อุบลราชธานี - ผู้ประกอบการรถโดยสารสองแถวประสบปัญหาราคาน้ำมันที่เป็นต้นทุนประกอบการแพง แต่ไม่สามารถขึ้นราคาค่าโดยสารเกรงลูกค้าหันไปใช้รถจักรยานยนต์ ต้องหาวิธีปรับลดการใช้น้ำมัน โดยปิดแอร์ขณะวิ่ง และใช้วิธีจอดแช่รอรับผู้โดยสารแทนการขับตระเวน เพื่อให้คุ้มกับการวิ่งรับส่งผู้โดยสารแต่ละเที่ยว
ผู้สื่อข่าวรายงานจากภาวะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวขึ้นอีก ปัจจุบันน้ำมันดีเซลที่จังหวัดอุบลราชธานี มีราคาขายลิตรละ 33.98 บาท เบนซิล 91 ลิตรละ 35.53 บาท และแก๊สโซฮอล์ 95 ลิตรละ 32.63 บาท ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนประกอบอาชีพ
โดยเฉพาะกลุ่มรถโดยสารประจำทางในตัวจังหวัดเก็บค่าโดยสารตลอดสายราคา 10 บาท และเป็นราคาที่ใช้มาตั้งแต่น้ำมันดีเซลมีราคาเพียงลิตรละ 26 บาทเศษ
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า แม้ราคาน้ำมันดีเซลที่เป็นต้นทุนสำคัญในการเดินรถสูงขึ้นจากอดีตอีกลิตรละกว่า 5 บาท แต่ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ไม่สามารถปรับขึ้นราคาค่าโดยสารได้อีก เพราะเกรงผู้โดยสารหันไปใช้วิธีออกรถจักรยานยนต์มาใช้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านการประกอบการที่ลดลงในระยะยาว ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสารต้องหาวิธีลดค่าใช้จ่าย เพื่อให้คุ้มกับต้นทุนที่เกิดจากการใช้น้ำมันในการวิ่งแต่ละเที่ยว
นายนิวัฒน์ สมาทอง อายุ 48 ปี โชเฟอร์รถสองแถวกล่าวถึงการปรับตัวของคนขับรถขณะนี้ว่า สำหรับราคาค่าโดยสาร 10 บาทตลอดสาย หากเป็นรถของตัวเองที่ไม่มีค่างวดก็จะพอมีเงินเหลือใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน แต่สำหรับโชเฟอร์ที่ต้องเช่ารถขับไม่สามารถอยู่ได้ในราคานี้ ทำให้รถสองแถวแต่ละสายมีจำนวนรถวิ่งรับส่งผู้โดยสารไม่แน่นอนในแต่ละวัน
ส่วนวิธีการปรับตัวลดค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมัน ปัจจุบันกลุ่มรถโดยสารประจำทางระยะสั้นจะใช้วิธีการจอดรถแช่รอรับผู้โดยสารตามจุดจอดรับส่งให้นานขึ้น เมื่อมีผู้โดยสารมากพอถึงจะออกรถ เพื่อให้คุ้มค่าในการวิ่งแต่ละเที่ยว
ขณะเดียวกัน คนขับจะไม่เปิดแอร์ปรับอากาศในตัวเก๋ง เพื่อไม่ให้เครื่องยนต์ต้องทำงานหนัก ซึ่งสามารถช่วยประหยัดการใช้น้ำมันในการวิ่งแต่ละเที่ยวลงได้
“อยากให้รัฐบาลหันมาใส่ใจเรื่องการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนมากกว่าการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะวันนี้กำลังเข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพง รัฐบาลน่าจะสนใจความเป็นอยู่ของประชาชนมากกว่าเรื่องอื่น โดยเฉพาะปัญหาราคาน้ำมันที่แพงขึ้นทุกวัน” นายนิวัฒน์โชเฟอร์สองแถวรายนี้กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางระยะสั้นจำนวน 3 บริษัทคือ เมล์เทา เมล์ขาว เมล์ชมพู และรถร่วมสหกรณ์ มีรถวิ่งรับส่งผู้โดยสารประมาณ 500 คัน