“อภิสิทธิ์” เผยเจ้าหน้าที่ปรับเปลี่ยนวิธีทำงานในพื้นที่ชายแดนใต้ตลอดเวลา เชื่อแนวทางการพัฒนาพื้นที่ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้ ย้ำสั่งคุมเข้มติดตามการใช้งบประมาณที่ลงไปในพื้นที่อย่างเข้มข้น ปัดเจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัติเยียวยาเหยื่อ
วันนี้ (13 มิ.ย.) เวลา 13.10 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ขณะนี้กฏหมายของสำนักงานบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สบ.ชต.) อยู่ในขั้นตอนที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลัง ยกร่างอยู่ ส่วนมาตรการในการควบคุมนั้น ก็มีการปรับแนวปฏิบัติอยู่ตลอด เนื่องจากลักษณะของการก่อเหตุเปลี่ยนไป ซึ่งเราต้องเข้าใจว่าอีกฝ่ายก็ไม่ได้หยุดอยู่กับที่
ผู้สื่อข่าวถามว่า การก่อเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงไปในพื้นที่นั้นเป็นการท้าทายอำนาจรัฐหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ส่วนใหญ่ก็มีข้อสังเกตอยู่แล้วว่า เวลามีผู้บริหารระดับสูงลงไป ก็มักจะมีการสร้างเหตุด้วย ผู้สื่อข่าวถามว่า วางแนวทางการใช้งบประมาณไว้อย่างไร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้ย้ำเรื่องการใช้งบประมาณไปแล้ว ซึ่งตัวเลขต่างๆ จะเห็นรายละเอียดเพิ่มขึ้นแล้ว เพราะจะต้องลงไปลึกในตัวงบประมาณและโครงการเงินกู้
ผู้สื่อข่าวถามว่า งบลงไปที่กองทัพน้อยไปหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า งบจะลงไปที่ประชาชน จะผ่านใครก็สุดแล้วแต่ ซึ่งเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมแล้วเข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ก็ประกอบด้วยหลายฝ่ายไม่ใช่มีเฉพาะทหาร ผู้สื่อข่าวถามว่า มองการทำงานของฝ่ายทหารอย่างไร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ก็พูดคุยกันตลอด เขาก็รายงานปัญหาอุปสรรค เราก็พยายามที่จะดูว่าอะไรบ้างที่ต้องปรับ แต่ในภาพรวมการทำงานทางกองทัพสามารถทำให้หลายพื้นที่ดีขึ้นมา ซึ่งเราต้องดูด้วยว่าเหตุที่เกิดนั้น เกิดในพื้นที่ลักษณะไหน เพราะว่าฝ่ายที่ทำงานก็ยอมรับว่าการเข้าไปในพื้นที่ตามเป้าหมายยังมีอีกหลายจุดที่ทำไม่สำเร็จ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางฝ่ายทหารชี้แจงข้อมูลครบถ้วน ไม่มีการกั๊กข้อมูลของหน่วยงานด้านความมั่นคงหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่น่าจะมี และได้สอบถามตลอด ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการวิจารณ์ว่างบประมาณที่ลงไปส่วนใหญ่จะอยู่ที่หน่วยงานด้านความมั่นคง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้บอกไปแล้วว่าปีนี้จะมีการเปลี่ยนเปลี่ยนแนวทาง สำหรับปีนี้ต่อเนื่องไปถึงปี 2553 ซึ่งใช้งบประมาณ 18,000 ล้านบาท จะมีการติดตามเรื่องของการใช้จ่ายค่อนข้างเข้มข้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบมีการเลือกปฏิบัติ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามระเบียบ และจะมีการตรวจสอบในเชิงลึก ซึ่งคณะกรรมการเยียวยาฯ มีการติดตามตรวจสอบตลอดเวลาอยู่แล้ว