xs
xsm
sm
md
lg

สทศ.แฉไฮเทคใหม่ ใช้ทุจริตสอบโอเน็ต ให้ ตร.สาวต้นตอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สทศ.ประสานตำรวจสาวกรณีทุจริตสอบโอเน็ตผ่านนาฬิกามือถือ เชื่อไม่ใช่การโกงสอบธรรมดา แต่อาจจะทำกันเป็นขบวนการ เพราะทำมาแล้ว 4 วิชา จนมาพบในวิชาที่ 5 โดยเด็กสารภาพว่าซื้อนาฬิกามือถือมาเตรียมการเพื่อการนี้ เผยหลักฐานโกงชัด ยิงโค้ดเข้ามือถือ ผอ.สทศ.มั่นใจข้อสอบไม่รั่ว กระบวนการรักษาความลับรัดกุม ประสาน สกอ.จับตาเข้มสอบเอเน็ต คาดอาจมีการใช้อุปกรณ์ไฮเทคโกงสอบอีก

วันนี้ (6 มี.ค.) ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) นางอุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการ สทศ.เปิดเผยผลสรุปการจัดสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ประจำปีการศึกษา 2550 ว่า ในปีนี้ สทศ.ได้จัดสอบโอเน็ตในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งจัดสอบในวันที่ 29 ก.พ.-1 มี.ค.2551 และระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ในวันที่ 4 มี.ค.2551 โดยระดับชั้น ม.6 มีผู้เข้าสอบทั้งสิ้น 356,843 ราย ขาดสอบ 19,500 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.46 มีผู้ตกหล่น เนื่องจากไม่มีรายชื่อเข้าสอบประมาณ 800 คน ส่วนระดับชั้น ป.6 มีผู้เข้าสอบ 985,299 ราย ขาดสอบ 20,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.03 มีผู้ตกหล่น เนื่องจากไม่มีรายชื่อเข้าสอบประมาณ 10,000 คน

นางอุทุมพร กล่าวต่อไปว่า จากการประมวลปัญหาที่เกิดขึ้นของการสอบโอเน็ต ม.6 ในปีนี้พบว่า มีการพิมพ์ข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์ผิด 1 ข้อ จึงได้ยกประโยชน์ให้นักเรียนทุกคนได้รับคะแนนฟรี 2.5 คะแนน ส่วนกรณีผู้ประสบเหตุสุดวิสัยไม่สามารถเข้าสอบได้นั้น มีผู้ยื่นเรื่องขอสอบมาทั้งสิ้น 78 ราย ซึ่งทาง สทศ.จะจัดสอบให้กับเด็กทุกคน ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดสอบให้ได้ประมาณปลายเดือนมีนาคมนี้ และจะประกาศผลกลางเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กอีก 77 ราย ที่ยื่นเรื่องขอสอบในกรณีผู้ประสบเหตุสุดวิสัย แต่ สทศ.จะไม่จัดสอบให้เนื่องจากเหตุผลฟังไม่ขึ้น อาทิ สับสนว่าตัวเองจะต้องสอบหรือไม่ ติดภารกิจส่วนตัว จำวันสอบผิด รถเสีย พิมพ์บัตรเลขที่นั่งสอบจากอินเทอร์เน็ตไม่ได้จึงไม่มาสอบ เป็นต้น ส่วนกลุ่มผู้ที่ขาดสอบโอเน็ตด้วยเหตุสุดวิสัยในปีการศึกษา 2549 จำนวน 11 รายนั้น จะต้องนำเข้าพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการ สทศ. ในวันที่ 7 มี.ค.นี้ว่าจะจัดสอบให้หรือไม่
สำหรับกรณีที่ทุจริตในการสอบโอเน็ต ชั้น ม.6 นั้น ขณะนี้ สทศ.ได้รับรายงานจากศูนย์สอบ 3 ศูนย์ จากทั้งหมด 18 ศูนย์ทั่วประเทศ คือ ศูนย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์สอบสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และศูนย์สอบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปรากฏว่า ศูนย์สอบจุฬาฯ พบมีผู้ทุจริตทั้งหมด 6 ราย ใน 4 กรณี คือ 1.นักเรียน 2 คน เขียนคำตอบใส่ยางลบให้กันในห้องน้ำ พบในสนามสอบ ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา วิชาภาษาอังกฤษ

