รอง ผอ.สิ่งแวดล้อม กทม.เผยตั้งจุด DROP-OFF คัดแยกขยะตามห้างและร้านสะดวกซื้อต่างๆ ยังไม่ประสบผลสำเร็จ เหตุประชาชนให้ความสนใจน้อย และเจอ “เจ้าประจำ” เก็บไปก่อน โดยเก็บได้เพียง 7,525.40 กิโลกรัม ได้เงินมอบให้มูลนิธิชัยพัฒนา 36,783.91 บาท ขณะเดียวกัน เตรียมออกแบบถังขยะวางตามป้ายรถเมล์แบบใหม่ดีไซน์ให้ทันสมัย รณรงค์ให้คนคัดแยกขยะทิ้งมากขึ้น พร้อมเร่งปลูกฝังจิตสำนึกให้คนในองค์กร
นายธีระ ประสิทธิพร รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยความคืบหน้ากิจกรรม “ลดขยะ ลดโลกร้อน” ซึ่งเป็น 1 ในโครงการรณรงค์..หยุดเพิ่มความร้อนใส่กรุงเทพฯ ว่า หลังจากที่ กทม.ได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ ผลิตถังขยะและจัดตั้งถังรองรับขยะ 5 ประเภท ได้แก่ แก้ว โลหะ กระดาษ พลาสติก และกล่องนมหรือกล่องน้ำผลไม้ ตามจุด DROP-OFF ต่างๆ โดยขยะที่คัดแยกทั้งหมดจะนำไปขายไปให้กับบริษัท วงษ์พาณิชย์ จำกัด จากนั้นนำรายได้ไปมอบให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเริ่มกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค.2550 นั้น จากผลการสำรวจปรากฏว่าไม่ได้ผลเท่าที่ควรโดยเฉพาะช่วง 1-2 เดือนแรกที่เริ่มกิจกรรมเพราะประชาชนไม่ค่อยนำขยะมาทิ้งตามจุด DROP-OFF โดยปริมาณขยะตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค.2550 – 14 ก.พ.2551 จำนวนขยะที่คัดแยกได้จากห้างสรรพสินค้า 9 แห่ง 43 สาขาและร้านสะดวกซื้อ 1 แห่ง 50 สาขา มีจำนวน 7,525.40 กิโลกรัม ขายได้เป็นจำนวนเงิน 36,783.91 บาท จากขยะ 5 ประเภทแบ่งเป็น 1.ขยะประเภทกระดาษ 1,020.50 กิโลกรัม ขายได้ 3,340.20 บาท 2.ขยะประเภทพลาสติก 1,014.60 กิโลกรัม ขายได้ 11,377.50 บาท 3.ขยะประเภทโลหะ 142.70 กิโลกรัม ขายได้ 1,379.20 บาท 4.ขยะประเภทแก้ว 1,204.60 กิโลกรัม ขายได้ 1,001.72 บาท 5. ขยะจากกล่องนมหรือกล่องน้ำผลไม้ 10.40 กิโลกรัม ขายได้ 5.20 บาท และขยะอื่นๆ อีก 4,132.60 กิโลกรัม ขายได้ 19,680.07 บาท
“ถังขยะที่ตั้งเป็นจุด DROP-OFF หน้าร้านบางแห่งนั้นได้เก็บไปบ้างแล้ว เพราะไม่มีใครนำขยะมาทิ้งเลย อีกทั้งการเก็บขยะรีไซเคิลในห้างนั้นมีปัญหา เพราะมีคนนำไปทิ้งจริงแต่ก็มีคนมาเก็บไปเช่นกัน อีกทั้งการรับซื้อก็มีอยู่แล้วแม้จะไม่มีกิจกรรมนี้ ดังนั้นการทำตั้งจุดคัดแยกขยะเหมือนกับไปแย่งรายได้เขา”
นายธีระ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม การตั้งจุด DROP-OFF ก็จะเดินหน้าต่อเนื่องไป พร้อมกับจะเปลี่ยนถังขยะเป็นรูปแบบถุงใสที่วางอยู่ตามป้ายรถเมล์ด้วยการออกแบบถังขยะให้เป็น Street Furniture แยกเป็น 3 ประเภท คือ ถังขยะทั่วไป ถังขยะรีไซเคิล และถังขยะอันตราย พร้อมกับจะรณรงค์คัดแยกขยะตามตลาดสดต่างๆ และในองค์กรของกทม.ก่อนโดยจะเน้นการปลูกฝังจิตสำนึกให้กับทุกๆคน ส่วนรถขนขยะจะมีการปรับเปลี่ยนใหม่จากที่มีช่องสำหรับเก็บขยะทั่วไป ขยะอันตราย ก็จะเพิ่มช่องขยะรีไซเคิลเข้าไปด้วยซึ่งจะทำให้การจัดเก็บขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้น