xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการจวกทบทวน ม.30 อันตราย!!! วอนนายกฯ ทำเพื่อ ปชช.มากกว่าธุรกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยปัญหาสุราชี้มาตรา 30 เหตุอันดับหนึ่งคนติดเหล้า ฝากถึงนายกฯ ทบทวนให้ดี คำนึงถึงประโยชน์ประชาชนมากกว่าภาคธุรกิจ ชี้หากรัฐบาลมุ่งแต่เรื่องอบายมุข อยู่ไม่ครบเทอมแน่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่กลุ่มธุรกิจเหล้าบุกทำเนียบเข้าพบนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงปัญหาผลกระทบเนื่องมาจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในหลายมาตรา อาทิ มาตรา 30 ที่บัญญัติว่าห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือลักษณะดังต่อไปนี้ (2) การเร่ขาย และ (5) โดยแจก แถม ให้หรือแลกเปลี่ยนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกับสินค้าอื่น หรือการให้บริการอย่างอื่นแล้วแต่กรณี หรือแจกจ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะเป็นตัวอย่างของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเป็นการจูงใจสาธารณชนให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น อีกทั้งทางนายกรัฐมนตรีรับปากจะนำเรื่องนี้เข้า ครม.เพื่อพิจารณาในวันอังคารนี้

สำหรับเรื่องดังกล่าว นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า เป็นเรื่องที่อันตรายมากๆ เพราะมาตรา 30 เป็นมาตราอันดับ 1 ที่ส่งผลอย่างมากต่อผู้บริโภค เนื่องจากการลด แลก แจก แถม หรือ การทดลองชิมสินค้านั้นมีผลอย่างสูงต่อการตัดสินใจ ซึ่งมีความสำคัญ และส่งผลโดยตรงต่อผู้บริโภค ในขณะที่มาตรา 32 นั้น จะเน้นไปในส่วนของการลดจำนวนผู้บริโภคหน้าใหม่ ในขณะที่ผู้แทนบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อหนึ่ง เคยบอกว่าการลดราคามีผลเยอะที่สุดในการเพิ่มยอดสินค้า ซึ่งหากมีการแก้กฏหมายเชื่อว่าจะส่งผลแย่อย่างมาก เพราะภาคธุรกิจเองจะได้รับแต่ยอดขายสินค้าอย่างเดียวโดยที่ไม่มองถึงสังคมว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไร การควบคุมกฏหมายต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็จะหย่อนยานลง

นพ.บัณฑิต กล่าวต่อว่า ภาครัฐต้องถามตัวเองว่าจะยึดประโยชน์ฝ่ายไหนเป็นสำคัญระหว่างภาคสังคม ประชาชน หรือสนใจแต่ประโยชน์ของภาคเอกชน ธุรกิจมากกว่า เพราะรัฐบาลพูดอยู่เสมอว่ามาจาการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากจากประชาชน แล้วรัฐบาลเองจะดำเนินการเรื่องนี้เพื่อใคร ตอนนี้มีผลการวิจัยออกมามากมายถึงผลกระทบจากสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะคนที่ดื่มได้รับผลกระทบเพียง 40% ส่วนอีก 60% นั้นเป็นผลกระทบที่มีต่อผู้ที่ไม่ดื่ม

“หากเปรียบสังคมนี้เหมือนบ้าน นายกฯ เองก็เหมือนหัวหน้าครอบครัว ต้องออกกฎ คำสั่งต่างๆ คุ้มครองไม่ให้ฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายใดเสียเปรียบ อย่าเห็นประโยชน์ของธุรกิจมากกว่าประชาชน น่าจะมีการพัฒนาทั้งเรื่องของธุรกิจแต่ต้องไม่ละเมิดต่อหลักศีลธรรม อย่างรัฐบาล 2 ชุดที่ผ่านมาถือได้ว่าเอาธุรกิจนำหน้าคุณธรรมในสังคม ผลที่ออกมาจึงทำให้เป็นอยู่เหมือนทุกวันนี้ ที่จะมีทั้งเรื่องของหวย เรื่องของบ่อน ไหนจะเป็นเรื่องของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากเป็นเช่นนี้อยู่ต่อไปรัฐบาลก็น่าจะไม่ได้อยู่ในสังคมนี้ได้นาน”

“ภาคธุรกิจต้องทำหน้าที่ของตนเอง แต่สิ่งที่เขากำลังเรียกร้อง หรือต้องการนั้นเป็นสิ่งที่เกิดปัญหาอย่างใหญ่หลวงแก่สังคม นักการเมืองในประเทศต้องไม่พูดอย่างทำอย่าง นักการเมืองต้องทำตัวเป็นผู้ใหญ่ต้องรู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ และให้ยึดถือคุณธรรมเป็นหลัก” นพ.บัณฑิต กล่าว

นพ.บัณฑิต กล่าวทิ้งท้ายว่า จากข้อมูลกรมสรรพสามิตได้รับเงินกว่า 7 หมื่นล้าน ซึ่งเป็นต้นทุน และกำไรที่ได้จากการขายสุรา แต่ผลที่รัฐต้องจ่ายให้กับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดื่มสุราของประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจ และปัญหาต่างๆ ทั้งอุบัติเหตุ การเจ็บป่วย พิการ และตาย จากเหตุของสุรานั้น รวมแล้วตกที่ 1.9 แสนล้านต่อปี ด้วยเหตุนี้จึงไม่เป็นการคุ้มกับการที่จะลงทุนกับเรื่องอบายมุขต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น