xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยจุฬาฯ เจ๋ง!! พัฒนาวิธีตรวจวัดและออกแบบยาใหม่ต้านไข้หวัดนก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัยจุฬาฯ พัฒนาวิธีตรวจวัด และออกแบบชนิดใหม่ต้านไข้หวัดนก เผยมีราคาถูกกว่าเดิม อีกทั้งสามารถผลิตได้ในประเทศหากเกิดการระบาดรุนแรง

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอข้อมูลสถานภาพการระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ในประเทศไทย ในการประชุมกลุ่มวิจัยเมธีวิจัยอาวุโสของ ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว ว่า ถึงปัจจุบันนี้มีการระบาดแล้วถึง 5 ระลอก มีคนไทยติดเชื้อทั้งสิ้น 25 คน ในจำนวนนั้นเสียชิวิตถึง 17 คน และตอนนี้คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ สามารถพัฒนาวิธีการตรวจวัดไข้หวัดนกได้อย่างรวดเร็ว สามารถตรวจวัดการดื้อยาทามิฟูของเชื้อ และสามารถแยกความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์ H5 ชนิดที่มีการติดเชื้อรุนแรง และไม่รุนแรงได้

ในส่วนของการสังเคราะห์ยาทามิฟูขึ้นใช้เองในประเทศนั้น รศ.ดร.ธีรยุทธ วิไลวรรณ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้นำเสนอความคืบหน้าในความสำเร็จว่า สามารถสังเคราะห์ยาทามิฟูได้บริสุทธิ์สูงกว่า 98.5% โดยได้พัฒนาวิธีการวิเคราะห์ขึ้นใหม่ซึ่งมีขั้นตอนน้อยลงและใช้สารตั้งต้นที่มีราคาถูกกว่าที่เคยมีมาก่อน และยังมีความเป็นไปได้ที่จะผลิตได้ภายในประเทศในปริมาณมากๆ ในกรณีที่มีการระบาดอย่างรุนแรง

ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวถึงผลงานวิจัยในการออกแบบยาชนิดใหม่ โดยใช้วิธีการทางเคมีคอมพิวเตอร์นี้ว่า ยาทามิฟลู ถูกออกแบบมาสำหรับไข้หวัดนกสายพันธุ์ N2 แต่เมื่อถูกนำมารักษาสายพันธุ์ N1 จึงออกฤทธิ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากช่องว่างในเอนไซม์ N1 มีขนาดเล็กกว่าชนิด N2 จึงทำให้โครงสร้างของทามิฟลูบิดงอไปจากโครงสร้างเดิม ดังนั้น ยาชนิดใหม่ควรจะมีสายโซ่สั้นลง แต่ให้คงแรงกระทำต่างๆ ให้เหมือนกับใน N2 ซึ่งปัจจุบันได้ออกแบบโมเลกุลที่คล้ายกับทามิฟลูไว้แล้วกว่า 10 ชนิด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งสังเคราะห์เพื่อการนำไปทดสอบต่อไป

สำหรับเมธีวิจัยอาวุโสนั้น เป็นทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นทุนที่นักวิจัยไม่มีสิทธิ์สมัครเอง แต่จะมีคณะกรรมการคัดเลือกนักวิจัยมืออาชีพ ที่มีผลงานวิจัยต่อเนื่องและโดดเด่นให้สมัคร นักวิจัยที่เรียกว่า เมธีวิจัยอาวุโส จะทำหน้าที่สร้างกลุ่มวิจัยและสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้เป็นกำลังใจสำคัญในการวิจัยเชิงลึกเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น