xs
xsm
sm
md
lg

ตราบาป...สงคราม(ฆ่าตัดตอน)ยาเสพติด...ยุค"อาชญกรแม้ว"

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ในช่วงปี พ.ศ.2547 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลนำโดย "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร"อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้บริหารประเทศ ได้ออกนโยบายประกาศสงครามยาเสพติดอย่างจริงจัง ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะตำรวจที่มีหน้าที่ต้องนำนโยบายดังกล่าวมาปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม ทำงานกันอย่างจริงจัง สร้างผลงานการจับกุมนักค้าทั้งรายใหญ่ รายย่อยจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามในครั้งนั้นจำนวนมากเช่นกัน โดยตำรวจจะให้เหตุผลว่าเป็นการฆ่าตัดตอนกันเองของนักค้ายาเสพติดบ้าง หรือหากเป็นการทำให้เสียชีวิตโดยตำรวจเอง ก็จะให้เหตุผลว่านักค้ายาต่อสู้ขัดขวางการจับกุมจึงต้องวิสามัญฯ จนในที่สุดนำมาสู่คำถามการตายของพวกเขาเหล่านั้นเป็นฝีมือใครกันแน่ และผู้ตายเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจริงหรือไม่ โดยเฉพาะกว่า 2,000 ศพ ปริศนาที่ต้องหาคำตอบกันจนถึงทุกวันนี้

และหากจะย้อนไปถึงคดีดังที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ก.ค.2547 การเสียชีวิตของ"นายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง"หรือ เอ็กซ์ อายุ 17 ปี นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนในจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ถูกตำรวจ สภ.อ.เมืองกาฬสินธุ์ จับกุมในข้อหาร่วมกันโจรกรรมรถจักรยานยนต์ กระทั่งหายตัวไปและพบกลายไปศพถูกแขวนคอทิ้งกลางทุ่งนา ในพื้นที่รอยต่อในอำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด จนสร้างความกังขาคลางแคลงใจให้กับญาติพี่น้องของนายเกียรติศักดิ์ นำไปสู่การร้องขอให้ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รอง ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ในขณะนั้น ชันสูตรพลิกศพ

“ก่อนตายมีการทำร้ายร่างกายผู้ตายจนเกิดบาดแผลหลายจุดตามร่างกาย เนื่องจากผู้ตายขัดขืนกลุ่มคนร้ายจนมีการฉุดกระชาก บริเวณข้อมือทั้งสองมีรอยกุญแจมือ อัณฑะถูกบีบจนช้ำอย่างรุนแรง ส่วนรอยรัดบริเวณลำคอ จากการตรวจสอบบาดแผลพบว่ามีการใช้เชือกไนล่อนรัดคอผู้ตายหลายรอบอย่าแรงจนขาดอาการหายใจ ลิ้นจุกปาก ขาดอากาศหายใจตาย ต่อมาคนร้ายได้นำศพขึ้นแขวนคอเพื่ออำพรางให้เหมือนว่านายเกียรติศักดิ์ ผูกคอตายเอง" และนี่คือผลการชันสูตรของ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ประกอบกับคำให้การของย่าผู้ตายที่ระบุว่า “หลานโทรศัพท์ให้ไปรับที่โรงพักด่วนเพราะไม่รู้ว่าตำรวจจะนำตัวไปใหนและหลานถูกจับกุมไปแล้วนาน 3 วันถึงจะรู้ว่าหลานถูกจับ และขณะที่ย่าไปประกันตัว หลานได้มีอาการตื่นตกใจพูดอ้อนวอนย่าไม่ให้กลับบ้านเหมือนกลัวอะไรบางอย่าง ต่อมามีการพบศพจึงรู้ว่าหลานตายแล้วในวันรุ่งขึ้น”จนทำให้คดีนี้ได้รับเป็นคดีพิเศษอยู่ในอำนาจการสืบสวนสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ตั้งแต่ปี 2548

พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผอ.สำนักคดีอาญาพิเศษ ดีเอสไอ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านั้นทาง สภ.จังหาร ได้ทำสำนวนเสนอไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยอ้างว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ แต่ดีเอสไอ แย้งว่าเป็นคดีฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จึงขอให้ ป.ป.ช.ส่งสำนวนคดีกลับมา และได้ทำการสืบสวนเพิ่มเติมรวมทั้งการสอบปากคำพยานแวดล้อมถึง 108 ปากทำให้ดีเอสไอ สามารถหาหลักฐานบ่งชี้ได้ว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และออกหมายเรียกนายตำรวจชั้นประทวนและสัญญาบัตรรวม 6 นายมารับทราบข้อกล่าวหา แม้ในขณะนี้นายตำรวจชั้นประทวน 3 คน ประกอบด้วย ด.ต.อังคาร คำมูลนา ด.ต.พรรณสินธ์ อุปนันท์ ด.ต.สุดธินัน โนนทิง จะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และซ่อนเร้นปิดบังอำพรางการตาย แต่ยังเหลือนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรอีก 3 คน ที่ยังอ้างติดภารกิจทำให้ดีเอสไอยอมเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาออกไปในเดือนมิถุนายน

