“อภิรักษ์” ยันไม่สนแนวคิด “เฉลิม” แบ่งการปกครอง กทม. เพราะไม่สอดคล้องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นพร้อมมอบสถาบันพัฒนาเมือง กทม.ศึกษาการบริหารจัดการ กทม.ให้เทียบชั้นเมืองใหญ่
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกทม.ว่า ที่ประชุมคณะผู้บริหารได้มีการหารือแนวทางการบริหารจัดการกทม.ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการสถาบันพัฒนาเมือง หรือ Urban Green Development Institution (URB-GREEN) ของ กทม.โดยมีนายวรากรณ์ สามโกเศศ อดีตอธิการบดี ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ และรมช.กระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานคณะกรรมการฯ โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากสถาบันที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง เช่น สถาบันพระปกเกล้า ม.ธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันบัณทิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า โดยคณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่นำผลการศึกษาแนวพัฒนาเมืองใหญ่จากส่วนต่างที่ กทม.ศึกษาไว้ คือ
1. การวางตัวให้เป็นศูนย์กลางแห่งภูมิภาคเทียบกับมหานครต่างๆ ในเอเชียของสำนักผังเมือง กทม.ศึกษา 2.ข้อมูลที่คณะผู้บริหาร กทม.ได้เคยหารือกับคณะทำงานเรื่องการศึกษาภาคมหานคร ประกอบด้วย กทม.และ 5 จังหวัดปริมณฑล คือ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรสาคร และนครปฐม โดยศึกษาว่าเมืองใหญ่ทั่วโลก อาทิ โตเกียว ปารีส หรือลอนดอนมีการขยายตัว และพัฒนาเมืองอย่างอย่างไร และ 3.ข้อมูลเดิมที่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เคยศึกษาไว้คือ เรื่องของสถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพราชการ (สปร.) ซึ่งเป็นข้อมูลที่เคยศึกษาแนวทางที่ปรับปรุงการบริหารราชการมหานครภายใต้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ.2528 ซึ่งโดยหลักการแล้วเป็นเรื่องการพิจารณาถึงบทบาท กทม.เรื่องกระจายอำนาจ เพื่อที่ทำให้ กทม.มีความเข้มแข็ง มีความพร้อมในเรื่องบริหารจัดการมากขึ้น
นายอภิรักษ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้จะไม่นำแนวคิดของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ที่มีแนวคิดให้มีการตั้งกระทรวงนครหลวง 50 เขต มีรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารจัดการ มีการรวมเขตรอบตะเข็บปริมณฑลมาเป็นส่วนหนึ่ง และนายกเทศบาลแต่ละเขตมาจากการเลือกตั้ง พร้อมทั้งทำการแบ่งพื้นที่ กทม.ออกเป็น 4 ส่วน คือ ฝั่งพระนคร 3 ส่วน และฝั่งธนบุรี 1 ส่วน แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ขึ้นมากำกับดูแล 4 คน ให้สถาบันพัฒนาเมืองไปศึกษาเพื่อนำมาดำเนินการตามแต่อย่างใด เพราะเห็นว่า แนวทางที่ดำเนินการมานั้นมีความชัดเจนในเรื่องของการบริหารและจัดการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และเน้นความเป็นอิสระและเข้มแข็ง และตนเองก็เคยพูดไปแล้วว่าแนวคิดของ ร.ต.อ.เฉลิมไม่ได้สอดคล้องกับแนวทางการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง อีกทั้งการบริหารงาน กทม.ในปัจจุบันนั้นก็มีองค์กรที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่ตรวจสอบอยู่แล้ว คือ สภากรุงเทพมหานคร ซึ่งสภากทม.ก็เป็นองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนอยู่แล้ว
“แนวคิดดังกล่าวไม่สอดคล้องกับแนวทางกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง และจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า รูปแบบการบริหารจัดการที่นำมาจากบ้านพี่เมืองน้องก็ชัดเจน มีการการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น มีความเป็นอิสระ และเข้มแข็ง และที่สำคัญที่ กทม.บริหารอยู่สภากทม.เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ พูดง่ายๆว่ามีระบบการตรวจสอบที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนอยู่แล้ว” นายอภิรักษ์ กล่าว
ทั้งนี้ กทม.ได้กำหนดเปิดสถาบันพัฒนาเมืองในวันที่ 14 พ.ค.2551 ณ สำนักผังเมือง และกำหนดจัดการสัมมนา เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทยและต่างประเทศ ในวันที่ 25-27 มิ.ย.51 นี้ โดยผู้เข้าร่วมการสัมมนาประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดในปริมณฑล และเมืองหลักในภูมิภาค นายกเทศมนตรีเมืองหลัก อาทิ ขอนแก่น เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต นนทบุรี นครราชสีมา และปทุมธานี และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักนโยบายและแผนการจราจรและขนส่ง (สนข.) กรมควบคุมมลพิษ กรมโยธาธิการและผังเมือง สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และสถาบันพระปกเกล้า เป็นต้น