xs
xsm
sm
md
lg

แอบหนี (เข้า) โรงเรียน ส่องแนวสอบดนตรีที่มหิดล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความพยายามในการแก้ปัญหาดนตรีในระดับชาติเริ่มขึ้น เมื่อเห็นว่า การจัดการเรียนการสอนในแบบเดิมๆ ที่เริ่มบรรจุหลักสูตรดนตรีไว้ในระดับมหาวิทยาลัยนั้น ทำให้ความหวังที่ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางของดนตรีระดับเอเชียก็คงอยู่ไกลเกินไปเสียแล้ว วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงปลุกปั้นสถาบันดนตรีเพื่อสร้างนักดนตรีมืออาชีพ และพัฒนาการดนตรีของไทย

และจากผลพวงของกระแสจากภาพยนตร์เรื่อง “Season Change" เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย”ทำให้หลายต่อหลายคนคิดว่านี่แหละจุดประกายสำคัญทำให้เด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจดนตรีมากขึ้น แต่แท้จริงแล้ว ตลอดระยะ 14 ปีที่มีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์นั้น กระแสตอบรับของนักดนตรีรุ่นเยาว์ค่อยๆ ก่อตัว และเริ่มแข็งแรงขึ้นในวันนี้

 
 

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล

ดร.จิรเดช เสตะพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการประพันธ์เพลง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความโดดเด่นของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ที่ทำให้แตกต่างจากสถาบันดนตรีอื่นๆ นั่นก็คือ สถานที่อันสามารถรองรับนักเรียนได้ บรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาศักยภาพ มีครูชาวไทยและชาวต่างชาติมากที่สุด และสิ่งสำคัญสำหรับวิทยาลัยก็คือ การมีนักเรียนที่ดีและมีคุณภาพ

เนื่องจากการเล่าเรียนดนตรีปัจจุบันมีความซับซ้อนกว่าสมัยก่อนมาก เพราะต่อไปนี้ดนตรีจะเข้าไปมีอิทธิพลในการประกอบอาชีพมากขึ้น ดังนั้นการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์จึงแบ่งเป็น 7 สาขา ได้แก่ การปฏิบัติดนตรีตะวันตก (Classic), ดนตรีแจ๊ส(Jazz), การปฏิบัติดนตรีตะวันออก (ไทยและพื้นบ้าน), ดนตรีสมัยนิยม (Music Entertainment), การประพันธ์ดนตรีตะวันตก, เทคโนโลยีการดนตรี และธุรกิจการดนตรี ซึ่งการสอบเข้าเรียนต่อเรียกว่าหินทีเดียว

“วิทยาลัยฯ จะเปิดให้สอบเข้าทั้ง 3 ระดับ คือ เตรียมอุดมศึกษา ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกด้วยกัน 3 รอบ เพราะมีน้อยคนที่จะสอบรอบเดียวแล้วผ่านเลย ด้วยข้อสอบที่มีทั้งทฤษฎีดนตรีถ้าเรียนตะวันออกก็สอบทฤษฎีตะวันออก จะเรียนคลาสสิกก็ต้องสอบทฤษฎีตะวันตก สำหรับการปฏิบัตินั้น ดนตรีตะวันตก และการประพันธ์เพลงต้องสอบเครื่องดนตรีชิ้นใดก็ได้ในวงออเคสตร้า ดนตรีสมัยนิยม แจ๊ส ก็จะใช้เครื่องดนตรีที่ใช้ในวงทั่วไปแต่เล่นในอารมณ์แจ๊ส ป๊อบ หรือร็อค ต้องให้แตกต่างจากคลาสิค สำหรับธุรกิจดนตรี และเทคโนโลยีดนตรีจะสอบเครื่องดนตรีชิ้นใดก็ได้ และสุดท้ายสอบโสตทักษะ ซึ่งเด็กส่วนใหญ่จะตกม้าตายตอนสอบโสตทักษะนี่แหละ” อาจารย์นักประพันธ์เพลง กล่าว

 
“ด่าน 18 อรหันต์” ของนักเรียนดนตรี

กว่าจะฝ่าด่านเข้าไปเป็นนักเรียนดนตรีได้นั้น เรียกว่ายากเย็นจนสามารถพูดได้ว่า เป็นการฝ่า “ด่านสิบแปดอรหันต์” กันเลยทีเดยว เพราะสาขาวิชาด้านการดนตรีที่วิทยาลัยดุริยางศิลป์แห่งนี้มีหลากหลายถึง 7 สาขา ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลย เพราะฉะนั้นกติกาต่างๆ ย่อมไม่ธรรมดาแน่นอน

