xs
xsm
sm
md
lg

จะจะพม่าโจ่งครึ่มตีนหมีดีเสือเนื้อหมาเกลื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



แมเนเจอร์ออนไลน์-- แนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก (National Geographic) เปิดโปงล่อนจ้อนด้วยภาพถ่ายจะจะจากเมือลา (Mog La) ที่ชายแดนพม่า-จีนแดนเถื่อน แต่เป็นสวรรค์ของนักค้าสัตว์ป่านานาชนิด ทั้งเนื้อ หนัง กระดูกและชิ้นส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นหมี เสือโคร่ง กวางป่า รวมทั้งสุนัขด้วย


ที่นั่นเป็นปลายทางที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับผู้นิยมบริโภคเมนูพิสดารทั้งหลาย โดยไม่สนใจต่อศีลธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ

สถานการณ์ยังไม่เคยเปลี่ยน คณะนักท่องเที่ยวจาก จ.นนทบุรี กลุ่มหนึ่ง ที่เดินทางไปยังเมืองลาปลายปีที่แล้ว ได้เป็นประจักษ์พยานในความโหดร้ายของคนกลุ่มหนึ่ง ที่ยังไม่หยุดกระทำการทารุณต่อสัตว์ป่ารวมทั้งสัตว์เลี้ยงที่ดีที่สุดของมนุษย์

ปัจจุบันมีสนธิสัญญาขององค์การสหประชาชาติ นอกจากนั้น ยังมีความตกลงร่วมฉบับหนึ่งระหว่างรัฐบาลประเทศในเอเชียตะวันอกเฉียงใต้ เมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้การค้าสัตว์ป่าและชิ้นส่วนต่างๆ ของสัตว์ป่าหายากหลายชนิดเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

แต่ นายคาร์ล อัมมานน์ (Carl Ammann) ช่างภาพซึ่งติดตามทำสารคดีเกี่ยวกับขบวนการค้าสัตว์ป่า กล่าวว่า หลังจากเดินทางไปยังเมืองลาหลายครั้งในช่วงกว่า 10 ปีมานี้ รวมทั้งครั้งล่าสุดเมื่อปีที่แล้วก็ได้พบว่า การค้าสัตว์ป่าที่นั่นยังดำเนินไปอย่างคึกคัก

อาณาบริเวณนี้มีความเจริญทางวัตถุ ถนนหนทางไปมาสะดวก เป็นตลาดค้าขายชายแดนขนาดใหญ่ แต่ยังคงเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน เป็นดินแดนแห่งการพนัน ปกครองโดยผู้มีอำนาจไม่กี่คน มีระบอบทหารคุ้มครอง ปัจจุบันการค้าขายสัตว์ป่าได้กลายเป็นธุรกิจเข้าแทนที่ยาเสพติดกับบ่อนกาสิโน

ผู้ที่เดินทางไปยังเมืองลาสามารถเสาะหาสินค้าจากสัตว์ป่าหลากชนิดที่ตลาดชายแดน ไม่ว่าจะเป็นอุ้งเท้าหมี หรือหมีทั้งตัวจากฟาร์มเลี้ยง กวางป่าขนาดใหญ่ที่ถูกล่าและนำไปเฉือนเนื้อจำหน่ายแบบสดๆ ที่นั่น หรือกระทั่งเสือโคร่ง ที่แบ่งขายเป็นชิ้นๆ เป็นท่อนๆ

ลูกค้าส่วนใหญ่จะนำชิ้นส่วนของสัตว์ป่าหายากไปประกอบอาหาร หรือทำเป็นยาอายุวัฒนะ โดยเชื่อว่า มีสรรพคุณในการป้องกันรักษาโรคร้ายนานาชนิด ที่แพทย์แผนใหม่ไม่สามารถเยียวยารักษาให้หายได้

ทางการพม่าได้ปราบปรามขบวนการค้าสัตว์ป่าที่เมืองชายแดนแห่งนี้เป็นระยะๆ แต่ก็เพียงแค่ทำให้ลดความคึกคักลงในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่นานทุกอย่างก็จะกลับดำเนินไปตามปกติ ราวกับว่ามีการรู้เห็นเป็นใจ

