xs
xsm
sm
md
lg

“ต่อเรือน้อยใส่ตู้” เรียนรู้ประวัติศาสตร์คลอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นับแต่มีถนนหนทางเกิดขึ้นในสยาม ความนิยมในการเดินทางด้วยเรือก็เริ่มลดลง ทำให้ภาพดังกล่าวค่อยๆ เลือนจางห่างหายไปจากสังคมไทย หากสำหรับผู้ที่คิดถึงสัญลักษณ์ของชีวิตริมคลองอย่าง “เรือ” ก็พอจะเดินทางไปดูได้บ้าง ณ ชุมชนริมคลองบางกอกน้อยของไทยวันนี้ อาจจะยังพอได้พบเห็นเรือยนต์ เรือแม่ค้าบ้าง แต่นั่นคือ เรือที่หลงเหลือส่วนน้อย เพราะเมื่อคลองเริ่มตัน การสัญจรทางน้ำก็ลำบาก เรือที่เคยแล่นไปมาจึงถูกย่อขนาดลงและย้ายมาวางในตู้โชว์แทน...เป็นเช่นนี้มาหลายปีแล้ว

และเมื่อคนๆ หนึ่งที่รักเรือเข้าไส้ และอยากเป็นเจ้าของเรือใบฝรั่งจำลอง หากแต่ไม่มีทุนเพียงพอที่จะครอบครองได้ เช่นนี้เองทำให้แรงไฟในตัวพัดกระพือ กระตือรือร้นพยายามศึกษาและหาวิธีต่อเรือด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเข้าไปศึกษาแบบครูพักลักจำจากพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ซื้อหนังสือประวัติศาสตร์เรือมาอ่าน ไม่เว้นแม้แต่เข้าไปขอความรู้จากครูบาอาจารย์ด้านการต่อเรือ จนวันนี้กลายมาเป็นครู และได้รับการยกย่องให้เป็นปราชญ์ท้องถิ่น ต้นตอของเรื่องเริ่มจากนี้...

** เพราะอยากได้เรือทีเดียว
ลุงสุภชัย รุณบุญรอด เจ้าของ พิพิธภัณฑ์เรือจำลอง ตลิ่งชัน คนต้นเรื่องได้บอกเล่าประวัติชีวิตตัวเองอย่างง่ายๆ ว่า เติบโตมาท่ามกลางอู่ต่อเรือ บ้านริมน้ำมองเห็นเรือและรู้จักเรือตั้งแต่ 4 ขวบ กระทั่งครบกำหนดที่จะต้องไปเป็นทหารราบ แต่ความรักในเรือยังมีอยู่เต็มสายเลือด จนเมื่อ 14 ปีที่แล้วมีเหตุให้ลุงสุภชัยเริ่มศึกษาการต่อเรือจำลองอย่างจริงจัง

“ผมเจอเรือใบฝรั่งที่มารู้คราวหลังว่าเป็นเรือกำปั่นสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่โรงแรมริเวอร์ ซิตี้ แต่ไม่มีปัญญาซื้อ ก็เลยจำของเขามา แล้วเอามาลองทำ แรกๆ ก็ทำถูกทำผิดเพราะไม่มีความรู้ อาศัยดูจากรูปแล้วก็ลองต่อไปเรื่อยๆ เรือลำแรกที่ผมต่อทำจากไม้ฉำฉาที่หาได้ริมคลอง จากนั้นก็มีกำลังใจที่จะทำมากขึ้น”

ศิลปินจะสร้างงานศิลปะออกมาได้มีเหตุผล 2 อย่าง คือ ทำเพื่อสนองตัณหาที่อยากทำ อยากได้ และอีกเหตุผลหนึ่งก็เพื่อสนองปากท้อง สำหรับลุงสุภชัยคงจะเป็นเหตุผลแรก เพราะหลังจากที่ต่อเรือลำแรกสำเร็จแล้วก็ออกเดินทางหาความรู้เพิ่มเติมเพียงเพราะอยากจะรู้จักเรือให้มากขึ้น และอยากต่อเรือให้ได้หลายๆ แบบ

