xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ร้องให้ทวน “แอดมิชชัน” ชี้ยิ่งใช้เด็กยิ่งโง่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อภิสิทธิ์” ร้องแทนเด็ก ขอให้ทบทวน “ระบบแอดมิชชัน” และขอให้คงสัดส่วนองค์ประกอบคัดเข้ามหาวิทยาลัยไว้ก่อน ระบุหลังใช้แอดมิชชัน พบเด็กที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้มีผลการเรียนอ่อนลง


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เงา กล่าวว่า ตนได้รับข้อร้องเรียนจากเยาวชนจำนวนมากถึงปัญหาในการคัดเลือกนักศึกษาในระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษา หรือ แอดมิชชัน ถึงความไม่เป็นธรรมในการกำหนดสัดส่วนองค์ประกอบ ได้แก่ คะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) คะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (เอเน็ต) คะแนนเฉลี่ยสะสมรายกลุ่มสาระ (จีพีเอ) และคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ม.ปลาย (จีพีเอเอ็กซ์) นอกจากนั้น จากที่ได้สอบถามอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ได้รับคำตอบไปในแนวทางทางเดียวกับว่า ระบบแอดมิชชันส่งผลกระทบต่อคุณภาพในระดับอุดมศึกษา ซึ่งแม้จะยังไม่มีผลการวิจัยที่ชี้ชัดแต่ผลที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยก็จะเห็นได้ว่านักศึกษาในหลายคณะมีผลการเรียนอ่อนลง แต่ตนไม่อยากให้การปรับเกณฑ์การรับนิสิต นักศึกษาต้องแกว่งไปมา หรือปรับเปลี่ยนกันเป็นรายปี เพราะส่งผลกระทบต่อนักเรียน นักศึกษา แต่อยากให้กลับมาทบทวนว่าสาเหตุที่ต้องการปรับระบบการรับนักศึกษาจากเอ็นทรานซ์ มาเป็นแอดมิชชัน ก็เพื่อต้องการลดการกวดวิชา ให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างเด็กในเมืองและต่างจังหวัด จึงอยากให้กลับมาทบทวนว่า ระบบแอดมิชชันสามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้หรือไม่

“ผมไม่ได้จะเสนอสุดโต่งให้ยกเลิกแอดมิชชัน แล้วกลับมาใช้เอนทรานซ์ เพียงแต่ขณะนี้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบการรับนักศึกษา โดยเฉพาะในเรื่องสัดส่วนที่ร้องเรียนกันมากถึงค่าน้ำหนักของจีพีเอเอ็กซ์ เนื่องจากมาตรฐานที่ไม่เท่าเทียมกันของโรงเรียนแต่ละแห่งทั่วประเทศ ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ และเกิดปัญหาความไม่โปร่งใสได้ จึงอยากให้คงสัดส่วนเดิมไว้ก่อน คือ ใช้โอเน็ต ร้อยละ 35-70 เอเน็ต ร้อยละ 0-35 จีพีเอ ร้อยละ 20 และ จีพีเอเอ็กซ์ ร้อยละ 10 จนกว่าจะทำให้นักเรียน นักศึกษามีความเชื่อมั่นต่อระบบแอดมิชชัน มาตรฐานของโรงเรียนแต่ละแห่งสามารถเทียบเคียงกันได้ เพื่อให้ค่าน้ำหนักที่กำหนดเป็นธรรมต่อนักเรียนทุกคน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีก ตนจะตั้งคณะทำงานขึ้นติดตามการรับนักศึกษาในระบบแอดมิชชัน ประจำปีการศึกษา 2551 เพื่อรวบรวมข้อมูลและนำเสนอความเห็นต่อที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ก่อนที่จะมีการประกาศสัดส่วนองค์ประกอบแอดมิชชันใหม่ที่จะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2553 นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น