xs
xsm
sm
md
lg

“อภิรักษ์ โกษะโยธิน” วิบากกรรมบนเส้นทางสายการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชะตาชีวิตของ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) คนที่ 14 มีอันต้องพลิกผันเพียงชั่วข้ามคืนในเช้าตรู่ของวันที่ 14 มีนาคม 2551 หลังออกมาประกาศยุติบทบาทผู้ว่าฯกทม.ชั่วคราวทันทีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหากับนายอภิรักษ์ ในคดีจัดซื้อรถ เรือ และอุปกรณ์ดับเพลิงของ กทม.มูลค่า 6,687 ล้านบาท ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 พร้อมกับผู้เกี่ยวข้องรายอื่นอีก 5 คนเพิ่มเติมหลังจากที่ได้แจ้งข้อกล่าวในคดีเดียวกันมาแล้ว 5 คนเมื่อปีที่ผ่านมา...

ย้อนกลับไปดูเส้นทางการเมืองของนายอภิรักษ์ ตั้งแต่ตัดสินใจทิ้งตำแหน่ง CEO บริษัทเอกชนรายใหญ่เพื่อกระโจนเข้าสู่สนามการเมืองอย่างเต็มตัวให้กับพรรคการเมืองเก่าแก่ของประเทศไทย อย่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หลังจากที่เป็นสมาชิกพรรคมาได้ 10 ปี พร้อมกับการเก็บเล็กผสมน้อยเรียนรู้กระบวนการทางการเมืองผ่านการทำงานเบื้องหลังให้กับพรรคมาก่อน จนสุกงอมถึงขั้นเบนเข็มสู่สนามเลือกตั้งท้องถิ่นแต่มีผลกระทบระดับประเทศกับศึกชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อปี 2547 จนได้รับชัยชนะเหนือคู่แข่งจากค่ายอื่น

แต่ถนนการเมืองของผู้ว่าฯ จากค่าย ปชป.คนนี้ คงไม่ใช่ถนนที่ราบเรียบ หรือเลี้ยวซ้ายผ่านตลอดแต่กลับเต็มไปด้วยหลุมบ่อตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง จะราบเรียบหน่อยก็ช่วงที่รัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เท่านั้น แต่ก็แค่ช่วงปีกว่าๆ เพราะที่ผ่านมาต้องทำงานต่างขั้วกับรัฐบาลมาโดยตลอดตั้งแต่พรรคไทยรักไทย (ทรท.) จนมาถึงพลังประชาชน (พปช.)

โดยเฉพาะการเดินหน้าส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า 2.2 กิโลเมตร จากสะพานตากสิน-แยกถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่ค้างเติ่งมาตั้งแต่สมัยนายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.จนสุดท้ายนายอภิรักษ์ ตัดสินใจประกาศเดินหน้าส่วนต่อขยายดังกล่าวเองโดยไม่ต้องรอให้รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรีที่เดิมให้เอกชนลงทุน 100% หลังจากที่ได้ยื่นมาแล้วถึง 5 ครั้ง เพราะหากไม่ตัดสินใจทำเองคะแนนความนิยมของอภิรักษ์และต่อพรรคปชป.เองก็คงตกต่ำลงไปอีกอย่างแน่นอนหลังจากที่แพ้ในศึกเลือกตั้งใหญ่ในปี 2548 ให้กับพรรคทุนหนาของเศรษฐีหมื่นล้าน... และนี่เป็นแค่อุปสรรคเริ่มต้นของการทำงานรับใช้ประชาชนชาวกทม.ในฐานะพ่อเมืองของนายอภิรักษ์!!

และตามมาติดๆด้วยหลุมบ่อที่ 2 บนถนนสายการเมืองสนามเล็กของพ่อเมืองคนนี้ที่ไม่ใช่หลุมธรรมดาแต่เรียกได้ว่าเป็น “หลุมอุกกาบาต” เลยทีเดียวเพราะแค่ก้าวสู่ปีที่ 2 ของการทำงานก็มีอันต้องเปลี่ยนคณะผู้บริหารฝ่ายการเมืองใหม่ในหลายตำแหน่งโดยเฉพาะตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม.ของนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ เพื่อลดกระแสทางการเมืองที่ร้อนแรง หลังเข้าไปเกี่ยวข้องในคดีฮั้วประมูล 16 โครงการก่อสร้างถนน และอุโมงค์ทางลอด มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท เนื่องจากได้ประกาศเจตนารมณ์ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.และย้ำจนจำได้ว่าจะทำงานด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ ที่สำคัญยังเป็นการรักษาต้นทุนทางการเมืองในขณะที่ยังอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลไว้อีกด้วย...

