นักวิชาการ จวกผู้นำประเทศไม่ให้ความสำคัญด้านการศึกษา เน้นชูนโยบายประชานิยม ซึ่งชาติจะไม่ได้อะไรเลย โครงการ 1 อ.1 ทุน เป็นประโยชน์ส่วนบุคคล เด็กเรียนจบจะทำงานในเมืองไม่กลับไปพัฒนาบ้านเกิด ขณะที่ กรอ.แค่เพิ่มคนเรียนสูงขึ้นแต่ไร้คุณภาพ แนะผู้นำควรกำหนดทิศทางการศึกษาให้ชัดเจนว่าจะผลิตคนอย่างไร เสนอให้งบโรงเรียนชนบทมากกว่าโรงเรียน กทม.และในเมือง คาดว่า 5 ปีจะเห็นความก้าวหน้าของนักเรียนชนบท
ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดี ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ได้นำเสนอรายงานการวิจัย เรื่องแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยสู่สากล : จากการเปรียบเทียบ 6 ประเทศ คือ จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลี ฟินแลนด์ เยอรมนี ว่า จากการวิจัยพบ 6 ประเทศมีระบบการจัดการศึกษาจะที่มีลักษณะเฉพาะตัว แต่ผลที่ออกมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ส่วนใหญ่ให้ผู้เรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ รู้จักวิธีแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง มีความคิดสร้างสรรค์ พร้อมเน้นย้ำเป็นพลเมืองดีของสังคม ซื่อสัตย์ มีคุณธรรมสูง มีความรับผิดชอบ ที่สำคัญรักชาติ ขณะที่การจัดการศึกษาของไทยไม่มีความชัดเจนยังแกว่งไปแกว่งมาไม่รู้ว่าจะไปทิศทางใด
ที่สำคัญ คือ ผู้นำประเทศไม่ได้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างเด่นชัด สังเกตได้จากคนที่มานั่งบริหารส่วนใหญ่เก่งการเมืองแต่ไม่ได้เน้นด้านการศึกษา มิหนำซ้ำระบบการผลิตครูก็มีการคัดเลือกคนเก่งมาเรียนครู
ส่วนนโยบายด้านการศึกษาขณะนี้เป็นนโยบายเชิงการเมืองมากกว่าต้องการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งนโยบายส่วนใหญ่เน้นประชานิยม นำเอาโครงการเก่าสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เช่น เรียนฟรี 1 อำเภอ 1 ทุน เป็นต้น ในฐานะผู้นำรัฐบาล ควรจะต้องมาคิดภาพรวมว่าต้องการให้ประเทศชาติเดินไปอย่างไร แล้วค่อยเอาข้อสรุปตรงนี้มาสร้างนโยบายการศึกษา
“โครงการประชานิยม อย่างเช่น 1 อำเภอ 1 ทุน เป็นประโยชน์ส่วนบุคคลแต่ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษา แม้วัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการให้เด็กเรียนจบแล้วกลับไปพัฒนาท้องถิ่น แต่ความจริงคือเมื่อเด็กเรียนจบเด็กจะไม่กลับไปทำงานในท้องถิ่น หรือการฟื้นทุน กรอ. ทำให้มหาวิทยาลัยขยายกำลังมากแต่ขาดคุณภาพ แล้วผมถามว่าจะให้เด็กเรียนมากไปทำไม ถ้าการเรียนนั้นไม่มีคุณภาพ จบออกมาแล้วหางาทำไม่ได้ คนก็จะเรียนเพิ่มไปจนถึงปริญญาโทและปริญญาเอก”
ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าสิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือ ขยายการศึกษาให้ทั่วถึงและพัฒนาโรงเรียนในชนบทจัดการศึกษาให้มีคุณภาพในเมือง อย่างประเทศฟินแลนด์ คุณภาพในเมืองกับชนบทต่างกันไม่ถึง 5% จึงมองน่าจะทุมงบประมาณไปยังโรงเรียนต่างจังหวัดมากกว่าให้งบ กทม.และโรงเรียนในตัวเมือง อย่างจัดสรรงบให้โรงเรียน กทม.และตัวเมือง1 พันบาท ควรให้งบโรงเรียนชนบท 1 หมื่นบาท เพื่อให้โรงเรียนนำไปปรับปรุงอาคารสถานที่ ปรับปรุงการเรียนการสอน จัดซื้อสื่อที่มีคุณภาพ ทำเช่นนี้ มั่นใจว่าภายใน 5 ปีจะเห็นผลว่าโรงเรียนชนบทมีการพัฒนาขึ้น
ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าวว่า ตนจะสรุปผลวิจัยแล้วเสนอที่ประชุม สกศ.คือ 1.หาคนเก่งมาสู่วิชาชีพครู 2. ควรจัดสรรงบประมาณไปยังต่างจังหวัดมากกว่าโรงเรียนในเมือง และ กทม. 3.ต้องปรับวิธีคิดในการสร้างบุคลากรคนใหม่ โดยจะนำวิธีการสร้างคนของ 6 ประเทศมาเป็นต้นแบบ 4.ต้องปลูกฝังให้คนมีความรับผิดชอบสูงขึ้น 5.สอนให้คนรู้สึกรับผิดชอบอย่างจริงจัง และมีความอดทน จากนั้นจะได้นำเสนอ รมว.ศธ.ต่อไป