xs
xsm
sm
md
lg

กทม.จับมือเอกชนเฉลิมพระเกียรติในหลวง สร้างภูมิปอดอักเสบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทม.จับมือเอกชนเฉลิมพระเกียรติในหลวง ฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรคปอดอักเสบที่เป็นสาเหตุหลัก ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งเสียชีวิตถึง 1,900-2,700 รายต่อวัน ให้แก่เด็กที่เกิดในวันที่ 5 ธ.ค.2550 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทุกแห่ง ขณะที่สถิติในไทยปีนี้มีเด็กป่วยแล้วกว่า 8 พันคน

นายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นายสมภพ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม.แถลงข่าว โครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เรื่อง การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคปอดอักเสบจากเชื้อ Streptococcus pneumoniae ในเด็ก ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการ กทม.

นายวัลลภ กล่าวว่า กทม.และบริษัท ไวเอท (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันจัดกิจกรรมโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคปอดอักเสบจากเชื้อ Streptococcus pneumoniae ในเด็ก โดยบริษัท ไวเอท (ประเทศไทย) จำกัด จะเป็นผู้สนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ หรือ วัคซีน ไอพีดี (IPD, Invasive Pneumococcal Disease) ซึ่งเป็นวัคซีนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้อยู่ในโปรแกรมการฉีดวัคซีนปกติแก่เด็กทั่วโลก แก่เด็กที่เกิดในวันที่ 5 ธ.ค.2550 ในพื้นที่ กทม.จำนวน 149 คน โดยผู้ปกครองสามารถนำบุตรหลานมารับวัคซีนดังกล่าวได้ฟรีที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม.ทุกแห่ง ซึ่งเด็กจะได้รับวัคซีน รวมจำนวน 4 ครั้ง คือในช่วง อายุ 2, 4, 6 เดือน และฉีดอีกครั้งเมื่อเด็กอายุ 12 เดือน โดยจะเริ่มฉีดวัคซีนครั้งแรกในเดือนมีนาคม ซึ่งหลังจากได้รับวัคซีนเด็กจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคปอดอักเสบ โรคหูชั้นกลางอักเสบ โรคไซนัสอักเสบ และภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด นอกจากนั้นการที่เด็กได้รับวัคซีนยังสามารถช่วยลดการแพร่เชื้อนิวโมคอคคัสไปยังเด็กอื่นๆ และบุคคลใกล้เคียง รวมถึงปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะต่อเชื้อนิวโมคอคคัสได้อีกด้วย

นายสมภพ กล่าวว่า สำหรับ เชื้อ Streptococcus pneumoniae เป็นเชื้อที่อยู่ตามปกติในลำคอของคน โดยเฉพาะเด็ก จากการศึกษาเด็กไทยพบเชื้อในลำคอร้อยละ 35 ซึ่งเชื้อชนิดนี้ประมาณ 90 ซีโรทัยป์ การแพร่เชื้อระหว่างคนมักเกิดจากการสัมผัสละอองของทางเดินหายใจผู้ที่ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนอยู่ก่อน จะติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ซึ่งเชื้อนี้จะทำให้เกิดโรคได้หลายระบบที่สำคัญ คือ โรคปอดอักเสบ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคหูชั้นกลางอักเสบ และการติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น และในปัจจุบันมักพบปัญหาเกี่ยวกับการดื้อยาของเชื้อ Streptococcus pneumoniae ต่อ ยาเพนนิซิลิน ทำให้เกิดปัญหาในการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะการติดเชื้อของเยื่อหุ้มสมอง ดังนั้น วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ หรือวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ ไอพีดี(IPD,Invasive Pneumococcal Disease) อาจช่วยป้องกันโรคจากเชื้อ Streptococcus pneumoniae ที่ดื้อยาได้ ซึ่งหากไปฉีดตามโรงพยาบาลจะเสียค่าวัคซีนครั้งละ 3,000-4,000 บาทซึ่งถือว่าแพงมาก

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ระบุว่า โรคปอดอักเสบจากการติดนิวโมคอคคัส เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลก ประมาณปีละ 1.6 ล้านราย หรือ1,900-2,700 รายต่อวัน โดยกว่าร้อยละ 90 ของการเสียชีวิตเป็นเด็กที่เกิดในประเทศที่กำลังพัฒนา ในส่วนของสถิติผู้ป่วยด้วยโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส นิวโมเนีย ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบของประเทศไทยในปี 2549 มีจำนวน 74,768 ราย เสียชีวิต 72 ราย ปี 2550 ป่วย 65,450 ราย เสียชีวิต 59 ราย และปี 2551 สถิติ ณ วันนี้ ป่วย 8,218 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่สถิติของกทม.ปี 2549 พบผู้ป่วย 5,735 ราย เสียชีวิต 2 ราย ปี 2550 พบผู้ป่วย 3,193 ราย เสียชีวิต 1 คน สำหรับในปี 2551 สถิติถึงวันที่ 24 มี.ค.2551 พบผู้ป่วย 371 คน ยังไม่พบผู้เสียชีวิต
กำลังโหลดความคิดเห็น