้นานแล้ว สัตว์เหล่านี้อาจจะออกลูกออกหลาน แต่กฎหมายก็ไม่ได้อนุญาตให้ซื้อขาย ดังนั้น การพัฒนาพันธุ์สัตว์ป่าของไทยจึงไม่มีการพัฒนา และต้องทำแบบหลบซ่อน ซึ่งธุรกิจการค้าขายสัตว์ป่า หากส่งเสริมให้ถูกต้องก็จะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้”

พ.ต.ท.ธนยศ เก่งกสิกิจ รอง ผกก.ฝ่ายปฏิบัติการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าไปปฏิบัติการตรวจจับการลักลอบจำหน่ายสัตว์ป่าในตลาดจตุจักรไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากมีกำลังพลจำกัด และต้องยอมรับว่า ผู้ค้ามีสายข่าวดี โดยอาศัยวินมอเตอร์ไซค์ หรือแม่ค้าภายในตลาดเป็นผู้ส่งสัญญาณ ทำให้ร้านที่ลักลอบขายสัตว์ป่าปิดร้านหนีได้ทัน นอกจากว่าจะมีผู้ชี้เป้าให้และไปขอหมายค้นจากศาลจึงจะสามารถจับกุมได้ อย่างไรก็ตาม ร้านค้าเหล่านี้มักจะไม่นำสินค้ามาวางจำหน่ายหน้าร้าน แต่ใช้วิธีพูดคุยติดต่อ นำโบรชัวร์มาเสนอขายแล้วจึงจะพาลูกค้าไปดูสินค้า ซึ่งเขาจะมีแหล่งพักสินค้าอยู่

“วิธีการที่จะแก้ปัญหาค้าสัตว์ป่าให้หมดสิ้นไป นอกจากจะจับกุมแล้วยังต้องรณรงค์ให้ประชาชนเปลี่ยนค่านิยมไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง โดยเฉพาะดารานักแสดงหรือคนที่มีหน้ามีตาในสังคม หากเปลี่ยนค่านิยมว่าการเลี้ยงสัตว์ป่า เป็นเรื่องโก้เก๋ และเป็นแบบอย่างหกับเด็กและเยาวชนได้ เชื่อว่าการแก้ปัญหาค้าสัตว์ป่าจะได้ผลดีขึ้น และลดน้อยลง"พ.ต.ท.ธนยศกล่าว

ด้าน ดร.สมโภชน์ ศรีโกสามารถ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ตลาดค้าสัตว์ป่าที่ควรเข้าไปดูแลเป็นอย่างมาก คือ ตลาดสีเทา เนื่องจากตลาดมืดจะเป็นตลาดที่ลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปเอาผิดตามกฎหมายได้ แต่ตลาดสีเทานั้นเป็นการพยายามทำสิ่งผิดกฎหมายให้เป็นสิ่งถูกกฎหมาย หรือทำสิ่งถูกกฎหมายอยู่เบื้องหน้า แต่ลักลอบทำสิ่งผิดกฎหมายเบื้องหลัง หรือพยายามเบี่ยงเบนสิ่งผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมาย และวิธีการของตลาดค้าสัตว์ป่าในปัจจุบันแนบเนียนมากขึ้น ทั้งนี้ การค้าขายสัตว์ป่าในตลาดมืด และตลาดสีเทานั้นจะส่งผลให้สัตว์ป่าหมดไปเป็นชนิดและแหล่งๆ จากนั้นก็จะเปลี่ยนชนิดใหม่ และเปลี่ยนแหล่ง เป็นเช่นนี้ไม่รู้จบ ซึ่งการจับกุมผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่าในอดีตพบว่ามีกลไกของบริษัทข้ามชาติเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งบริษัทเหล่านี้ก็มักจะรู้จักกับนักการเมือง ทำให้การจับกุมหรือเอาผิดผู้กระทำผิดมีอิทธิพลทางการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

“การค้าขายสัตว์ป่าในตลาดมืด และตลาดสีเทานั้น เป็นธุรกิจที่มีอิทธิพลอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้การแก้ไขปัญหายุ่งยากซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ถือเป็นธุรกิจผิดกฎหมาย หากไม่สามารถทำให้หมดไปได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว เราจะต้องเจอกับปัญหาที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น และจะทำให้เราไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้หมดสิ้น”

ดร.สมโภชน์ กล่าวอีกว่า การจะแก้ปัญหาการค้าสัตว์ป่าให้ประสบความสำเร็จต้องดำเนินคู่ไปทั้งการปราบปราม และการอนุรักษ์ นั่นคือ เมื่อจับกุมได้แล้วก็ต้องแสดงให้เห็นด้วยว่าสัตว์ป่าที่เป็นของกลางถูกนำไปอนุรักษ์อย่างไร ที่สำคัญก็ต้องให้ความรู้ด้วยว่า สัตว์ป่าที่ถูกจับออกมาจากป่า จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง เพื่อให้ทุกคนช่วยกันตระหนักถึงการแก้ปัญหา
กำลังโหลดความคิดเห็น