xs
xsm
sm
md
lg

สพท.ตื่นจัดอบรมกองหนัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สพท.ตื่นจัดอบรมเอกชนทำความเข้าใจเรื่องขั้นตอนขออนุญาตถ่ายหนัง และ ร่างพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ... ชี้เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ด้านเอกชนอัดกฎหมายมีช่องโหว่ ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐมองภาพแคบเกินไป

วานนี้(31 ม.ค.51) ในงานจัดอบรม วิธีและขั้นตอนการขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ให้แก่ภาคเอกชนที่เป็นผู้ประสานงาน บริการชาวต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย นางธนิฎฐา มณีโชติ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการท่องเที่ยว(สพท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า จุดประสงค์ เพื่อให้ผู้ประสานงานและผู้ประกอบการ รับทราบเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.... ที่กำลังจะประกาศใช้ในเร็วๆนี้ รวมถึงให้เข้าใจถึงขั้นตอนและกฎระเบียบการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิดความรวดเร็วของขั้นตอนการยื่นขออนุญาต และ การติดต่อกับหน่วยงานต่างที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้การจัดอบรมดังกล่าว ถือเป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกจัดเมื่อปี กลางปี 2550 โดยผู้เข้าร่วมรับฟังครั้งนี้ กลุ่มหนึ่งเป็นผู้ประสานงานและผู้ประกอบการรายเก่าที่เคยเข้าร่วมอบรมเมื่อครั้งแรก แต่ยังไม่มีความเข้าใจเพียงพอ และ อีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ประสานงานรายใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในธุรกิจนี้ ให้ทุกคนมีความเข้าใจที่ตรงกัน รวมถึงการนำปัญหาที่เกิดจากขั้นตอนการขออนุญาต มาเล่าสู่กันฟังพร้อมวิธีการแก้ไข

***ขยายบริการวันสต็อปหนังยาว**
โดยนางธนิฎฐา กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้ จะไปสอดคล้องกับแผนงานของ สพท. ตรงที่ว่า ในปีนี้ สพท.จะเร่งขยายการให้บริการของ ศูนย์บริการอนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยแบบเบ็ดเสร็จ(One Stop Services) ในส่วนของ ละครโทรทัศน์ และ ภาพยนตร์เรื่องยาว เพื่อให้สามารถออกใบอนุญาตได้ภายใน 3 สัปดาห์ หลังจากยื่นเรื่อง จากปัจจุบันต้องใช้เวลา 1 เดือน ศูนย์ฯดังกล่าว ขณะนี้ เปิดให้บริการเฉพาะ การขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณา และ มิวสิควีดีโอ เท่านั้น

"ที่ผ่านมาใช้เวลาอ่านบทนาน แต่เพื่อประหยัดเวลา สพท.จะออกระเบียบข้อบังคับเบื้องต้น ของบทภาพยนตร์หรือบทละครที่จะมาขออนุญาต ว่าไม่ควรมีบทหรือภาพใดบ้าง เช่น ต้อง ไม่ขัดกับศีลธรรม และ ศาสนา เป็นต้น โดยกุมภาพันธ์นี้ จะเรียกบริษัทผู้ประสานงานมาหารือ ก่อนออกเป็นกฎปฎิบัติร่วมกัน คาดว่าจะให้บริการได้ภายในกลางปีนี้" นางธนิฎฐา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในปี 2550 รายได้จากภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย ทั้งปีอยู่ที่ 1,072.62 ล้านบาท ลดลงจากปี 2549 44.33% เพราะช่วงปลายปี ที่เกิดปัญหาผู้เขียนบทภาพยนตร์ของฮอลีวู๊ดมีการประท้วง ทำให้มีภาพยนตร์เรื่องยาวจากสหรัฐเลื่อนการเดินทางมาถ่ายทำในประเทศไทย 2 เรื่องเป็นเงินกว่า 700 ล้านบาท ตามที่เป็นข่าวไปแล้ว ซึ่งปีนี้ สพท. จะต้อง ปรับปรุงการทำงาน หลายด้าน โดยเฉพาะบริการและการอำนวยความสะดวก เพื่อจูงใจให้มีภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผู้สร้างย่านเอเชีย ดังนั้น ในปีนี้ สพท.จึงยังไม้ได้ตั้งเป้าหมายชัดเจน ว่าถึงสิ้นปีจะมีเม็ดเงินจากธุรกิจนี้เข้ามาถ่ายทำเป็นมูลค่าเท่าใด แต่เราต้องปูพื้นฐาน กระจายตลาดเพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งทั้งหมดน่าจะเห็นผลในปีถัดไป

*** ชี้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ชำนาญพอ***
ด้าน แหล่งข่าวจากภาคเอกชน ที่เป็นบริษัท รับประสานงานให้แก่ต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.... ยังมีช่องว่างที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศไทยได้อีกมาก ขณะเดียวกันมองว่า บุคลากรของภาครัฐ ที่ทำหน้าที่ในการพิจารณาบทภาพยนตร์ ยังไม่มีความสามารถเพียงพอในการตีความตามกฎหมาย หรือการนำเสนอข้อมูลที่เป็นทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อป้องกันความเสื่อมเสียต่อประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นหากได้ถ่ายทำโดยนำเสนอในแง่มุมของบริษัทผู้สร้างเท่านั้น

"ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ความสำคัญในรายละเอียดปลีกย่อยในบทภาพยนตร์ มากกว่า ภาพรวมของเนื้อเรื่อง เช่น การห้ามมีภาพ ,สิ่งของ หรืออ้างถึงบุคคล ในบทภาพยนตร์ ไม่ได้ดูองค์ประกอบใหญ่ของบทภาพยนตร์ทั้งหมด เพราะต้องเข้าใจว่า การทำภาพยนตร์ สามารถถ่ายทำได้จากหลายสถานที่แล้วนำมาตัดต่อ ซึ่งอาจทำให้คนดู เข้าใจว่าเหตุเกิดขึ้นในสถานที่นั้นจริง ทั้งที่บางบทใช้สถานที่ถ่ายทำในประเทศอื่นๆ ทำให้เมื่อภาพยนตร์ออกฉายแล้วเกิดความเสียหายกับประเทศไทย จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านนี้ต้องเป็นผู้รู้จริง และมองภาพกว้างได้"

โดยภาคเอกชนมองว่า สพท. และ หน่วยงานที่ออกกฎหมายฉบับนี้ อาจคำนึงถึงรายได้ ที่จะนำเข้าประเทศ มากเกินไป จนทำให้มองข้ามบ้างขั้นตอนออกไป ประกอบกับต้องเข้าใจว่า สังคมของคนไทย จะให้เกียรติแก้คนรู้จักคุ้นเคย จึงมีความอะลุ่มอล่วย ตรงนี้จะก่อเกิดผลดีและผลเสียได้เท่าๆกัน ไม่เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง พม่า และกัมพูชา ซึ่งกฎเกณฑ์เขาจะเข้มงวด และ มีการให้อินเซนทีฟในเรื่องอื่นๆแทน
กำลังโหลดความคิดเห็น