xs
xsm
sm
md
lg

หน้าร้อนมะนาวแพง อย.เตือน “น้ำมะนาวเทียม” ระคายกระเพาะ-ท้องร่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อย.แนะหน้าร้อนมะนาวแพง ให้กินมะม่วง มะขามเปียกแทน เตือนเลือกซื้อมะนาวเทียมต้องระวัง ผลิตไม่ปลอดภัยอาจระคายเคืองกระเพาะ ท้องร่วง ชี้ปนเปื้อนสารซัลฟูริก และไฮโดรคลอริก โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่รอบ 3 ปี พบลักลอบนำเข้าสารซิลเดนาฟิลจากปากีสถาน-จีน-อินเดีย มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท

นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้เข้าสู่หน้าร้อน ทำให้มะนาวมีราคาแพง ผู้ปรุงอาหารจึงลดการใช้น้ำมะนาวจริงหันมาใช้น้ำมะนาวเทียมที่ประกอบด้วยน้ำ กรดซิตริก หรือกรดมะนาว และมีการแต่งสี กลิ่นให้ใกล้เคียงน้ำมะนาวธรรมชาติแทน ที่น่าห่วง เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่ามีการนำน้ำมะนาวเทียมมาประกอบอาหารจำนวนมาก ทั้งรูปแบบการจำหน่ายแบบบรรจุใส่ขวดหรือใส่ถุงพลาสติกรัดหนังยาง ซึ่งมีผู้ผลิตบางรายผลิตด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้องและ ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค อาจส่งผลให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร ท้องร่วงและอาจเป็นอันตรายได้

“การเลือกซื้อน้ำมะนาวเทียม ควรเลือกซื้อที่มีชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร ชื่อที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ ปริมาณสุทธิ ส่วนประกอบสำคัญ วันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ วัตถุเจือปนในอาหาร เช่น สารกันเสีย และเจือสีธรรมชาติหรือสีสังเคราะห์ เป็นต้น และควรเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ทั้งนี้ อย.ได้เก็บตัวอย่างน้ำมะนาวเทียมส่งให้กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยต่อไป เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในการลดการใช้สารเคมี ขอให้ผู้บริโภคเลือกใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น ผลมะนาวสด มะม่วง มะขาม แทนจะดีที่สุด” นายชวรัตน์ กล่าว

นายชวรัตน์ กล่าวด้วยว่า หากมีการตรวจพบว่าน้ำมะนาวเทียมมีการปนเปื้อนของสารซัลฟูริกและไฮโดรคลอริก ถือเป็นน้ำไม่บริสุทธิ์ ผู้ผลิตมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากพบว่ามีการแสดงฉลากไม่ถูกต้องจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร มีโทษไม่เกิน 3 หมื่นบาท

นายชวรัตน์ กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับเครื่องดื่มกาแฟซองสำเร็จรูป และน้ำส้มแบบผง ที่อ้างว่ามีสรรพคุณกระตุ้นความต้องการทางเพศเป็นเหตุให้หญิงสาวเสียตัวโดยไม่ตั้งใจด้วยว่า หลังจาก อย.ได้รับตัวอย่างกาแฟซองและน้ำส้มแบบผงจากนางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณา หงสกุล เพื่อเด็กและสตรี และได้นำตัวอย่างส่งไปให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจหาสารอันตรายที่อาจผสมในกาแฟ และน้ำส้มดังกล่าว โดยเฉพาะสารซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ และสารอัลปราโซแลม (Alprazolam) ยากล่อมประสาท ซึ่งคาดว่าจะทราบผลภายใน 2 สัปดาห์

นายชวรัตน์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ผลการตรวจจับผู้ลักลอบนำเข้าสารซิลเดนาฟิล ที่ด่านอาหารและยาของ อย.ตั้งแต่ปี 2549-ปัจจุบัน พบการลักลอบนำเข้าสารดังกล่าวจากประเทศปากีสถาน อินเดีย และจีน จำนวนประมาณ 1.5 แสนเม็ด คิดเป็นมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท จึงได้กำชับให้ด่านอาหารและยาคุมเข้มผลิตภัณฑ์กลุ่มเสี่ยงที่มีการโฆษณาในเรื่องทางเพศ ความงามและการลดความอ้วน เพื่อสืบสาวให้ถึงต้นตอสถานที่จำหน่าย และแหล่งผลิตเพื่อนำผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีให้ถึงที่สุด

“สารอันตรายโดยเฉพาะประแภทอวดอ้างกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ ยากลำบากที่จะกำจัดออกจากตลาดและสังคมไทย เนื่องจากเป็นเหมือนของต้องห้าม ยิ่งหายากคนยิ่งแสวงหา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีการถูกล่อลวงทางเพศ จึงควรป้องกันจากครอบครัวก่อน โดยพ่อแม่ควรให้การอบรมสั่งสอนลูกให้แต่งตัวให้เหมาะสม ไม่ใช่แต่งกายนุ่งน้อยห่มน้อย ต้องการความเซ็กซี่เหมือนคนอื่น จะยิ่งเป็นการยั่วยุความต้องการทางเพศของผู้ชาย” นายชวรัตน์กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น