xs
xsm
sm
md
lg

“อภิรักษ์” กำหนด Green Zone คุมสิ่งแวดล้อม “ถ.สุขุมวิท-พระราม 4-สีลม-วิทยุ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กทม.กำหนด Green Zone ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมเริ่มที่โซนกรุงเทพใต้ เริ่มถนนสุขุมวิท พระราม 4 สีลม วิทยุ สาทร พร้อมเดินหน้าขยายพื้นที่สีเขียว ทั้งการเปลี่ยนที่รกร้างเป็นสวนสาธารณะเพิ่ม ขยายจุดคัดแยกขยะเข้าสู่อาคารสำนักงานต่างๆ กว่า 5,000 แห่ง ขณะที่ “อภิรักษ์” ยันการปรับเปลี่ยนการทำงานของทีมที่ปรึกษาใหม่จะช่วยสร้างความกระฉับกระเฉงในการทำงาน และไม่ได้ตั้งรับกับรัฐบาลใหม่พร้อมเดินหน้าเต็มสูบช่วงสุดท้ายก่อนหมดวาระ

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงภายหลังการประชุมคณะผู้บริหาร กทม.ว่า กทม.จะกำหนดพื้นที่ Green Zone เพื่อระบุว่า พื้นที่ใดเป็นจุดที่จัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ได้แก่ พื้นที่ที่ได้ดำเนินการปรับสภาพแวดล้อมแล้ว เช่น ปลูกต้นไม้ ปรับปรุงสวนเกาะกลาง สิ่งประดับทางเท้า หรือถนนที่มีความเป็นระเบียบแล้ว รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่มีการจัดการด้านคุณภาพอากาศ การควบคุมมลพิษและฝุ่นละออง ตลอดจนการขีดสีตีเส้นพื้นผิวจราจร เป็นต้น

โดยจะนำร่องที่กลุ่มกรุงเทพใต้ 11 เขต ประกอบด้วย ปทุมวัน บางรัก สาทร บางคอแหลม ยานนาวา คลองเตย วัฒนา พระโขนง สวนหลวง บางนา ประเวศ ซึ่งมี นายสุกิจ ก้องธรนินทร์ เลขาผู้ว่าฯ กทม.เป็นประธาน นางวรรณวิไล พรหมลักขโณ รองปลัด กทม.เป็นผู้ช่วย และ นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ รองผู้ว่าฯ กทม.เป็นที่ปรึกษา

ทั้งนี้ จะมีการกำหนดตัวชี้วัดในแต่ละเรื่องโดยจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ถนนสุขุมวิท พระราม 4 สีลม วิทยุ และถนนสาทร จากนั้นค่อยนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ที่บริเวณตอม่อรถไฟฟ้าถนนสุขุมวิทได้มีการทำสวนแนวตั้งไปตลอดเส้นทางแล้ว

นายอภิรักษ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2550 กทม.ได้ดำเนินการจัดทำสวนแนวตั้งเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวไปแล้ว 840 จุด แยกเป็นสวนแนวตั้งบริเวณป้ายรถเมล์ 753 จุด สวนแนวตั้งบริเวณตอม่อ 87 จุด และจะขยายเพิ่มเติมในบริเวณอื่นๆ ต่อไป ส่วนที่มีผู้ร้องเรียนเรื่องต้นไม้ที่จัดบริเวณสวนแนวตั้งเหี่ยว หรือหายไปก็ได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว นอกจากนี้ กทม.กำลังหาที่ว่าง รกร้าง เพื่อเปลี่ยนที่รกร้างเป็นสวนสาธารณะให้ได้ 30% ทั่วกรุงเทพฯ จำนวน 3,000 ไร่ เฉลี่ยปีละ 750 ไร่ ให้มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากร 3.30 ตร.ม.ต่อคน ซึ่งในปี 2548 พื้นที่ 678.94 ไร่ ปี 2549 พื้นที่ 698.50 ไร่ ปี 2550 พื้นที่ 762.46 ไร่ รวม 2,139.90 ไร่ โดยในปีนี้จะดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

นอกจากนี้ กทม.ยังได้คัดเลือกตลาดจำนวน 5 แห่ง เพื่อนำมาเข้าโครงการคัดแยกขยะนำไปผลิตแก๊สชีวภาพ ได้แก่ ตลาดประชานิเวศน์ ตลาดคลองเตย ตลาดบางกะปิ ตลาดปากคลองตลาด และ ตลาดบางแค โดยจะนำข้อมูลที่ได้มาบันทึกลงในแผนที่ GIS เพื่อให้ผู้อำนวยการเขตและประธานกลุ่มโซนติดตามการทำงาน ขณะเดียวกันได้นำข้อมูลจาก UNDP มาศึกษาเกี่ยวกับการนำขยะไปผลิตเป็นพลังงานทางเลือกคาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ผลการศึกษาจะสำเร็จ ส่วนการตั้งจุดคัดแยกขยะที่ปัจจุบันนี้ได้มีการตั้งที่ห้างสรรพสินค้าจำนวน 43 แห่ง ร้านสะดวกซื้อจำนวน 75 แห่ง ไปแล้วนั้นจะขยายผลไปยังอาคารสำนักงานต่างๆ อีก 5,682 แห่ง และชุมชนอีก 1,451 แห่ง รวมถึงโรงพยาบาลสังกัดกทม.อีก 9 แห่ง และศาลาว่าการ กทม.2 ด้วย

ต่อข้อถามที่ว่า ที่มีการปรับเปลี่ยนการทำงานของทีมที่ปรึกษาใหม่โดยการแบ่งกลุ่มโซนให้ดูแลนั้น เพื่อเป็นการตั้งรับกับรัฐบาลชุดใหม่และให้มีผลงานออกมาในช่วงสุดท้ายก่อนหมดวาระในเดือนสิงหาคมนี้นั้น นายอภิรักษ์ กล่าวว่า “เราทำงานเชิงรุกไม่ได้ตั้งรับเพราะเขาเลือกผมมาทำงาน 4 ปี เวลาที่เหลืออยู่ก็จะทำเต็มสูบแน่นอน และการปรับทีมแบบนี้จะทำให้เกิดความกระฉับกระเฉงในการทำงาน”
กำลังโหลดความคิดเห็น