การสอบทฤษฎีดนตรี ซึ่งเป็นข้อเขียนของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหิดลตัดที่ 75% ซึ่งสร้างเสียงบ่นงึมงำให้นักเรียนได้ไม่น้อย แต่เมื่อฟังเหตุผลที่ว่า หากเกณฑ์มาตรฐานต่ำกว่านี้จะทำให้การดึงความรู้ออกมาใช้ของนักเรียนช้ากว่าที่จะเป็น และพัฒนาได้ช้ากว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน ฉะนั้นเมื่อตัดสินใจมาเรียนดนตรีแล้ว ความรู้พื้นฐานของดนตรีจะต้องแน่นระดับหนึ่ง แต่ทฤษฎีดนตรีมักจะไม่เป็นปัญหาสำหรับเด็กไทยเท่าใด หากแต่จะหนักที่ปฏิบัติและโสตทักษะ

สำหรับข้อทดสอบปฏิบัติจะแบ่งเป็นทั้งหมด 4 ห้อง ได้แก่ ห้องสอบดนตรีคลาสิค ห้องแจ๊ส ห้องดนตรีไทย และห้องดนตรีสมัยนิยม ดังนั้นในวันสอบก็จะเห็นเด็กในชุดนักเรียนหอบหิ้วเครื่องดนตรีประจำตัวมา ใครเลือกสาขาใดก็เดินเข้าสอบในห้องนั้น แต่มีนักเรียนหลายคนที่พลาดท่าเพราะเข้าห้องสอบผิด

“กรณีเข้าห้องสอบผิดมีให้เห็นมาแล้วทุกปี เลยกลายเป็นสอบตก ฉะนั้นนักเรียนจะต้องตรวจสอบให้ดี อย่าตื่นเต้นหรือรีบร้อน เพราะข้อสอบแต่ละห้องจะไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่อยากจะแนะนำสำหรับนักเรียนที่จะมาสอบดนตรีไม่ว่าระดับใด โสตทักษะเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับนักดนตรี ซึ่งวิธีการสอบคือ ให้นักเรียนดูโน้ต แล้วให้ปรบมือตามจังหวะ จากนั้นให้ดูโน้ตอีกครั้งแล้วร้องทำนองตามโน้ต จดตัวโน้ตจากการฟัง การสอบปฏิบัติและโสตทักษะนั้นหากเป็นวิชาปฏิบัติดนตรีมาตรฐานจะสูงมาก แต่ถ้าเป็นสาขาเทคโนโลยีดนตรี และธุรกิจดนตรีทักษะทางดนตรีไม่ต้องสูงเทียบเท่ากับเอกดนตรีก็ได้ หากแต่ต้องมีความรู้ด้านสาขาที่ต้องเรียนพอสมควร เพราะจะมีการสอบปฏิบัติด้วย” ดร.จิรเดช กล่าวย้ำ

 
 
เช็คสภาพใจ ใช่ดนตรีหรือเปล่า?

อ.กฤต บูรณะวิทยวุฒิ อาจารย์ประจำภาควิชาดนตรีตะวันตก กล่าวว่า เมื่อนักเรียนผ่านข้อเขียน ปฏิบัติแล้ว ก็ต้องเข้าสอบสัมภาษณ์ ซึ่งจะเป็นการสอบที่อบอุ่นมากๆ หลังจากเจอด่านหินๆ มาตลอด เพราะขั้นนี้จะมีผู้ปกครองของนักเรียนเข้ามานั่งด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้กำลังใจและรับรู้ว่าผู้ปกครองเต็มใจที่จะให้ลูกหลานเรียน รวมถึงเป็นการเช็กสภาพจิตใจ สภาพการเงิน และทัศนคติของพ่อแม่ที่มีต่อดนตรีด้วย

“การสัมภาษณ์จะทำให้วิทยาลัยฯรู้ว่านักเรียนคนใดต้องการการสนับสนุนด้านใดเป็นพิเศษ อาจารย์จะได้เห็นศักยภาพของนักเรียนตั้งแต่ตอนสอบ ดังนั้นการสอบสัมภาษณ์ก็เป็นตัวช่วยในการให้ทุนนักศึกษาใหม่ด้วย”

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถือว่าสถาบันดนตรีที่วางรากฐานไว้เพื่อจะทำให้ศักยภาพนักดนตรีไทยเทียบชั้นนานาชาติ จึงสร้างนักเรียนตั้งแต่ระดับเตรียมอุดมศึกษาและในอนาคตกำลังจะมีนักเรียนดนตรีระดับอนุบาลทีเดียว

เห็นได้ว่าการศึกษาดนตรีเพื่อที่จะเป็นนักดนตรีที่ดีและมีศักยภาพนั้นกว่าจะเข้าเรียนได้ก็เล่นแทบอ่วมทีเดียว แต่เมื่อได้เรียนแล้วการพัฒนาฝีมือด้วยการฝึกฝนนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นหมอ หรือนักดนตรี การจะได้มาซึ่งคำว่ามืออาชีพไม่มีอะไรที่ยากน้อยไปกว่าอะไรเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น