ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกฯ เตือนสาดน้ำระวังแก้วหูฉีกถึงขั้นหูหนวก ขี้หูช่วยคุณได้ป้องกันแรงกระแทกเข้าประสาทหู เตือนอีกกิน ลาบหลู้ เลือดหมูดิบ ชำแหละหมูฉลองสงกรานต์เสี่ยงหูดับ ตาบอด เยื้อหุ้มสมองอักเสบ แรงหนักถึงตาย เตือนอย่ากินเนื้อหมูดิบ ฉลองสงกรานต์เปลี่ยนเป็นกินสุกๆ
รศ.พญ.ยุพา สุมิตสวรรค์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และในฐานะประธานราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีการสาดน้ำตามประเพพณีกัน อาจเกิดอันตรายขึ้นได้ เมื่อน้ำเข้าไปจะทำให้ขี้หูที่อุดอยู่จะพองเต็มรูหู ทำ ให้เกิดปัญหาหูอื้อซึ่งเป็นปัญหาที่พบมากที่สุด ขณะเดียวกัน ในทางตรงกันข้ามหากไม่มีขี้หูอยู่เลย แรงดันของน้ำที่สาดเข้าไปในรูหูอาจทำให้แก้วหูฉีกขาดหรือแตกได้โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง ทำให้มีอาการหูอื้อ จนถึงเลือดไหลออกมา ยิ่งน้ำที่สาดเข้าไปเป็นน้ำสกปรกอาจเกิดการอักเสบติดเชื้อและกลายเป็นหนอง
“แม้ว่าขณะนี้จะไม่มีตัวเลขผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่เกี่ยวกับหู แต่เนื่องจากเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านดังกล่าว พบว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์มีผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บจากอาการเจ็บหูเข้ามารักษาเป็นสิบๆ รายในช่วงระยะเวลาสั้นวันหยุดไม่กี่วัน” รศ.พญ.ยุพา กล่าว
รศ.พญ.ยุพา กล่าวว่า ทั้งนี้หากหูมีอาการติดเชื้อ เป็นหนอง ส่วนใหญ่ประมาณ 80% สามารถหายได้เอง ที่เหลืออาจอักเสบเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ และสามารถลุกลามจากบริเวณแก้วหูชั้นนอกสู่แก้วหูชั้นในได้ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีการลุกลามจนมีอาการเวียนศีรษะ หูอื้อมากขึ้นจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แล้ว ยังเป็นสามารถลุกลามได้เป็นโรคเยื้อหุ้มสมองอักเสบ จนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ แม้จะพบได้ไม่มาก แต่ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดได้เหมือนกัน
รศ.พญ.ยุพา กล่าวว่า นอกจากสาเหตุของการสาดน้ำที่ในช่วงเทศกาลลสงกรานต์แล้วที่ทำให้หูหนวกได้แล้ว การติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัส ซูอิส หรือเรียกว่าโรคหูดับ ซึ่งเชื้อดังกล่าวอยู่ในโพรงจมูกและในปากของสุกร เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อ 1-3 วันผู้ป่วยจะมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน บางรายรุนแรงถึงขั้นโคม่า ไม่รู้สึกตัว เป็นอัมพาต บางรายมีอาการอักเสบของเยื้อบุหัวใจ ข้ออักเสบ ปอดอักเสบ ตาพร่า นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีโรคแทรกซ้อนคือหูหนวก พบได้ประมาณ 50-80% โรคนี้มีโอกาสเสียชีวิต 20-30%
นพ.ศิริศักดิ์ วรินทราวาท รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือการทานเนื้อหมู เลือด และเครื่องในหมูดิบ รวมถึงการทานหมูกระทะที่มีเนื้อหมูติดเชื้อและไม่สุก เพราะต้องใช้ความร้อนถึง 70 องศาเซลเซียสถึงสามารถฆ่าเชื้อได้ ขณะเดียวกัน จากประวัติผู้ป่วยหลายรายทำให้ทราบว่าหากผู้ป่วยมีบาดแผลในร่างกายและไปสัมผัสกับเลือดของหมู โดยที่ไม่จำเป็นต้องทานก็มีโอกาสติดเชื้อได้ อย่างผู้ประกอบอาชีพฆ่าสุกร คนชำแหละ โดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์มีงานรื่นเริง ตามบ้านเรือนต่างๆ มักจะฆ่าหมูเพื่อมากินฉลองกันในครอบครัว ซึ่งผู้ชำแหละก็มีโอกาสเสี่ยงเช่นกัน ดังนั้น ควรมีการเปลี่ยนพฤติกรรมการทานหรือสัมผัสกับเลือดหรือเครื่องในและเนื้อหมูดิบๆ ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองอย่างสงกรานต์นี้
“จากการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคพบว่าตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 2550 พบผู้ป่วยในไทยทั้งสิ้น 135 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตทั้งสิ้น 19 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 25 เม.ย.-3 พ.ค.2550 เกิดการระบาดของโรคดังกล่าวที่ อ.ภูซาง จ.พะเยา ทำให้พบผู้ป่วย 33 ราย เสียชีวิต 3 รายส่วนใหญ่อายุระหว่าง 40-59 ปี อัตราการเกิดโรคของเพศชายและหญิงพอๆ กัน” นพ.ศิริศักดิ์ กล่าว
รศ.พญ.นิรมล นาวาเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากข้อมูลของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่างปี 2546-2550 พบว่ามีผู้ป่วยโรคติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส ซูอิส 40 รายมีอัตราการตาย 20% หรือ 8 ราย สาเหตุของผู้ป่วยทั้งหมดพบว่า 83% ทานเนื้อหมูดิบหรือเลือดสด, 50% ดื่มสุราจัดหรือเรื้อรัง และส่วน 33.3% ประวัติสัมผัสกับสุกร ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เยื้อหุ้มสมองอักเสบทุกรายมีอาการหูหนวก หูตึงในระยะแรกและเมื่อติดตามเกิน 1 ปีพบหูเสื่อมถาวรถึง 73% และมักเป็นทั้งสองข้าง ในจำนวนนี้กว่าครึ่งหนึ่งมีการเสื่อมของประสาทหูชั้นใน
“สาเหตุที่คณะแพทยศาสตร์ให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากผู้ป่วย 2 ใน 40 รายเป็นบุคลากรอยู่ในคณะแพทยศาสตร์ รายหนึ่งเป็นพยาบาล และอีกรายเป็นเจ้าหน้าที่ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา ซึ่งปัจจุบันหูพิการทั้ง 2 ข้าง” รศ.พญ.นิรมล กล่าว
รศ.พญ.นิรมล กล่าวว่า การดูแลรักษาอาการหูหนวกหูตึง 50% จะมีประสิทธิภาพในการฟังดีขึ้นภายในระยะเวลา 1-12 เดือน ส่วนกรณีที่หูตึงไม่หายจำเป็นต้องใส่เครื่องช่วยฟังและฝึกการสื่อสาร และในกรณีที่หูหนวกสองข้าง อาจพิจารณาต้องผ่าตัดประสาทหูเทียม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการรักษาแพงมาก เฉพาะการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม จะต้องใช้ค่าใช้จ่ายประมาณ 1 ล้านบาท