xs
xsm
sm
md
lg

“ต้อหิน” โรคที่ไม่ได้คุกคามเฉพาะผู้สูงอายุ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากเอ่ยถึงโรคต้อหิน หลายคนคงนึกถึงโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับดวงตาโดยตรง หรือเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ แต่คงไม่คิดว่าในปัจจุบันนี้สามารถเกิดขึ้นในเด็กได้เช่นกัน และโรคต้อหินนี้เองก็ถือเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้คนไทยมีความพิการทางสายตาอีกด้วย

สำหรับเรื่องนี้ รศ.นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์ ประธานฝ่ายวิชาการ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย และรองประธานสมาคมต้อหินแห่งเอเชียตะวันออกและใต้ อธิบายว่า ต้อหินเป็นโรคที่มีการทำลายของขั้วประสาทตา ซึ่งเป็นตัวนำการมองเห็นไปสู่สมอง เมื่อขั้วประสาทตาถูกทำลายจะมีผลทำให้สูญเสียลานสายตา ในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่เมื่อปล่อยให้โรคนี้ลุกลาม ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกถึงการมองเห็นที่เปลี่ยนไป โดยจะมองเห็นวัตถุที่อยู่ข้างหน้าได้ชัดดี แต่จะไม่เห็นวัตถุที่อยู่ข้างๆ ซึ่งหมายความว่า ลานสายตาของผู้ป่วยแคบลง เหมือนการมองผ่านกล้องส่องทางไกลอยู่ตลอดเวลา และถ้าหากไม่ทำการรักษา อาการของโรคจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จนทำให้ลานสายตาค่อยๆ แคบลง จนสูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด 

“สเตียรอยด์” กับความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

โดยที่อาการของโรคสามารถแบ่งได้เป็น 4 ชนิด คือ 1.ต้อหินชนิดมุมเปิด ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อย มักไม่แสดงอาการ ต้องตรวจจึงจะทราบว่าเป็น 2.ต้อหินชนิดมุมปิด หากเป็นแบบเฉียบพลันจะมีอาการตาแดง ปวดตา เป็นแบบเรื้อรัง 3.ต้อหินโดยกำเนิด พบในเด็กแรกเกิดถึงเด็กเล็ก มักมีอาการ น้ำตาไหล ไม่สู้แสง ตาตำโต อาจเป็นฝ้าขาว ต้อหินในเด็กบางชนิด มีตาดำเล็กกว่าปกติ พบร่วมกับโรคอื่นของดวงตา และสุดท้าย ต้อหินทุติยภูมิ เกิดจากภาวะที่มีการอักเสบในดวงตาจาก อุบัติเหตุ การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์อย่างต่อเนื่อง เบาหวานขึ้นตา เป็นต้น

“สำหรับโรคต้อหินนั้นเกิดขึ้นได้จากสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ การเป็นโรคนี้แต่กำเนิด ซึ่งเป็นผลมาจากพันธุกรรม แต่ที่พบเพราะสาเหตุของพันธุกรรมนั้นมีไม่มาก อีกหนึ่งสาเหตุที่เป็นต้นตอสำคัญให้เกิดโรค คือการใช้ยาหยอดตาผิดประเภทที่จะเกิดได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ด้วยเหตุที่ทารก หรือเด็ก ที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิด-14 ปี แต่ที่พบบ่อยจะอยู่ที่ช่วงอายุ 1-3 ขวบที่มีอาการภูมิแพ้ ซึ่งในบางอาการของภูมิแพ้นั้นมีผลเกี่ยวเนื่อง ให้เกิดอาการคันตาเกิดขึ้น

ด้วยความหวังดีของผู้ปกครองก็นำลูกไปพบแพทย์ แต่ก็มีอีกบางรายเช่นกันที่ซื้อยาหยอดตาตามร้านขายยา ในท้องตลาดมาใช้เอง ด้วยเหตุที่บางร้านก็ไม่ได้มีเภสัชกรประจำร้าน ทำให้ผู้ขายเลือกยาหยอดตาที่มีราคาถูกแต่เน้นประสิทธิภาพในการรักษา แต่หารู้ไม่ว่ายาประเภทนี้เองมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่มีอันตราย และเป็นตัวการอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคต้อหินได้ หรือในเด็กบางรายที่มีลักษณะของปานแดงตรงใบหน้าแล้วครอบคลุมบริเวณดวงตา ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งภาวะแทรกซ้อน และในรายของผู้ที่สายตาสั้นมากจะมีโอกาสเป็นต้อหินมุมเปิด ส่วนผู้ที่มีสายตายาวมากนั้นจะมีความเสี่ยงในการเป็นต้อหินมุมปิดได้”

