xs
xsm
sm
md
lg

แฉเส้นทาง “กาแฟเสียสาว” มาจากมาเลย์ อย.คุมด่านใต้เข้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อย.แฉเส้นทางลักลอบนำเข้า “กาแฟเสียสาว” มาจากมาเลเซีย คุมเข้มด่านอาหารและยาทางภาคใต้เป็นพิเศษ ส่วนเครื่องดื่มผงจาก “ปวีณา” ส่งตัวอย่างตรวจพิสูจน์ คาด ผสมสารซิลเดนาฟิล ขณะที่ กาแฟฉาวเจ้าเก่า อ้างปลุกเซ็กซ์เตรียมตัวเจ๊ง เหตุเสนอคณะกรรมการอาหารสั่งงดนำเข้า เพิกถอนทะเบียน พักใช้ใบอนุญาต ปรับ 5 หมื่นบาท หากฝ่าฝืนปรับวันละ 500 บาททุกวัน


วันนี้ (8 เม.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ชาตรี บานชื่น รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงข่าวภายหลัง นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาเพื่อเด็กและสตรีเข้าพบ เพื่อมอบตัวอย่างเครื่องดื่มชนิดผงต้องสงสัย ทั้งกาแฟซอง และน้ำส้มซอง ที่อ้างว่า มีสรรพคุณกระตุ้นความต้องการทางเพศ ว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการตรวจจับสถานที่จำหน่าย แหล่งผลิต สถานบันเทิง พร้อมกับประสานงานทางลับกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสืบหาแหล่งต้นตอของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว รวมทั้งสั่งการไปยังด่านอาหารและยาทั่วประเทศให้คุมเข้มการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพจากประเทศกลุ่มเสี่ยงด้วย

“ยืนยันว่า ไม่มีกาแฟผสมยาปลุกเซ็กซ์ แต่อาจเป็นการอุปทานจากการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หรือถ้ามี ก็อาจจะมีการผสมสารซิลเดนาฟิลเหมือนกรณีกาแฟสำเร็จรูปสำหรับผู้ชาย เมจิก เมน คอฟฟี่ นำเข้าโดยบริษัท บี ที จำกัด ที่เคยถูกจับกุมและอยู่ระหว่างการดำเนินคดีอยู่”นพ.ชาตรี กล่าว

นพ.ชาตรี กล่าวต่อว่า สารซิลเดนาฟิล เป็นเพียงยาที่ใช้ในการรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชายเท่านั้น ยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ ยืนยันว่า มีฤทธิ์เพิ่มสมรรถภาพทางเพศในผู้หญิง หรือกระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้ ในทางตรงกันข้าม อาจมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ปวดท้อง หลอดเลือดขยายตัว ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ คัดจมูก ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ และหายใจผิดปกติด้วย

ด้านนพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อย.มีการจับและปรับผู้ลักลอบนำเข้ายาซิลเดนาฟิล ซึ่งพบว่ามีการลักลอบนำเข้าจากประเทศอินเดียและจีน หลายแสนเม็ด ส่วนใหญ่สามารถตรวจจับได้ในสถานบันเทิงและร้านค้าย่านเยาวราช นอกจากนี้ จากการตรวจสอบภายหลังการจับกุม พบว่า ขณะนี้ผู้ลักลอบนำเข้ายาซิลเดนาฟิล ได้เปลี่ยนรูปแบบการนำเข้าจากที่เป็นยา อาจเป็นการผสมกับอาหาร หรือเครื่องดื่มและนำเข้าในรูปแบบของอาหาร รวมทั้งเปลี่ยนเส้นทางในการลักลอบนำเข้าจากด่านในจ.เชียงราย หรือ หนองคาย เป็นการนำเข้าผ่านประเทศมาเลเซีย ซึ่ง อย.ได้สั่งคุมเข้มด่านอาหารและยาทางภาคใต้เป็นพิเศษแล้ว

นพ.นรังสันต์ กล่าวอีกว่า ผู้หญิงควรป้องกันตัวเองโดยยึดหลักปฏิบัติ 7 ข้อ ได้แก่ 1.ไม่ไปร่วมงานหรือเที่ยวกลางคืนคนเดียว ควรมีเพื่อนที่สนิทไปด้วยอย่างน้อย 1 คน 2.ไม่ดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ หากจำเป็นต้องดื่มควรดื่มเพียงพอประมาณให้มีสติอยู่ตลอดเวลา 3.ไม่รับเครื่องดื่มจากคนที่ไม่รู้จัก 4.ไม่ดื่มเครื่องดื่มทุดชนิดอย่างรวดเร็ว เพื่อให้มีเวลาลิ้มรสเครื่องดื่มว่ามีรสชาติผิดแผกจากเดิมหรือไม่ จะได้มีเวลาระวังตัว 5.ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มจากภาชนะที่มีปากกว้าง เพราะง่ายต่อการใส่ยา 6.ไม่รับเครื่องดื่มจากคนที่ไม่รู้จัก และ 7.ไม่ควรละสายตาจากเครื่องดื่มของตนเอง หากจำเป็นต้องไปเข้าห้องน้ำ กลับมาแล้วควรเปลี่ยนแก้วใหม่