การตายของนายเกียรติศักดิ์ ไม่ใช่เพียงเหยื่อการสร้างผลงานรายเดียวในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธ์ แต่จากข้อมูลที่มีผู้ร้องเรียนผ่านดีเอสไอ พบว่าในช่วงปี 2546 -2548 ยังมีคดีถูกยิงและแขวนคอปริศนาอีก 20 คดี ที่ดีเอสไอ ยังไม่ได้เข้าไปสืบสวนสอบสวนแต่หลังจากทำส่งสำนวนคดีนี้ให้พนักงานอัยการพิจารณาความเห็นสั่งฟ้องแล้วจะนำฐานข้อมูลคดีนี้ไปใช้กับคดีร้องเรียนอื่นๆ ทั้ง 20 คดีต่อ ทั้งนี้พบข้อมูลว่า วัยรุ่นทั้งหมดเสียชีวิตหลังได้รับการประกันตัว หากผู้ตายเคยมีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติดก็จะถูกฆ่าแขวนคอ แต่ถ้าผู้ตายมีประวัติเกี่ยวกับคดีอาญาอื่นๆ เช่น ลักทรัพย์ หรือวิ่งราวทรัพย์ ก็จะถูกยิงเสียชีวิต ซึ่งในชั้นสอบสวนตำรวจท้องที่ไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้แม้แต่รายเดียว

สำหรับคดีวัยรุ่นที่เสียชีวิตอีก 20 คดีใน จ.กาฬสินธุ์ ระหว่างปี 2546-2548 ได้แก่ รายที่ 1.นายประเสริฐ์ กรุงศรีวัฒนา ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2546 2.นายจตุพล นันนาเชื่อก ถูกยิงเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2547 ที่หน้าโรงเรียนอนุกูลนารี 3.นายทองจัน ภาระดี ถูกฆ่าแขวนคอเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2547 ที่กระท่อมปลายนาบ้านเตาไห อ.เมืองกาฬสินธุ์ 4.นายสุพรรณ พลอยวิเลิศ ถูกยิงเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2547 บริเวณซอยคำผลพัฒนา เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ 5.นายชาญชัย กอหาญ ถูกยิงเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2547 รายที่ 6.นางแพก แสงสว่าง ถูกยิงเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2547 รายที่ 7.นายพิทูรย์ ไร่เกียรติ ถูกยิงเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2547 รายที่ 8.น.ส.น้ำฝน ดลรัศมี ถูกยิงเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2547 รายที่ 9.นายประวิทย์ สัตวุธ ถูกฆ่าแขวนคอเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2547 รายที่ 10.นายสงกรานต์ เดชกรภัทร ถูกยิงเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547

รายที่ 11.นายด๊าด ปาทาน ถูกยิงเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2547 รายที่12.นายกฤตชาดน ปัญจะ หายตัวอย่างไร้ร่องรอยตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2547 รายที่ 13..นายสมสิน วรวัฒนาวงค์ ถูกยิ่งเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2548 รายที่ 14.นายไพรวรรณ ภูขีด ถูกยิงเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2548 รายที่ 15.นายสาคร สาระวิถี ถูกยิงเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2548 รายที่16.นายวินัย โกมาร ถูกยิงเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2548 รายที่ 17.นายปรีชา คำประเทือง ถูกยิงเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2548 รายที่ 18.นายชัยวุฒิ เหล่าเจริญ ถูกยิงตายในเดือนมีนาคม 2548 รายที่ 19.นายปุ้ย ไม่ทราบนามสกุล ถูกฆ่าแขวนคอในเดือนมีนาคม 2548 ที่ศาลามอดินแดง และรายที่ 20 เป็นคดีหายตัวของวัยรุ่นรายหนึ่งในเขต อ.เมืองกาฬสินธุ์ ที่ยังไม่เปิดเผย

พ.อ.ปิยะวัฒก์ กล่าวว่า ในจำนวนคดีที่เหลือ 20 คดี มีญาติผู้ตายร้องเรียนให้ดีเอสไอ ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว 8 ราย ซึ่งก่อนหน้านี้ดีเอสไอ ได้กระจายงานสืบสวนไปยังสำนักคดีต่างๆภายในดีเอสไอ และบางคดีได้มีการขอยุติการสืบสวนเนื่องจากไม่สามารถหาผู้กระทำผิดได้ แต่ขณะนี้ตนได้นำคดีทั้งหมดรวบรวมเพื่อนำมาพิจารณาสืบสวนอีกครั้ง ส่วนคดีที่เหลือจะนำข้อมูลจากฐานข้อมูลคดีของนายเกียรติศักดิ์ มาใช้ในการสืบสวนควบคู่กันไป

ผลของการประกาศนโยบายเข้มข้นที่นำไปสู่การปฏิบัติที่เข้มงวดลดเป้าผู้ค้า หวังสร้างผลงานให้ตัวเอง หรืออาจเป็นความไม่ชัดเจนในการสั่งงานตามนโยบาย ล้วนควรนำเป็นบทเรียนให้แก่ผู้บริหารประเทศก่อนตัดสินใจประกาศนโยบายใดๆ ต้องคำนึงถึงผลกระทบและสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดคือผู้บริหารต้องไม่ลืมทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ให้กับเจ้าหน้าที่ที่จะต้องนำนโยบายนั้นๆมาปฏิบัติ เพื่อลดความเสียหายและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้จากนโยบายที่ผิดพลาด เพราะเพียงการจ่ายเงินเยียวยาไม่อาจทำให้ชีวิตใครฟื้นขึ้นมาได้อีก
พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผอ.สำนักคดีอาญาพิเศษ ดีเอสไอ




กำลังโหลดความคิดเห็น