** ความดันตา-มุมตาแคบ-ไมเกรน หลายปัจจัยก่อโรค

รศ.นพ.ปริญญ์ อธิบายต่อว่า สำหรับผู้ที่ตรวจพบว่าเป็นต้อหินควรดูแลรักษาตัวเองด้วยการหลีกเลี่ยงกิจกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้ เช่น ต้องระวังปัจจัยที่จะทำให้ความดันในดวงตาสูงขึ้นโดย ความดันในดวงตาที่ปกตินั้นจะอยู่ที่ 12-13 มิลลิเมตรปรอท ถ้าหากความดันตาขึ้นจนถึง 20 มิลลิเมตรปรอทจะมีความเสี่ยงมาก เมื่อความดันขึ้นถึง 30-50 มิลลิเมตรปรอทจะเกิดอาการปวดตา ซึ่งความดันตานั้นจะเกิดขึ้นได้จากการออกกำลังกายหนักๆ เช่นการเล่นเวต เน้นกล้ามเนื้อที่ต้องมีการเกร็งเป็นเวลานานๆ กลั้นหายใจนานๆ หรือการออกกำลังกายด้วยวิธีการที่ต้องห้อยหัวต่ำ วิธีการเหล่านี้มีผลให้ความดันตาสูงขึ้นแทบทั้งสิ้น

ส่วนคนที่มีมุมตาแคบคือคนที่มีสายตายาวมากๆ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุเกิน 50 ปี จะมีความเสี่ยงสูงในการเกิดต้อหินมุมปิด และผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชายมากกว่าถึง 3 เท่า ในขณะที่คนเอเชียที่มีเชื้อสายจีน ที่มีลักษณะตาเล็กๆ ความสูงไม่มาก ต่ำกว่า 150 เซนติเมตร และมีสายตายาวมาก จะจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงมากเช่นกัน

อีกทั้งยังรวมไปถึงผู้ที่ปวดหัวเนื่องจากไมเกรนบ่อยๆ เพราะจะทำให้มีการตายของเซลล์ประสาทตาเนื่องจากไมเกรนจะทำให้เส้นเลือดเกิดการหดตัว คลายตัวผิดปกติ จะมีผลทำให้ประสาทตาเสีย จนทำให้เป็นต้อหินได้ ดังนั้น ผู้ที่เป็นไมเกรนก็ควรต้องหาเวลาเพื่อพบจักษุแพทย์ด้วยเช่นกัน

“หากพูดถึงวิธีการรักษาต้อหินที่เกิดในเด็กจะรักษาได้ยากกว่าผู้ใหญ่ เพราะต้อหินในเด็กจะมีความดันตาขึ้นสูง เด็กจะมีอาการตาแดง น้ำตาไหล สู้แสงไม่ได้ แต่ผู้ใหญ่จะไม่มีอาการเช่นนี้ ลูกตาของเด็กจะมีความยืดหยุ่นสูง เมื่อความดันตาขึ้นลูกตาจะยืดออก ทำให้ตาโตมาก จึงต้องใช้วิธีการรักษาโดยการผ่าตัด หรือใช้ยาหยอดในการช่วยชะลอ และรักษา ในบางรายผ่าตัดแล้วก็หายเป็นปกติ แต่บางรายก็ไม่หาย สำหรับผู้ใหญ่ หากความดันตาขึ้นลูกตาจะไม่ขยายตัวเหมือนในเด็ก แต่ประสาทตาจะถูกทำลาย และทำให้ตาขุ่นขาว” รศ.นพ.ปริญญ์ กล่าวถึงการรักษา

** ตรวจพบเร็วโอกาสหายมีสูง

รศ.นพ.ปริญญ์ ยังฝากทิ้งท้ายไว้ว่า คนที่เป็นต้อหินในประเทศไทยปัจจุบันนี้มีกว่า 1 ล้านคน แต่ที่ทราบและมาพบแพทย์นั้น มีเพียงแค่ 10% ของผู้ป่วยทั้งหมด ที่เหลือกว่า 90% ไม่รู้ตัวว่าเป็น เพราะหากตรวจพบเร็ว โอกาสหายก็จะมีสูง ในส่วนของความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของประชาชนที่ซื้อยาหยอดตาใช้เองนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฎหมายของประเทศไทยยังไม่มีความจริงจังในการควบคุมตัวยาที่มีส่วนประกอบจากสเตียรอยด์ ซึ่งในต่างประเทศนั้นการที่จะซื้อยาประเภทนี้ ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์จึงจะซื้อได้ แต่ที่บ้านเรายังไม่มีกฎหมายควบคุม ที่จริงจังพอ และประชาชนเองสามารถหลีกเลี่ยงยาเหล่านี้ได้โดยการสังเกตส่วนประกอบของยา หากมีส่วนประกอบของเดคซาเมทธาโซน เคลปมิโซโลน หรือตัวยาใกล้เคียง จะเป็นส่วนของสเตียรอยด์ทั้งสิ้น

“สิ่งสำคัญในการรักษาโรคต้อหิน คือ ผู้ป่วยจะต้องเข้าใจโรคที่เป็นอยู่และอดทนในการรักษา ต้องคอยมาตรวจติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ โรคต้อหินแม้ไม่สามารถรักษาการมองเห็นที่เสียไปแล้วให้กลับคืนมาได้ แต่สามารถรักษาและป้องกันไม่ให้ตาบอดหรือสูญเสียการมองเห็นมากขึ้นได้
 
 ถ้าผู้ป่วยใส่ใจและปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด รวมถึงท่านที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคต้อหินควรได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์อย่างละเอียด เพื่อให้คนไทยทุกคน ห่างไกลจากต้อหิน” รศ.นพ.ปริญญ์ กล่าวในที่สุด

กำลังโหลดความคิดเห็น