“หากผู้บริโภคพบเครื่องดื่มชนิดใหม่มีราคาแพงหลักร้อยบาทต่อซองขึ้นไป ขอให้สงสัยว่ามีสารปลอมปนอาจไม่ปลอดภัยในการบริโภค รวมทั้งถ้าภาชนะบรรจุไม่มีชื่อผลิตภัณฑ์ ไม่มีเลขสารบบของ อย.ไม่มีสถานที่ผลิต อย่าซื้อและอย่าบริโภค ควรรีบแจ้ง อย.ทางสายด่วน 1556 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้ถึงที่สุด” นพ.นรังสันต์กล่าว

ด้านน.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการกองอาหาร กล่าวว่า กรณีที่พบกาแฟสำเร็จรูปไม่ขออนุญาตนำเข้า จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท กรณีแสดงฉลากไม่ถูกต้อง เช่น โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง มีโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท และหากพบมีการใส่สารปลอมปน เช่น ผสมตัวยา วัตถุออกฤทธิ์ต่างๆ จะจัดเป็นอาหารไม่ บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ในส่วนของน้ำส้มแบบผง หากพบไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท

“ส่วนกาแฟที่ คุณปวีณา นำมาร้องเรียน อย.ครั้งนี้ จากที่ดูในเบื้องต้น พบความผิดฐานแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ตาม พ.ร.บ.อาหาร โดยชื่อและสถานที่ที่ผลิตที่ระบุในฉลากผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับที่ขอขึ้นทะเบียนกับ อย.ที่ระบุในฉลาก ระบุว่าเป็นบริษัท นิวยอร์ก แอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ขณะที่สถานที่ที่ผลิตที่ขอขึ้นทะเบียนกับ อย.เป็นบริษัท นาโน เบสท์ ออฟไลซ์ และในฉลากที่จำหน่ายของผลิตภัณฑ์นี้ระบุว่าผลิตในประเทศมาเลเซีย”น.ส.ทิพย์วรรณ กล่าว

ด้านนางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี กล่าวภายหลังหารือกับ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมช.สธ.โดยได้นำตัวอย่างเครื่องดื่มชนิดผงต้องสงสัย 3 ชนิด ซึ่งมีพลเมืองดีมามอบให้ คือ 1.กาแฟผงชงน้ำร้อนสำหรับผู้ชาย โดยหน้าซองระบุว่า Good for men 2.กาแฟผงชงน้ำร้อนสำหรับผู้หญิง โดยหน้าซองระบุว่า Energy Coffee 3.น้ำส้มผงชงกับน้ำสำหรับผู้หญิง โดยหน้าซองระบุเพียงว่า Orange บรรจุอยู่ในซองสีทอง ซึ่งการที่นำตัวอย่างทั้ง 3 ชนิดมาให้ อย.ตรวจสอบ เพราะมูลนิธิไม่มีความรู้ในเรื่องดังกล่าว แต่เมื่อมีผู้เสียหายมาร้องทุกข์และให้ข้อมูลถึง 2 ราย ก็ควรจะมีการตรวจสอบที่มาของเครื่องดื่มดังกล่าว และชี้แจงให้สังคมโดยเฉพาะผู้หญิงตื่นตัว ระวังภัย

“ไม่เสียหายหากมีการตรวจสอบเครื่องดื่มเหล่านี้ แม้ว่าจะไม่ได้มีสารที่กระตุ้นอยากให้มีเพศสัมพันธ์ ก็อาจมีสารอันตรายที่ทำให้เกิดโทษ อย่างเช่น ยานอนหลับ หรือยากล่อมประสาท ที่ทำให้เคลิบเคลิ้ม เป็นการตีแผ่ให้ผู้หญิงและสังคมรับรู้ถึงความน่ากลัวในการดื่มหรือรับประทานโดยไม่ได้ระมัดระวัง ซึ่ง อย.ก็รับปากที่จะตรวจสอบและดำเนินการในเรื่องนี้ และเบื้องต้นก็พบว่า ขออนุญาตไม่ถูกต้อง และมีการระงับการนำเข้า”นางปวีณา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นอกจากจะส่งกาแฟและน้ำส้มเสียสาว ซึ่ง นางปวีณา หงสกุล นำมาร้องเรียนต่อ อย.เพื่อตรวจพิสูจน์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่า มีการผสมสารต้องห้ามโดยเฉพาะยากระตุ้นสมรรถภาพทางเพศหรือไม่ โดย อย.ได้เตรียมข้อมูลเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ เพื่อดำเนินการลงโทษ กาแฟสำเร็จยี่ห้อรูปเมจิก เมน คอฟฟี่ ที่ อย.บุกจับและดำเนินคดีก่อนหน้านี้ หลังพบว่ามีการผสมสารซิลเดนาฟิล ที่จัดว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ โดยในการประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติในวันที่ 23 เม.ย.นี้ จะมีการเสนอให้คณะกรรมการอาหารอนุมัติให้สั่งเพิกถอนทะเบียนของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว พร้อมสั่งพักใช้ใบอนุญาตชั่วคราวเป็นเวลา 120 วัน นอกจากนี้ ยังเสนอให้อนุมัติยกเลิกเลขสารบบที่ 10-3-15449-1-0002 ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวซึ่งขอขึ้นทะเบียนไว้ รวมทั้งสั่งงดนำเข้า เนื่องจากเป็นอาหารไม่ควรแก่การบริโภค มีความผิดตามมาตรา 63 พ.ร.บ.อาหาร มีโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หากยังมีการฝ่าฝืนจะมีการปรับรายวันอีกวันละ 500 บาทด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น