กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) จับมือ องค์กรเครือข่ายสตรี จัดงานวันสตรีสากล ประจำปี 2551 ชูประเด็น “พลังสตรี...พลังแห่งสันติภาพ” พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่บุคคลและหน่วยงานด้านการส่งเสริมสถานภาพสตรี และความเสมอภาพหญิงชาย คนงานจากหน่วยงานรัฐ-เอกชน ตบเท้ารับรางวัลเพียบ ปลัดฯ จรัญ เข้าป้ายบุคคลดีเด่นด้านการส่งเสริมความเสมอภาพ และสิทธิสตรี
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในขณะเป็นประธานพิธีเปิดงานวันสตรีสากล ประจำปี 2551 ว่า ปัจจุบันแม้ว่าสตรีจะได้รับโอกาสให้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาประเทศในทุกระดับมากขึ้น แต่ยังมีสตรีอีกมากที่ต้องเผชิญกับเงื่อนไขปัจจัยหลายประการที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสู่สถานภาพที่เท่าเทียมในมิติความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งในเรื่องของการได้รับความเป็นธรรมในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ อาหาร ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงของชุมชน และการมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นต้น ประเด็นเหล่านี้จะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้คนในสังคม ซึ่งองค์การสหประชาชาติถือว่าการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ เป็นการสร้างสันติภาพอีกรูปแบบหนึ่งในส่วนของรัฐบาลก็ตระหนักและให้ความสำคัญกับการพัฒนาสถานภาพสตรี โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในการส่งเสริมสถานภาพสตรี
“การที่จะบรรลุถึงเป้าหมายแห่งสันติภาพ หรือความมั่นคงของมนุษย์บนพื้นฐานของความเสมอภาคระหว่างหญิงชายได้นั้น แม้จะต้องใช้ระยะเวลา แต่รัฐบาลขอเน้นย้ำถึงเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นในอันที่จะดำเนินการต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาสถานภาพสตรี เพื่อให้สตรีได้ก้าวเข้ามามีบทบาทแห่งการเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาประเทศที่มีศักยภาพนำไปสู่การเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และการสร้างสันติภาพต่อไป” นายสมชาย กล่าว
นายสุธา ชันแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ภายในงานได้กำหนดให้มีพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่สตรี บุคคล และหน่วยงานดีเด่นด้านการส่งเสริมสถานภาพสตรีและความเสมอภาคหญิงชายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
สำหรับพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ ประจำปี 2551 มี สตรี บุคคล และหน่วยงานดีเด่น เข้ารับรางวัล รวมทั้งสิ้น 15 สาขา 20 รางวัล ดังนี้
1.สตรีดีเด่นในเวที / เครือข่ายระดับสากล ได้แก่ นางเรือนแก้ว กุยยานนท์ แบรนด์ท
2. หน่วยงานภาครัฐดีเด่นด้านการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย ได้แก่
2.1 กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
2.2 กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม
2.3 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
3.บุคคลในภาคเอกชนดีเด่นด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของสตรี ได้แก่ นางสาวเสาวลักษณ์ ทองก๊วย
4.หน่วยงานภาคเอกชนดีเด่นด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของสตรี ได้แก่ ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
5.สตรีดีเด่นด้านการส่งเสริมสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่
5.1 นางสาวรีฟ๊ะ วาหะ
5.2 นางสาวศุภวรรณ พึ่งรัศมี
6.บุคคลดีเด่นด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายและการคุ้มครองสิทธิสตรี ได้แก่ ศาสตราจารย์. (พิเศษ) จรัญ ภักดีธนากุล
7.ชุมชนนำร่องดีเด่นด้านการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรี ได้แก่ ชุมชนวัดเศวตฉัตร เขตคลองสาน
8.นักการเมืองท้องถิ่นสตรีดีเด่น ได้แก่ นางรัชนี แพ่งเกสร
9.ตำรวจหญิงดีเด่น ได้แก่ พันตำรวจโท หญิง ปวีณา เอกฉัตร
10.สตรีนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดีเด่น ได้แก่ นางสาวประภาจิต สว่างพัฒนา
11.นักธุรกิจสตรีดีเด่น ได้แก่ นางศิรินา โชควัฒนา ปวโรฬารวิทยา
12.สตรีดีเด่นด้านธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้แก่ นางละมุน เร่งสมบูรณ์
13.ยุวสตรีดีเด่น ได้แก่ นางสาวจิระนันท์ คันธี
14.สื่อมวลชนสตรีดีเด่น
14.1 สาขาวิทยุกระจายเสียง ได้แก่ นางฟองสนาน จามรจันทร์
14.2 สาขาโทรทัศน์ ได้แก่ นางสาวชวิดา วาทินชัย
15. สื่อสารมวลชนดีเด่นด้านการส่งเสริมศักยภาพสตรีและความเสมอภาคหญิงชาย
15.1 สื่อวิทยุกระจายเสียง / สื่อโทรทัศน์ ได้แก่ รายการ ภัยรายวัน
15.2 ละครโทรทัศน์ ได้แก่ ละครเรื่อง “สตรีที่โลกลืม”