นั่นจึงเป็นที่มาของปรับกลยุทธ์สู้ศึกใหม่สำหรับนายอภิรักษ์ และพรรคประชาธิปัตย์ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คดีนี้ยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.
สถานีรถเมล์โดยสารด่วนพิเศษหรือ BRT
ใช้ว่าจะมีแต่ศึกภายนอกเท่านั้นการประลองกำลังยุทธ์ภายในศาลาว่าการกทม.ก็ใช่ย่อยเมื่อผู้บริหารสูงสุดของฝ่ายข้าราชการประจำ “คุณหญิงณัษฐนนท ทวีสิน” ที่เพิ่งจะเปลี่ยนชื่อเสริมอำนาจ วาสนาไปเมื่อไม่นานนี้ ขณะที่ดำรงตำแหน่งปลัดกทม.ก็ตั้งวงซดเกาเหลาต้มยำแบบน้ำข้นผสมน้ำตาให้อภิรักษ์กินมาแล้วจากกรณีบ้านสีดำของนางรัตนา สัจจเทพ ที่อภิรักษ์สั่งให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจึงกลายเป็นจุดชนวนความแตกร้าวมาจนถึงปัจจุบันและอยู่พรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามอย่างชัดเจน

ล่าสุดคุณหญิงณัษฐนนท ถึงกับหอบเอกสารไปร้องเรียนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยกล่าวอ้างว่ากทม.จัดซื้อรถโดยสารในโครงการรถเมล์ด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) แพงเกินจริง รวมถึงการกำหนดสเปกรถโดยสารที่แตกต่างไปจากสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมกับระบุว่าข้าราชการกทม.เป็นคนนำเอกสารหลักฐานส่งให้มาร้องเรียนนายอภิรักษ์ และกทม.

คนที่อยู่วงนอกคงแปลกใจไม่ใช่น้อยว่าจู่ๆ ทำไมลูกหม้อของกทม.จึงหันมาเล่นงานกันเองอย่างนี้

ทั้งนี้ หากจะบอกว่าเกมนี้ไม่หวังผลทางการเมืองก็คงไม่ได้เพราะผลพวงจากการร้องเรียนครั้งนี้อาจส่งผลกระทบให้ กทม.ต้องเลื่อนให้บริการรถบีอาร์ทีที่กำหนดไว้ในเดือนสิงหาคมนี้ก่อนหมดสมัยนายอภิรักษ์ไปอย่างไม่มีกำหนด ก็เป็นอันว่าสมัยของผู้ว่าฯ จากค่าย ปชป.คนนี้ต้องหมดหวังที่จะเปิดให้บริการทั้งส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอสที่อุตส่าห์ลงทุนทำเองกับมือที่ปัจจุบันนี้ยังไม่แล้วเสร็จ และรถบีอาร์ทีที่ได้ทำในช่วงรัฐบาลขิงแก่ ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องแปลกอุบัติทางการเมืองมักมาพร้อมช่วงขาลงเพื่อทำให้บาดเจ็บไม่มากก็น้อยหรือตายกันไปข้างหนึ่งก่อนที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ซึ่งอดีตปลัดหญิงคนที่ 2 ของ กทม.คนนี้ก็มีวี่แววว่าจะกระโจนสู่การเมืองสนามเล็กในนามตัวแทนพลังประชาชนครั้งนี้ด้วย

และมาถึงคดีรถดับเพลิงที่พลิกชะตาชีวิตอภิรักษ์ แค่ชั่วข้ามคืน จากผู้ที่หลุดพ้นการกล่าวหาจาก คตส.เมื่อต้นปี 2550 แต่เมื่อต้นปี 2551 กลับมีชื่อของอภิรักษ์ ร่วมวงด้วย โดยเหตุสำคัญที่ทำให้ “โดน” ในครั้งนี้เกิดจากการที่ พปช.ตั้งข้อสังเกตว่ามีคนของ ปชป.อยู่ใน คตส. ดังนั้น คตส.จึงต้องจำใจฟัน “หล่อเล็ก” เพื่อลบข้อครหาและเป็นวิถีทางที่ถูกต้องที่สุด ที่สำคัญขั้นตอนสุดท้ายศาลจะเป็นผู้ตัดสิน แต่บางทีอาจไม่ต้องถึงขั้นนั้นก็ได้ หากอภิรักษ์แก้ต่างทุกประเด็นที่ คตส.กล่าวหาได้สำเร็จก็จะหลุดพ้นจากการชี้มูลความผิดและยื่นฟ้องร้องต่อศาล

แต่ที่แน่ๆ หลังประกาศยุติบทบาทชั่วคราวก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันสนั่นเมืองทั้งเป็นเกมการเมืองเพื่อกระทบชิ่งถึง 3 รัฐมนตรีใน ครม.ชุดนี้ที่โดนคดีหวยบนดิน หรือแม้แต่ตัวนายกฯสมัครเองที่ถูกกล่าวหาจาก คตส.ในคดีรถดับเพลิงเหมือนกัน ซึ่งงานนี้ “หล่อเล็ก” และ ปชป.ต่างโกยคะแนนความชอบธรรมไปได้เต็มๆ เพราะหากจะลงสนามสู้ศึกผู้ว่าฯ กทม.อีกครั้งหรือให้ใครลงแทนก็มีแต้มสะสมอยู่แล้ว ส่วนอนาคตทางการเมืองของอภิรักษ์ จะเป็นอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับมือที่มองเห็นอย่างคตส. และตัวของนายอภิรักษ์เองเพราะโอกาส 50:50

ทั้งหมดทั้งมวลล้วนแต่เป็นวิบากกรรมของ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.ที่อยู่ต่างขั้วรัฐบาลมาโดยตลอด ก็ไม่รู้จะยังยืนยันคำเดิมเหมือนที่เคยบอกกับสาธารณชนทุกครั้งว่า “ไม่คิดว่าตัดสินใจผิด ที่ลงเล่นการเมือง” อยู่หรือไม่ หากไม่สามารถหลุดพ้นจากวิบากกรรมรถดับเพลิงได้สำเร็จ!?...

กำลังโหลดความคิดเห็น