xs
xsm
sm
md
lg

เสนอตั้งทุนพันล.ช่วยผู้เสียหายทางการแพทย์-โอนกรมบัญชีกลางดูกองทุนแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาคประชาสังคมระดมพลังเสนอนโยบายสุขภาพเป็นรูปธรรม “รัฐบาลหมัก” 27 ก.พ.นี้ ให้ “ไชยา” ช่วยสานต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ ตั้งงบกองทุนปีแรก 1 พันล้าน เยียวยาโดยไม่พิสูจน์ถูกผิด ลดปัญหาการฟ้องร้องแพทย์ พร้อมขายฝันดัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฉบับใหม่ ให้กรมบัญชีกลางดูแลกองทุนแทนบริษัทประกันภัย เหตุบริหารแย่ ผู้ประสบภัยไม่ถึง 10% ได้รับความคุ้มครอง

วันนี้ (20 ก.พ.) นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ในวันที่ 27 ก.พ.นี้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ จะมีการจัดเวทีสาธารณะระดมประเด็นข้อเสนอเชิงนโยบายสุขภาพ “เส้นทางนโยบายสุขภาพ...บนความต้องการของประชาชน...” ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการจากเครือข่าย สวรส.และ มสช.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานสนับสนุนและส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง องค์กรภาคประชาชน ฯลฯ เพื่อนำเสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอทางนโยบายนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของสังคมไทย

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวว่า ภายหลังที่รัฐบาลแถลงนโยบาย ซึ่งเป็นหลักอย่างกว้างๆ ดังนั้น จึงไม่มีนโยบายสาธารณสุขที่เป็นรูปธรรมทางการเมือง ภาคประชาสังคมจึงได้มีการสรุปและจะนำแสนอทางนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นทั้งหมด 11 ประเด็น โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ และ พ.ร.บ.กองทุนผู้ประสบภัยจากรถ ในส่วน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายทางสาธารณสุข พ.ศ....ขณะที่ค้างอยู่ในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยนำเสนอให้รัฐบาลนำกลับมาพิจารณาและผลักดันบังคับใช้กฎหมายต่อไป

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายทางสาธารณะสุขเป็นการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการพิสูจน์ผิดถูก ซึ่งหลายฝ่ายเห็นด้วยในหลักการนี้ ซึ่งเบื้องต้นจะมีลักษณะเหมือนกับกองทุนทดแทนในระบบประกันสังคม ให้การช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บทุพลภาพ หรือเสียชีวิตจากการรับบริการในสถานพยาบาล โดยไม่รวมถึงกรณีที่ได้รับการบาดเจ็บเล็กน้อย โดยจะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ 2 ชุด โดยคณะกรรมการชุดแรกจะพิจารณาคำร้องโดยดำเนินการภายใน 7 วัน หลังได้รับคำร้อง ว่า มีความผิดพลาดจากการรักษาจริงหรือไม่ภายใน 1 เดือน ถ้าพิสูจน์แล้วเป็นจริงให้จ่ายเงินเยียวยาได้ทันที ส่วนคณะกรรมการชุดที่ 2 จะพิจารณาจำนวนเงินชดเชยให้มีความเหมาะสม และหากไม่มีการอุทธรณ์กระบวนการจะเสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน หรือหากมีการอุทธรณ์ก็จะใช้เวลาไม่เกิน 5 เดือน ทั้งนี้ คาดว่า เมื่อผู้ได้รับความเสียหาย ได้รับการเยียมยาได้ทันถ่วงที จะทำให้การฟ้องร้องแพทย์ลดลง

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า อีกประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาก คือ แหล่งที่มาของกองทุน โดยหลักการสถานพยาบาลควรให้ความร่วมมือโดยสนับสนุนเงินสบทบเข้ากองทุนด้วย โดยในปีแรกคาดว่าจะต้องใช้เงินไม่เกิน 1 พันล้านบาท ส่วนสัดส่วนการสมทบเงินเข้ากองทุน จะใช้วิธีการคำนวณตัวเลขผู้ป่วยใน หากสถาพยาบาลมีผู้ป่วยในสัดส่วนมากก็จ่ายเงินสมทบมาก ทั้งนี้ การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนภาครัฐควรเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้โรงพยาบาลของรัฐ ส่วนภาคเอกชนที่มีการทำประกัดความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทางการแพทย์กับบริษัทประกันเอกชนอยู่แล้ว แม้ในกฎหมายจะระบุให้โรงพยาบาลทุกแห่งเข้าร่วมสมทบเงินเข้ากองทุน แต่ในปีแรกอาจใช้ระบบ ความสมัครใจ ซึ่งโรงพยาบาลที่ไม่เข้าร่วมในกองทุน คนไข้ที่ได้รับความเสียหายจะไม่ได้รับเงินจากกองทุนชดเชย

ด้าน ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า คณะกรรมาธิการด้านสาธารณสุข สภานิติบัญญัติ ได้ร่างพรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถภาคบังคับ พ.ศ. ... เพื่อนำมาใช้แทน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ฯ เนื่องจากที่ผ่านมา พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งบริษัทประกันวินาศภัยที่เป็นผู้รวบรวมจัดเก็บเพื่อนำไปจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยความเสียหายไม่สามารถบริหารกองทุนได้มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองดูแลผู้ได้รับความสูญเสียจากอุบัติเหตุ ซึ่งในแต่ละปีเจ้าของรถทุกคันจะต้องจ่ายเบี้ยประกันตามกฎหมายเป็นจำนวนมาก จึงเสนอให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังเป็นผู้จัดเก็บ และบริหารกองทุนแทน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สถิติการเฝ้าระวังการบาดเจ็บของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า มีผู้ประสบภัยจากรถไม่ถึง 10% เท่านั้น ที่ได้รับการคุ้มครอง

“ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ยังคงต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลไปก่อน ส่วนที่เหลือเลือกที่จะใช้สิทธิอื่นๆ เช่น บัตรทอง สวัสดิการ ข้าราชการ ซึ่งเป็นการผลักภาระคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถในส่วนค่ารักษาพยาบาลไปให้กองทุนตามสิทธิอื่นๆ นอกจากนี้ยังพบว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่มีรายได้ต่ำมีสัดส่วนของการใช้ พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ ค่อนข้างต่ำ ในขณะที่สัดส่วนรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลสูงและอัตราการตายของผู้ป่วยรายได้น้อยมีค่าสูงที่สุด” ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น