ม.มหิดล เผยวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก 4 สายพันธุ์ สำเร็จแล้ว ปลอดภัยได้ผลดี เชื่อลดผู้ป่วยได้มากกว่า 90% เตรียมจ่อป้อนอุตสาหกรรม แต่ยังขาดโรงงานผลิตวัคซีน พร้อมกระตุ้นรัฐบาลอนุมัติงบประมาณ คาด 1 ปีเสร็จ ระบุคุ้มค่าการลงทุนแน่นอน เพราะอนาคตเนื่องจากปัญหาโลคร้อนและการขยายตัวของเมืองใหญ่ จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกรุนแรงอย่างมาก
นพ.สุธี ยกส้าน หัวหน้าหน่วยงานวิจัยโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า งานวิจัยการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกให้เป็นวัคซีนต้นแบบของเชื้อไวรัสเด่งกี่ ทั้ง 4 สายพันธุ์ ซึ่งเริ่มมีการทดลองมาตั้งแต่ปี 2524 ทำให้ได้วัคซีนต้นแบบชุดแรก และสามารถส่งออกพัฒนาในระดับอุตสาหกรรมในต่างประเทศ ขณะที่ได้มีการพัฒนางานวิจัยวัคซีนต้นแบบชุดที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย เชื้อไวรัสเด่งกี่ 4 สายพันธุ์ ซึ่งเชื้อที่ใช้ในการทดลองเป็นเชื้อเป็นที่ผ่านกระบวนการทดลองในห้องปฏิบัติการในหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง และในอาสาสมัครทดลองที่เป็นมนุษย์ เพื่อพัฒนาไปสู่ระกับอุตสาหกรรมประสบผลสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ พบว่า วัคซีนได้ผลดี มีความปลอดภัยสูง ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกชุดนี้ถือว่าดีกว่าวัคซีนชุดแรก
“ในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกจะฉีด 1-2 เข็ม และต้องฉีดทุกๆ 8 ปี ควรฉีดในเด็กก่อนวัยเรียน หรือประมาณ 3 ขวบ ซึ่งช่วงที่เด็กเป็นโรคไข้เลือดออกสูงสุดอยู่ที่ระหว่าง 3-9 ปี โดยใช้ปริมาณวัคซีนขนาด 0.5 ซีซี ส่วนผู้ใหญ่ฉีดวัคซีนปริมาณ 1 ซีซี หากมีการฉีดวัคซีนแล้ว จะช่วยให้ผู้ป่วยลดลงเกินกว่า 90% ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เตรียมเทคโนโลยีการผลิต 2 วิธี วิธีแรกเพาะเลี้ยงในขวดพลาสติกพิเศษ สามารถผสมเป็นวัคซีนได้ถึง 1-2 แสนโดส ส่วนวิธีที่ 2 เป็นการเพาะเลี้ยงด้วยวิธีไบโอรีแอกเตอร์ (Bioreactor) หรือการเพาะเชื้อในขวดหมัก ซึ่งจะผลิตได้ครั้งละจำนวนมากหลายล้านโดส” นพ.สุธี กล่าว
“ผมได้รายงานผลความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนให้กับ ศ.คลินิก นพ.ปิยสะกล สกลสัตยาทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลไปแล้ว โดยวัคซีนพร้อมที่จะป้อนในระดับอุตสาหกรรม แต่ปรากฏว่า ประเทศไทยขาดโรงงานผลิตวัคซีนที่ใช้เซลล์ อีกทั้งโรงงานที่มีอยู่ในประเทศยังไม่มีแห่งใดที่ได้รับมาตรฐานการผลิตที่ดี หรือจีเอ็มพี ซึ่งนี่คือ ความล้าหลังของไทย ที่สำคัญปัญหานี้ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะวัคซีนไข้เลือดออกเท่านั้น แต่เป็นปัญหากับงานวิจัยวัคซีนใหม่ๆ ทุกชนิด ที่มีการคิดค้นพัฒนา ตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการแต่ก็ต้องขึ้นหิ้งไปเลย เพราะไม่มีโรงงานในระดับอุตสาหกรรม ดังนั้น มหาวิทยาลัยมหิดลจึงพยายามสร้างโรงงานวัคซีน ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบแต่ยังไม่มีเงิน จึงอยากจะกระตุ้นให้รัฐบาลอนุมัติงบในการสร้างโรงงานวัคซีนจำนวน 80-100 ล้านบาท ซึ่งไม่มากและคุ้มค่ากับการลงทุน โดยตามแผนวัคซีนชาติได้มีการนำเสนอไปแล้วตั้งแต่ปี 2548 ทั้งนี้ โรงงานจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 8 เดือนและตรวจรับรองคุณภาพอีกประมาณ 4 เดือน ไม่เกิน 1 ปี ก็จะมีโรงงานวัคซีนเกิดขึ้น” นพ.สุธี กล่าว
นพ.สุธี กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศเวียดนาม อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย มีโรงงานวัคซีนเกิดขึ้นนานแล้ว อีกทั้งยังรับจ้างผลิตวัคซีนส่งขายในต่างประเทศ ขณะที่ฟิลิปปินส์โรงงานวัคซีนกำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ซึ่งหากประเทศไทยไม่มีโรงงานวัคซีนเป็นของตัวเอง ก็จะทำให้การยกระดับศักยภาพการผลิตยากลำบาก นักวิจัยในประเทศอาจต้องหนีไปให้ต่างประเทศเป็นผู้ผลิตก็เป็นได้
นพ.สุธี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ปัญหาโลกร้อนจะทำให้พื้นที่ในการแพร่ระบาดขยายเพิ่มขึ้น และการที่เมืองใหญ่ๆ จะมีการขยายขนาดทำให้คนกระจุกตัวในเมืองมากขึ้น เช่น ในอนาคต 10-15 ปี กทม.จะมีประชาชนหนาแน่น 15-20 ล้านคน จะทำให้ยุงลายสามารถแพร่เชื้อได้ดีขึ้น ส่งผลให้มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ เฉลี่ยประเทศไทยมีผู้ป่วยไข้เลือดออกปีละ 4 หมื่นถึง 1 แสนคน และจะมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการอีก 3 เท่า ของผู้ป่วยทั้งหมด
“มั่นใจได้ว่า จะยังไม่มีเชื้อไวรัสเด่งกี่ไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นในช่วงนี้แน่นอน เพราะเชื้อไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่สมมติหากเกิดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ขึ้น ก็ไม่ต้อง ตกใจเพราะเทคโนโลยีที่เรามีสามารถต่อยอดพัฒนาวัคซีนได้อย่างรวดเร็วภายใน 1 ปี หากเรายืนได้ด้วยตัวเองมีนวัตกรรม เทคโนโลยีของตัวเองไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่มีปัญหา” นพ.สุธีกล่าว