xs
xsm
sm
md
lg

ยัน นศ.แพทย์ออกกลางคันแค่หลัก 100 “ธาดา” แย้มไม่กระทบทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สกอ.ยันนักเรียนแพทย์ออกกลางคันไม่ได้สูงนับหมื่น ออกแค่หลัก 100 คน ขณะที่ จุฬาฯ ระบุไม่มีออกกลางคัน มีแต่สอบไม่ผ่าน จบช้ากว่ารุ่น ด้าน นพ.ธาดา แย้มไม่กระทบกองทุน กยศ.เพราะมีนักเรียนแพทย์ใช้สิทธิเพียง 13% และไม่ใช่จะลากลางคันทั้งหมด เพียงแต่เสียดายโอกาส-เวลา เตือนนักเรียนที่กำลังจะเลือกคณะให้คิดดีๆ จะได้ไม่ออกกลางคัน

ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ตามที่ สกอ.ระบุยอดนักศึกษาแพทย์ลาออกกลางคัน ปีการศึกษา 2550 จาก 125 สถาบัน 3 คณะ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ ทั้งสิ้น 22,647 คน แยกเป็น ม.รัฐ 21,092 คน และ ม.เอกชน 1,555 คน นั้น ตัวเลขนี้ สกอ.ยังไม่ได้แยกสาขา แต่จากการดูข้อมูลเบื้องต้น คาดว่า ตัวเลขนักศึกษาแพทย์ลาออกกลางคันไม่น่าจะถึงไม่ถึง 100 คน ส่วนผลรวมที่ออกมาอาจรวมสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริการสุขภาพด้วย

สำหรับนักเรียนแพทย์ที่รวมของสาธารณสุขด้วย ปีหนึ่งรับปีละประมาณ 2,200 คน ข้อมูลที่นำเสนอไปนั้นยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่ ด้วยเหตุนี้ สกอ.กำลังดำเนินการรวบรวมข้อมูลว่าแต่ละปีนักเรียนให้ความสนใจสาขาใดบ้าง โดยจะนำเสนอเป็นภาพรวมในเรื่องยอดจำนวนตัวเลขที่รับเข้า และลาออกกี่ครั้งของทุกคณะ ทั้งนี้ คาดว่า จะทำให้ทันก่อนการแอดมิชชัน เพื่อให้นักเรียนได้นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการตัดสินใจเลือกคณะต่อไป

รศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จำนวนนักศึกษาแพทย์ที่เรียนอยู่ตั้งแต่ปี 1-6 ในส่วนของจุฬาฯไม่มีนักศึกษาลาออกจากระบบกลางคัน แต่มีนักศึกษาที่สอบไม่ผ่านบ้าง ในส่วนคณะแพทยศาสตร์ทั่วประเทศที่จบในปีการศึกษา 2550 มีประมาณ 1,200 คน และในปีนี้คณะแพทย์รับนักศึกษาเพิ่มขึ้นทำให้มีนักศึกษาเข้าใหม่จำนวน 2,300 คน ทำให้ในปีถัดไปจะมีนักศึกษาแพทย์จบใหม่เพิ่มขึ้นกว่าที่ผ่านมา ทั้งนี้ หากรวม 5 สาขา คือ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชศาสตร์ จักษุแพทย์ และสัตวแพทย์แล้วจะมีจำนวนนักศึกษาที่เข้าใหม่ประมาณปีละ 5,000 คน

อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า เด็กที่เรียนเก่ง หรือระดับหัวกะทิส่วนหนึ่งเบี่ยงเบนความสนใจไปเรียนสายนิติศาสตร์ และสายสังคมมากขึ้น เนื่องจากคิดว่า สาขาแพทย์เป็นสาขาที่เรียนหนัก เงินเดือนน้อย อีกทั้งปัจจุบันนี้ยังเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง

ด้านนพ.ธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า ปัจจุบันนี้มีผู้กู้ยืมสายวิทยาศาสตร์สุขภาพประมาณ 13% ของผู้กู้ทั้งหมด และไม่รู้ว่าจำนวนนี้จะมี่นักเรียนแพทย์ที่ลาออกกลางคันอยู่เท่าไหร่ เรื่องดังกล่าวคงต้องให้สถาบันการศึกษาส่งข้อมูลที่ถูกต้องมายังกองทุน เพราะกองทุนยังไม่ได้ตัดสิทธินักเรียนกลุ่มนี้หากเขาจะลาออกเพื่อไปศึกษาต่อในสาขาอื่น
ทั้งนี้ หากนักศึกษาที่กู้ยืมเรียนในคณะแพทย์ไปแล้ว 4 ปี แล้วลาออกกรณีนี้เขาก็ไม่มีสิทธิจะๆได้รับทุนต่อหากต้องการไปเรียนสาขาอื่น เพราะถือว่าได้ใช้สิทธิในการกู้ยืมครบตามระยะเวลาที่กำหนดแล้ว เพราะในสาขาอื่นๆ จะใช้เวลาเรียนเพียง 4 ปีเท่านั้น ส่วนการชำระคืนก็ยังใช้ตามระเบียนเดิมคือเมื่อหลังจากเรียนจบไปแล้ว 1 ปี

“นักศึกษาแพทย์ที่ลาออกกลางคันผมจะถือว่าน่าเสียดายเวลา และโอกาสที่เขาตัดสินใจเลือกสาขาที่เรียนช้า จึงอยากให้นักเรียนกำลังจะตัดสินใจเลือกคณะ คิดให้ถี่ถ้วน มั่นใจว่าชอบคณะนี้จริงๆ จะได้ไม่ต้องลาออกกลางคันเพื่อมาสอบใหม่” นพ.ธาดา กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น