ทีมที่ปรึกษา ย้ำ “ไชยา” ไม่ผิด ไม่ถือเป็นการปกปิดทรัพย์สิน อดีต สนช.ระบุ ไชยา ออกไม่ออก ไม่กระทบการทำงานข้าราชการ ชี้ ทำผิดกฎหมายแต่ไม่ยอมรับก็แสดงว่าไม่มีจริยธรรม
นายกมล บันไดเพชร หนึ่งในทีมที่ปรึกษาของ นายไชยา กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นนักกฎหมายของพรรคพลังประชาชนด้วย เห็นว่า กรณีของ นายไชยา ไม่ถือว่าเป็นการปกปิดทรัพย์สินแต่อย่างใด เพราะกฎหมายในมาตรา 269 นั้น ไม่ได้แจ้งไว้ว่า ส่วนของภรรยาและบุตรจะต้องทำอย่างไร ไม่มีการตีความในแง่ของเกณฑ์การปฏิบัติไว้ว่าต้องถือสินทรัพย์เท่าไหร่ ใครต้องเป็นคนแจ้ง โดยส่วนตัวหาก นายไชยา ปรึกษาตน ก็คงจะยับยั้งขออย่าให้ลาออก เพราะถือว่าไม่ได้ทำผิดแต่อย่างใด และเห็นด้วยว่าควรจะมีกฎหมายมาตรา 269 แต่ต้องมีการตีความกฎหมายลูกในพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นรัฐมนตรี พ.ศ.2543 ให้ชัดเจนมากกว่านี้
“ก่อนหน้านี้ นายกฯยังเคยพูดถึงมาตรา 309 ในรัฐธรรมนูญ 2550 ว่าต้องมีการแก้ไข แต่เมื่อได้ฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายก็เปลี่ยนใจ เรื่องนี้ก็เช่นกัน กรณี นายไชยา ก็เช่นกันเป็นเรื่องการการตีความข้อกฎหมาย คงต้องมีการชี้แจงโดยผู้ที่เข้าใจกฎหมายลึกซึ้ง เพราะรัฐมนตรีคงไม่รู้ละเอียด หรือควรจะมีการทำหนังสือไปถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้ตีความกฎหมายมาตราดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่า นายไชยา ไม่ได้มีการกระทำผิดแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะข้อกฎหมายที่ไม่ชัดเจนทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น” นายกมล กล่าว
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า เท่าที่ทราบขณะนี้ นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สธ.ยังอยู่ในหน้าที่ มีอำนาจในฐานะรัฐมนตรีเต็มที่ ป.ป.ช.เพียงแต่ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเท่านั้น ส่วนการลาออกหรือไม่ลาออกเวลานี้เป็นเรื่องของจริยธรรมนักการเมือง ซึ่งสำหรับผู้ประกอบอาชีพนี้ เป็นระดับผู้บริหารของประเทศ สังคมก็มีความคาดหวังว่า ควรมีจริยธรรมสูงกว่าอาชีพอื่นๆ ดังนั้น จึงเป็นการเรียนรู้ของสังคมว่าในระบบการเมืองมีมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างไรหรือควรปฏิบัติอย่างไร อย่างไรก็ตาม ไมว่า นายไชยา จะลาออกหรือไม่ ก็น่าจะกระทบกับการทำงานขององค์กร ซึ่งสามารถขับเคลื่อนไปได้ไม่มีปัญหา
“ในต่างประเทศมาตรฐานจริยธรรมอยู่ในสำนึก ไม่ว่าจะทำผิดหรือไม่ ก็จะประกาศลาออกเอง โดยไม่ต้องรอให้ใครเป็นคนบอก ดังนั้น เรื่องจริยธรรมอีกมุมหนึ่งเป็นเป็นสำนึกของแต่ละบุคคล ไม่มีที่ไหนในโลกบัญญัติเรื่องของจริยธรรมไว้ในกฎหมาย แต่หากทำผิดกฎหมายแต่ไม่ยอมรับก็แสดงว่าไม่มีจริยธรรม” นพ.อำพล กล่าว