“จรัญ” ประชุมวางแนวทางป้องกันเจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายยัดข้อหาซ้ำรอยแก๊ง ตชด. ขณะที่ตัวเลขผู้ต้องขังทั่วประเทศร้องขอความเป็นธรรม 180 ราย ส่วนการจับกุมคดียาเสพติดเชื่อไม่เกิดฆ่าตัดตอนซ้ำ
วันนี้ (11 ก.พ.) นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมราชทัณฑ์ และผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อร่วมกันหาแนวทางช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากแก๊ง ตชด.ชุด ร.ต.อ.ณัฏฐ์ ชลนิธิวณิชย์ รวมถึงร่วมกันวางมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยการยัดข้อหา ทำร้ายประชาชน โดยเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นำเสนอสำหรับกำหนดเป็นนโยบายรัฐบาลต่อไป
นายจรัญ กล่าวว่า ขณะนี้กรมคุ้มครองสิทธิฯ ได้รวบรวมรายชื่อผู้ที่เข้าร้องทุกข์ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากแก๊ง ตชด.61 ราย ขณะที่กรมราชทัณฑ์รายงานว่ามีผู้ต้องขังร้องทุกข์ว่าถูกจับกุมโดยมิชอบ 180 ราย เป็นผู้ต้องขังในเรือนจำกลางสุราษฎร์ธานีมากที่สุดถึง 90 ราย ซึ่ง อยู่ระหว่างการจำแนกและจัดกลุ่มผู้ร้องเรียนเพื่อให้ได้ข้อมูลชัดเจนเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นผู้บริสุทธิ์ ที่ถูกยัดข้อหา ซึ่งต้องช่วยเหลือเยียวยาเต็มที่ กลุ่มที่ 2 เป็นผู้ที่เจ้าหน้าที่มีหลักฐานน่าเชื่อว่าเป็นผู้ค้ายาเสพติดจริงแต่วิธีการจับกุมไม่ถูกต้อง และถูกทำร้ายร่างกายขณะจับกุม ซึ่งคดียาเสพติดต้องดำเนินการต่อไป แต่ผู้เสียหายและครอบครัวจะได้รับการเยียวยาจากการถูกทำร้าย และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มนักโทษที่ไม่ได้ถูกทำร้ายหรือยัดข้อหา แต่ยื่นเรื่องร้องเรียนเพื่อผสมโรงซึ่งกลุ่มนี้จะต้องถูกตัดออกทั้งหมด
นายจรัญ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการป้องกันมีการเสนอให้แก้ไขกฎหมายให้มีความรัดกุม ไม่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ทำร้ายประชาชน และทำลายความน่าเชื่อถือต่อกระบวนการยุติธรรม อาทิ มาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมผู้ต้องหาคดียาเสพติดมีอำนาจควบคุมตัวระหว่างการสอบสวน 3 วันก่อนนำส่งพนักงานสอบสวนตามกฎหมายอาญา ซึ่งจะต้องทบทวนถึงความจำเป็น รวมถึงการขอกลับเข้ารับราชการของเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกไล่ออกในคดีทุจริต หรือกดขี่ข่มเหงประชาชน ซึ่งจะต้องมีมาตรฐานชัดเจนมากกว่าจะให้ต้นสังกัดใช้ดุลพินิจ นอกจากนี้จะผลักดันให้เกิดหน่วยงานกลาง ทำหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ของผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม
นายจรัญ ยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประกาศจะนำนโยบายปราบปรามยาเสพติดขั้นเด็ดขาดกลับมาใช้แก้ปัญหายาเสพติดให้หมดไปภายใน 90 วัน จนมีข้อวิตกว่าจะมีการฆ่าตัดตอนเกิดขึ้นอีกว่า ไม่น่าจะมีเหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นอีกแล้ว เพราะเราได้รับบทเรียนมาพอสมควร การประกาศเป้าหมายน่าจะถูกต้อง แต่วิธีการเชื่อว่าท่านคงจะหาวิธีที่อยู่ในมาตรฐานสากล ไม่คิดว่าจะปฏิบัติการอะไรให้เกิดเหตุซ้ำรอย