นายอัมมานน์ ได้เดินทางไปยังเมืองลารวม 5 ครั้ง ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา โดยทำทีเป็นลูกค้า เสาะหาเมนูพิสดารทั้งหลาย และแอบถ่ายรูปออกมา

ช่างภาพผู้นี้ กล่าวว่า ที่ตลาดเมืองลามีกรงวางตั้งเป็นชั้นๆ ขังสัตว์ป่าหลากชนิดที่จับมาได้ รวมทั้งหมี ค่าง ลิงตัวเล็กๆ ตัวนิ่ม นกหายาก กับสัตว์เลื้อยคลานเกือบจะทุกชนิด ยังมีเนื้อสัตว์หลากประเภท วางขายกันพะเนินบนโต๊ะ รวมทั้งสัตว์ทั้งตัวที่ถูกตายแล้วโดยมีรูกระสุนให้เห็นอยู่ที่หัว บางตัวถูกตัดคอ ชิ้นส่วนหลายชิ้นถูกตัดออกไปก่อนนำออกวางขาย

แนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก กล่าวว่า นายอัมมานได้ไปเห็นขบวนการค้าสัตว์ป่าที่ยังเฟื่องฟูในเมืองลา ครั้งล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว

“มันเป็นแหล่งเลวร้ายที่สุดแห่งหนึ่งที่ผมเคยพบเห็น” ช่างภาพคนเดียวกันกล่าว

นายอัมมานน์ กล่าวว่า ในฤดูร้อนปี 2548 เคยไปบ้านหลังหนึ่งซึ่งเป็นร้านค้าที่ตลาดเมืองลา เจ้าของบ้านนำไปยังหลังบ้านและเสนอขายหนังสือผืนใหญ่ให้ พร้อมกับกระดูกเสือที่บรรจุในกล่อง

แต่ นายสตีเฟน กอลสเตอร์ (Stephen Galster) ผู้อำนวยการองค์การพันธมิตรเพื่อสัตว์ป่า หรือ ไวด์ไลฟ์อัลลายอันซ์ (Wildlife Alliance) ซึ่งตั้งสำนักงานงานกรุงเทพฯ บอกว่า เมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ร่วมกันปราบปราม ทำให้การค้าหนังและชิ้นส่วนต่างๆ ดำเนินไปอย่างระมัดระวังยิ่งขึ้น

แต่ชิ้นส่วนบางอย่าง รวมทั้งอวัยวะเพศเสือตากแห้ง กลับบรรจุกล่องอย่างสวย วางขายอย่างเปิดเผยในร้านจำหน่ายของที่ระลึกจากสัตว์ป่า นายกอลสเตอร์ กล่าว

นักอนุรักษ์ผู้นี้เห็นด้วยกับประมาณการของผู้เชี่ยวชาญที่ว่า การค้าสัตว์ป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ละปีอาจจะมีมูลค่า 8,000-10,000 ล้านดอลลาร์ โดยกล่าวว่าเป็น “การคาดเดาที่น่าเชื่อถือ”

มีคนอื่นๆ อีกจำนวนมากที่ได้เห็นเหตุการณ์เช่นนั้น เพียงแต่ไม่มีโอกาสที่จะถ่ายรูปออกมาอวดชาวโลกได้ เนื่องจากเจ้าของสถานที่ห้ามปราม หากฝ่าฝืนก็จะใช้อำนาจบาดใหญ่ยึดกล้องและลบภาพทั้งหมดทิ้ง

นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปเมืองลา กับคณะสภาวัฒนธรรมจังหวัดนนทบุรี ในเดือน ธ.ค.2550 กล่าวว่า ผู้ร่วมคณะสามารถช่วยลูกสุนัขเอาไว้ได้หลายตัว โดยช่วยกันออกเงินซื้อ และนำข้ามกลับมายังฝั่งไทยแบ่งกันไปเลี้ยงดู

“แต่ก็มีอีกหลายตัวที่เราช่วยไม่ทันในเช้าวันนั้น เพราะมีคนจีนข้ามมาซื้อไป การค้าสัตว์ที่นั่นรวดเร็วมาก สักครู่เดียวลูกสุนัขหลายสิบตัวขายเกลี้ยงหมด ราคาตัวละตั้งแต่ 50 หยวน (250 บาท) ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับขนาดและพันธุ์” นักวิชาการซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น ของ จ.นนทบุรี ที่ร่วมไปกับคณะกล่าว