2.นักเรียนคนแรกทำข้อสอบเสร็จก่อนแล้วส่งคำตอบให้คนที่ 2 ซึ่งมีมือถือ 2 เครื่อง เครื่องหนึ่งปิดและวางไว้ใต้เก้าอี้ ส่วนอีกเครื่องวางไว้ระหว่างขา แล้วให้เพื่อส่งคำตอบผ่านทางโทรศัพท์มือถือ พบในสนามสอบ ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา วิชาภาษาอังกฤษ

3.นักเรียนเปิดมือถือไว้แล้วมีผู้โทรศัพท์เข้ามา พบในสนามสอบ ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา วิชาคณิตศาสตร์ และ

4.นักเรียนใช้นาฬิกามือถือเป็นเครื่องมือทุจริตตามที่ปรากฏเป็นข่าวผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์ไปก่อนหน้านี้ โดยนักเรียนคนดังกล่าวถูกจับได้ในวันที่ 1 มี.ค.ที่สนามสอบ ร.ร.เทพศิรินทร์ ภายในการสอบวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการสอบวิชาที่ 5 จากทั้งหมด 8 วิชา ทั้งนี้ จากการสอบสวนเบื้องต้นของคณะกรรมการประจำศูนย์สอบจุฬาฯ นักเรียนยอมรับว่าใช้วิธีดังกล่าวมาแล้วในการสอบทั้ง 4 วิชาก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ศูนย์สอบสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และศูนย์สอบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่มีพบมีการทุจริต แต่พบปัญหา เช่น แต่งกายไม่เรียบร้อย เป็นต้น และจากการโทรศัพท์สอบถามกรณีทุจริตจากสนามสอบในต่างจังหวัดก็ไม่มีรายงานการทุจริตแต่อย่างใด

“จากการสอบสวนนักเรียนคนดังกล่าวก็ยอมรับว่า มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า โดยซื้อนาฬิกามือถือดังกล่าวมาใช้รับข้อความหรือเอสเอ็มเอสเพื่อการทุจริตดังกล่าวโดยเฉพาะ แต่นักเรียนไม่ยอมซัดทอดต่อว่าผู้ส่งเอสเอ็มเอสเป็นใคร ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็พยายามสอบถาม แต่นักเรียนก็อ้างเพียงว่าเป็นเพื่อน โดยไม่ยอมบอกชื่อว่า แต่จากหลักฐานที่พบว่านักเรียนทำมาแล้ว 4 วิชา ทำให้สงสัยได้ว่าอาจจะไม่ใช่เพื่อนธรรมดา เพราะจากการกระทำมีการซักซ้อมล่วงหน้า คล้ายกับการทำเป็นขบวนการ ซึ่งการทุจริตลักษณะเป็นขบวนการนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการสอบเอนทรานซ์หลายปีก่อน อีกทั้งมีการตรวจเช็กโดยโทรกลับไปยังหมายเลขที่ส่งข้อความเข้ามาให้นักเรียนคนดังกล่าว ก็ปรากฏว่า ไม่สามารถติดต่อได้แล้ว ดังนั้น กรณีนักเรียนคนดังกล่าวนี้ คงจะต้องมีการประสานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อสืบสวนหาผู้กระทำผิดและนำมาดำเนินคดีทางอาญา แต่ทาง สทศ.จะได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ และให้กระทบต่อตัวนักเรียนน้อยที่สุด ซึ่งขณะนี้นาฬิกามือถือของกลางได้ให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเก็บรักษาไว้แล้ว” นางอุทุมพร กล่าว

นางอุทุมพร กล่าวอีกว่า จากกรณีที่นักเรียนใช้นาฬิกามือถือซึ่งเป็นอุปกรณ์ไฮเทคมาใช้ทุจริตในการสอบมีแนวโน้มว่าอาจกระทำเป็นขบวนการ ดังนั้นคิดว่าจะต้องประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อให้จับตาเป็นพิเศษในการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (เอเน็ต) ระหว่างวันที่ 8-9 มี.ค.เพราะคาดว่าอาจจะมีขบวนการที่ใช้อุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ มาใช้ทุจริตในการสอบเช่นเดียวกัน สำหรับการลงโทษนักเรียนที่ทุจริตนั้น กรณีนักเรียนที่ใช้นาฬิกามือถือทุจริตสอบโอเน็ตนั้น ส่วนตัวแล้วคิดว่าคงจะต้องปรับตกทุกวิชา แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องนำเรื่องนี้ รวมทั้งนักเรียนอีก 5 คนที่พบทุจริต เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร สทศ.ในวันที่ 7 มี.ค.นี้ เพื่อตัดสินว่าจะดำเนินการลงโทษอย่างไร

ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการป้องกันการทุจริตการสอบในครั้งต่อๆ ไป คงต้องให้ผู้คุมสอบดูแลเข้มงวดมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้คุมสอบก็ควรจะต้องรู้ทันเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย ส่วนที่จะห้ามไม่ให้เด็กนำนาฬิกาข้อมือเข้าห้องสอบด้วยนั้น ตนเห็นว่า คนเข้าสอบก็คงอยากจะดูเวลา แต่หากจะห้ามจริงสนามสอบก็ต้องมีนาฬิกาแขวนผนังให้ และต้องตั้งเวลาให้ตรงกัน สำหรับข้อเสนอให้ตัดสัญญาณมือถือนั้น ตนไม่เห็นด้วยเพราะความจำเป็นในการสื่อสารยังมีอยู่ ซึ่งบางครั้งเราแก้ปัญหาเด็กคนเดียวแต่ต้องไปกระทบกับเด็กจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม จากที่พบกรณีทุจริตการสอบในปีนี้ถือว่ามีจำนวนใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยปีการศึกษา 2549 พบเด็กทุจริต 9 ราย ซึ่งส่วนใหญ่กระทำผิดเนื่องจากนำมือถือเข้าห้องสอบแล้วลืมปิด นอกจากนี้จะมีการพิจารณาเพื่อแก้ปัญหา หากให้เด็กออกจากห้องสอบก่อน แล้วมีการส่งคำตอบให้กับคนอื่น ก็อาจจะให้ผู้เข้าสอบทุกคนออกจากห้องสอบพร้อมกันหลังจากหมดเวลาสอบเลย ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2553 อาจจะต้องออกข้อสอบเป็นอัตนัยเพื่อป้องกันการโกงด้วย

ต่อข้อถามว่า มีความเป็นได้มากน้อยแค่ไหนที่ข้อสอบจะเกิดการรั่วไหลจนนำไปสู่ขบวนการทุจริต ผอ.สทศ.กล่าวว่า ไม่ใช่ข้อสอบรั่ว เพราะสถานที่จัดพิมพ์ข้อสอบเป็นความลับ แม้แต่ต่างประเทศก็มาจัดพิมพ์ที่นี่ และในขั้นตอนการจัดส่งจะบรรจุใส่ซอง ปิดทับด้วยสติ๊กเกอร์ เมื่อถึงวันสอบผู้คุมสอบจะต้องเรียกเด็กนักเรียนมาดูว่าซองบรรจุข้อสอบไม่ถูกเปิดก่อนถึงวันสอบ ซึ่งกระบวนการข้อสอบรั่วไม่น่าจะมี แม้แต่ผู้ออกข้อสอบก็มีอยู่จำนวนไม่มาก และแต่ละคนจะออกข้อสอบเฉพาะบางวิชาเท่านั้น ซึ่งทุกคนจะออกข้อสอบหลายข้อเพื่อเป็นคลังข้อสอบ ดังนั้น ผู้ออกข้อสอบเองก็จะไม่ทราบว่า สทศ.จะหยิบเอาโจทย์ข้อไหนมาใช้บ้าง หากจะมีผู้ที่เห็นข้อสอบก็จะมีเพียงเจ้าหน้าที่พิสูจน์อักษร ซึ่งเป็นบุคคลที่ไว้ใจได้ และมั่นใจว่ากระบวนการรักษาความลับรัดกุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนักเรียนที่ใช้นาฬิกามือถือทุจริตการสอบโอเน็ตคนดังกล่าวนี้ เข้าสอบที่ศูนย์สอบจุฬาฯ สนามสอบโรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งมีนักเรียนจากโรงเรียน 4 แห่ง เข้าสอบ ได้แก่ โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนกรุงเทพการบัญชีวิทยาลัย โรงเรียนวัดสระเกศ โรงเรียนสายปัญญา ในพระบรมราชินูปถัมภ์
กำลังโหลดความคิดเห็น