“ใช้เวลาหนึ่งอาทิตย์ได้เรือลำแรกมา ทีนี้ก็ออกเดินทางไปศึกษาตามที่ต่างๆ หาครู อาจารย์ไพฑูรย์ ขาวมาลา ผู้รอบรู้เรื่องเรือไทย และอาจารย์อีกหลายท่านก็ได้ให้ความรู้มา จึงรู้ว่าพื้นฐานในการต่อเรือทุกประเภทต้องมาจากเรือบดไทย การไปตามที่จัดแสดงเรือต่างๆ บางแห่งก็ให้ความรู้ บางแห่งเขาหวงเราก็ลักจำเขามาแอบสเกตช์มาแล้วก็มาทำเอง ซึ่งตอนนั้นยังรับราชการทหารอยู่หลังๆ เริ่มทุ่มเทกับเรือมากกว่าจะเป็นงานอดิเรก จึงลาออกจากราชการและศึกษาประวัติศาสตร์เรือ และการต่อเรืออย่างเป็นจริงเป็นจัง จนวันนี้เรียกได้ว่าเป็นอาชีพช่างต่อเรือจำลองไปซะแล้ว” อดีตนายทหารเล่าที่มาของอาชีพช่างให้ฟัง

** จากศิษย์เป็นครู
ผลงานของลุงสุภชัยเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อเรือจำลองของแกได้รับรางวัล OTOP 4 ดาว จนมีคนมาขอเป็นลูกศิษย์ และมีคนมาติดต่อขอซื้อเรือมากขึ้น แต่ยิ่งมีคำนำหน้าว่าครูแล้ว การศึกษาความรู้เพิ่มเติมจึงเป็นสิ่งจำเป็น

“คนที่เขาสนใจอยากต่อเรือเพื่อประกอบอาชีพจริงจังก็มาขอเรียนบ้าง แต่ตัวผมเองอยากจะให้เด็กรุ่นใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็นเรือหายากได้เรียน เพื่อที่จะอนุรักษ์เรือเก่าๆ ไว้ ถึงมันจะไม่ได้แล่นในคลองแล้ว แต่อย่างน้อยเด็กจะได้ไม่ลืม นอกจากนั้นมันก็จะสร้างวิชาชีพช่างขึ้นมาอีกสาขาหนึ่งได้ด้วย จึงมีโรงเรียนให้ไปสอนเป็นวิชาพิเศษ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่จะให้ความรู้และฝึกฝีมือ วันนี้ลูกศิษย์ก็มีไม่ต่ำกว่าพันคนแล้วนะ” ลุงสุภชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า เรือควรจะอยู่กับคนที่รักเรือจึงจะมีคุณค่า

** เด็กรุ่นใหม่ทำความรู้จักเรือต่อ
อาจารย์ไชยา กัญญาพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดน้อยใน เขตตลิ่งชัน เล็งเห็นความตั้งใจของลุงสุภชัย จึงเชิญมาเป็นวิทยากรพิเศษในกิจกรรมส่งเสริมภูมิปัญญาพื้นบ้าน จุดประสงค์ก็เพื่อที่จะนำเรือที่หายไปจากลำคลองกลับมาอีกครั้งในรูปแบบเรือจำลองเล่าเรื่องราววิถีชีวิตริมคลองบางกอกน้อย