นักวิชาการผู้นี้ กล่าวอีกว่า ที่ตลาดแห่งนั้นลูกค้านิยมบริโภคลูกสุนัข คณะจากไทยได้เห็นลูกสุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์ และ เยอรมันเชพเพิร์ด ถูกขังไว้ในกรงรอลูกค้าไปซื้อหาด้วย ทั้งหมดอาจจะถูกขโมยจากเจ้าของ

“อย่างที่ทุกคนทราบ สุนัขเป็นสัตว์ที่ฉลาด ลูกสุนัขพวกนั้นนัยน์ตาละห้อยเหมือนกับจะรู้ชะตากรรมตัวเองในอีกไม่กี่นาที หรือชั่วโมงข้างหน้า หลายคนร้องไห้ที่เห็นสภาพเช่นนั้น”

“ซื้อตรงนั้นทุบหัวตรงนั้น แล้วก็หิ้วข้ามแดนกลับไป หลายคนปล่อยโฮ ที่ได้เห็นความโหดร้ายต่อหน้าต่อตา จึงตัดสินใจลงขันกันซื้อลูกสุนัขติดรถกลับมาด้วย" นักท่องเที่ยวอีกคนหนึ่งกล่าว

ในตลาดสดเมืองลา พ่อค้าแม่ขายย่างเนื้อบนเตาถ่าน ส่งกลิ่นหอมคลุ้งไปทั่วอาณาบริเวณ มีเนื้อแดดเดียวทำจากเนื้อสัตว์หลายชนิดให้เลือกซื้อในราคาที่ต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมี เสือ กวาง เก้ง กระทั่งเนื้อช้าง

ไม่ไกลออกจากตลาดสดเป็นฟาร์มเลี้ยงหมีขนาดใหญ่ เลี้ยงไว้เพื่อดูดเอาน้ำดี หรือ “ทองเหลว” (Liquid Gold) ส่งขาย

“ที่ขาดไม่ได้คือ เนื้อหมา ทั้งหมาบ้านธรรมดาและหมาดำ” นักท่องเที่ยวคนเดียวกันกล่าว



คณะนักท่องเที่ยวจากไทย ได้ยินเสียงหมีร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวด เพราะเป็นช่วงเวลาที่เจ้าของฟาร์มดูดน้ำดีออกจากร่างของพวกมันแบบสดๆ ผู้คนที่นั่นจะได้ยินเสียงร้องวันละ 2 ครั้ง จนเคยชินและเป็นเรื่องธรรมดา

เมืองลาเป็นตลาดค้าขายชายแดนขนาดใหญ่อันดับ 2 ระหว่างพม่ากับจีน ตั้งอยู่ห่างจากเมืองเชียงตุงไปทางตะวันออกราว 80 กม.ข้ามชายแดนเข้าไปในฝั่งจีนระยะทางเท่าๆ กัน เป็นเมืองจิ้งหง (Jinghong) หรือ เชียงรุ่ง ที่สามารถเดินทางขึ้นเหนือต่อไปยังคุนหมิง (Kunming) เมืองเอกของมณฑลหยุนหนัน (Yunnan) ได้อย่างสะดวก

ตลาดเมืองลาจึงคึกคักและการเงินสะพัดอยู่ตลอด ที่นั่นซื้อขายสินค้าด้วยเงินดอลลาร์ กับเงินหยวน เป็นหลัก พ่อค้าจำนวนมากปฏิเสธที่จะรับเงินจั๊ตเป็นก้อนโตๆ เนื่องจากไม่มั่นใจในเสถียรภาพ.
คลิกอ่านข่าวภาษาอังกฤษและชมภาพทั้งหมด: http://news.nationalgeographic.com/news/2008/02/photogalleries/bushmeat-pictures/
คลิกชมวิดีโอคลิปประกอบ: http://news.nationalgeographic.com/news/2008/02/080225-wildlife-video-vin.html

กำลังโหลดความคิดเห็น