กุมารแพทย์เตือนระวังโรคปอดบวมชนิดรุนแรงในเด็ก หากเด็กเป็นไข้ไม่สบายอย่านิ่งนอนใจ แนะพ่อแม่และผู้ปกครองให้สังเกตการหายใจของลูกน้อยที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบอย่างใกล้ชิด หากใช้แรงในการหายใจมาก จนคอบุ๋ม ท้องบุ๋ม ซี่โครงยกขึ้น หรือจมูกบาน หรือมีอัตราการหายใจถี่สูงกว่า 40 ครั้งต่อนาที ให้รีบพบแพทย์ เพราะเด็กอาจเป็นโรคปอดบวมชนิดรุนแรง ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ซึ่งอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้
นพ.อนุชา เสรีจิตติมา กุมารแพทย์ หน่วยโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครราชสีมา กล่าวในงานสัมมนา เสริมภูมิคุ้มกัน...ป้องกันโรคปอดบวม ณ ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ นครราชสีมา ว่า ในช่วงหน้าหนาวที่ผ่านมาต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เกิดการระบาดของโรคปอดบวมในเด็กเล็กในแถบภาคอีสาน ซึ่งโรคปอดบวมเกิดได้จากเชื้อหลายอย่างที่พบบ่อย ได้แก่ เชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น ซึ่งเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคปอดบวม และปอดอักเสบรุนแรง ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส โดยเชื้อนี้จะเข้าไปทำลายเนื้อปอด ทำให้ปอดทำงานผิดปกติ และปอดหยุดการทำงานในที่สุด จนเกิดภาวะหายใจล้มเหลวตามมา
“อาการเบื้องต้นของโรคปอดบวม หรือปอดอักเสบในเด็กเล็ก สามารถสังเกตได้จาก 2 ปัจจัย คือ อัตราการหายใจมากกว่า 40 ครั้งต่อนาที ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป หากมากกว่า 40 ครั้ง นั่นหมายความว่า เด็กอาจจะหอบ ซึ่งทำให้มีโอกาสเป็นโรคปอดบวมสูง อีกปัจจัยหนึ่งได้แก่ คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้จากลักษณะการหายใจ เด็กเล็กต้องใช้กล้ามเนื้อพิเศษในการช่วยหายใจ เช่น กล้ามเนื้อคอ กล้ามเนื้อท้อง ทำให้เวลาหายใจจะมีอาการคอบุ๋ม ท้องบุ๋ม ซี่โครงยก จมูกบาน เป็นต้น รวมทั้งเด็กเล็กที่หายใจแล้วมีเสียงดัง หรือเสียงหวีด ให้รีบนำเด็กไปพบแพทย์ทันที” นพ.อนุชา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียง มีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคปอดบวมดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก เพราะการศึกษาดีขึ้น ตลอดจนการเข้าถึงสื่อก็มีมากขึ้น รวมทั้งโรงพยาบาลต่างๆ ก็เผยแพร่ข้อมูลความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับโรคปอดบวมอย่างต่อเนื่อง ทำให้พ่อแม่ตื่นตัวและพาลูกมาหาแพทย์ตั้งแต่วันแรกที่ลูกมีอาการผิดปกติ ทำให้อัตราเสี่ยงที่เด็กเล็กจะเสียชีวิตหรือพิการลดลง
กุมารแพทย์ รพ.มหาราช กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัส จะเป็นโรคที่มีความรุนแรง แต่ก็มีวิธีป้องกันในเบื้องต้นอย่างง่ายๆ ได้แก่ ให้ทารกกินนมแม่ เพราะในนมแม่มีภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ ฝึกให้ลูกน้อยล้างมือเป็นกิจวัตร รวมทั้งเวลาสัมผัสลูกพ่อแม่ต้องล้างมือให้สะอาด หากพ่อแม่เป็นหวัดให้ใส่หน้ากากปิดปากเพื่อไม่ให้เชื้อแพร่ไปสู่ลูก การสร้างสุขอนามัยที่ดีให้เกิดขึ้นในบ้าน รวมทั้งหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ และในปัจจุบันมีวัคซีนไอพีดีสำหรับเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งสามารถป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสที่ก่อให้เกิดกลุ่มโรคไอพีดี (โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคติดเชื้อในกระแสเลือด) รวมทั้งโรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัสได้ด้วย” นพ.อนุชา กล่าว
“สำหรับการฉีดวัคซีนไอพีดีขณะนี้ในประเทศไทยยังไม่ได้มีการบรรจุวัคซีนไอพีดีเข้าเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ฉีดให้กับเด็กทุกคน ดังนั้น พ่อแม่ต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการฉีดวัคซีนให้ลูกน้อย ซึ่งการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือ การฉีดให้กับเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยง รวมถึงเด็กเล็กที่พ่อแม่ต้องนำไปฝากไว้ที่เนิร์สเซอรี ซึ่งเป็นแหล่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อ” นพ.อนุชา กล่าวทิ้งท้าย