“เพราะวิถีของคนในเขตบางกอกน้อย มีเรือแล่นไปแล่นมานานแล้ว ความเปลี่ยนแปลงทำให้เรือหายไปทีละลำๆ การให้ลุงสุภชัย เข้ามาทำให้เด็กรู้จักเรือหายากมากขึ้น สร้างเสริมอาชีพให้เกิดขึ้น และอีก 3 ปีจากกิจกรรมพิเศษจะบรรจุเป็นหลักสูตรท้องถิ่นโดยเริ่มพัฒนาจากคนที่สนใจ โดยหนึ่งปีที่ผ่านมากิจกรรมนำร่องของเราถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร เด็กสามารถต่อยอดได้ และเขามีความภาคภูมิใจในผลงานของตัวเอง” ผอ.โรงเรียนวัดน้อยในกล่าว

ด้านนักเรียนที่มาฝึกต่อเรือ อย่าง น้องแป้ง-น.ส.อารียา ทองประดับ นักเรียนชั้น ม.5 บอกว่า ก่อนหน้านี้ ตนไม่เคยสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับเรือเลยแม้แต่น้อย เด็กสาวที่ถนัดวิชาพลศึกษามากกว่าคณิตศาสตร์หรือศิลปะ กลายเป็นคนที่นิ่ง ละเอียด และมีสมาธิอย่างมากเมื่อลงมือต่อเรือจำลอง แม้เรือพื้นฐานอย่างเรือบดไทย เมื่อทำสำเร็จแล้วก็ภูมิใจในตัวเอง และเป็นแรงผลักทำให้อยากต่อเรือประเภทอื่นๆ ต่อๆ ไป

“นอกจากจะได้ต่อเรือที่เป็นฝีมือตัวเองแล้ว ความรู้เพิ่มเติมที่ได้รับจากคุณลุงสุภชัยก็คือ เรื่องระบบขนส่งทางน้ำ ประวัติศาสตร์เรือหายาก แล้วพ่อแม่ก็แทบไม่เชื่อว่าหนูจะทำได้มันเกิดความภูมิใจแล้วอยากต่อเรืออีก บางทีทำแล้วลืมเวลาไปเลยเพราะมันเพลินมาก”

น้องแป้ง - นายสุชานนท์ สาระพินิจ นักเรียนชั้น ม.5 เด็กชายคนหนึ่งที่ชอบนั่งดูเรือแล่นบนผิวน้ำ ยินดีที่ได้ยินเสียงเครื่องยนต์ผ่านมา และท้องน้ำก็เริ่มมีชีวิตชีวาทันทีที่มีเรือหลายชนิดสวนกันแล้วได้ยินประโยคพูดคุยระหว่างลำ แป้งให้เหตุผลอย่างเด็กผู้ชายว่า สิ่งที่เขาทำในวันนี้ ต่อไปอาจจะสร้างอาชีพให้ได้ในอนาคต แม้ว่าภาคการศึกษาที่ผ่านมาเขาจะได้เรือเพียงแค่ 2 ลำ แต่หน้าที่ต่อไปคือศึกษาเรือแต่ละชนิดมากขึ้น

“เรือแต่ละลำจะมีส่วนประกอบไม่เหมือนกัน แม้จะมีกราบเรือ ท้องเรือเหมือนกัน แต่ลักษณะการใช้งาน ทำให้องค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ ในเรือไม่เหมือนกัน ดังนั้น การต่อเรือจึงเป็นอะไรที่ท้าทาย” แป้งกล่าวขณะที่สายตายังมองที่ผลงานของตนเอง

ตะวันคล้อยจากบ่าย ฟ้าฝนเริ่มก่อตัว ก่อนจากจึงทิ้งคำถามสุดท้ายกับลุงสุภชัย ว่า การต่อเรือของลุง ทำให้แกได้อะไรบ้าง คำตอบที่ออกจากอดีตนายทหารราบ คือ “ชีวิตผมไม่เคยคิดว่าอยากจะได้อะไร แต่คิดว่าอยากให้อะไร วันนี้ผมได้ให้ไปแล้ว ให้ความรู้ ให้การอนุรักษ์ และให้เรือริมคลองยังคงอยู่”




กำลังโหลดความคิดเห็น