xs
xsm
sm
md
lg

“ไชยา” ซัด “หมอมงคล” เซ็นซีแอล เอาดีใส่ตัว-อยากเป็นฮีโร่!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ไชยา” ยังข้องใจ “หมอมงคล” ทำไมเซ็นประกาศซีแอล วันที่ 4 ม.ค.ตอกผิดมารยาท เอาดีใส่ตัวอยากเป็นวีรบุรุษ แถมเบี้ยวประชุมไม่มีหลักฐาน ไม่มั่นใจคุณภาพยาที่ทำซีแอล อ้างแพทย์ในโรงพยาบาลก็ไม่เห็นด้วย แต่พูดไม่ได้


วันนี้ (13 ก.พ.) นายไชยา สะสมทรัพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า อยู่ดีๆ ตนคงไม่เข้าไปยุ่งกับเรื่องการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) เพราะมีงาน นโยบายที่ตั้งใจจะทำหลายเรื่องอยู่แล้ว ทั้งปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับคนไข้ แต่เมื่อมีหนังสือจากกระทรวงพาณิชย์ มาถึง สธ.เกี่ยวกับผลกระทบจากการทำซีแอล เพราะเขามองว่า สธ.ไปวางระเบิดไว้ มีความกังวลว่าไทยจะถูกเลื่อนการจัดอันดับจากประเทศที่ถูกจับตามองการละเมิดสิทธิบัตรเป็นพิเศษ (พีดับบลิวแอล) เป็นประเทศที่มีการละเมิดสิทธิบัตรขั้นรุนแรง (พีเอฟซี)

“คงต้องมาวิเคราะห์กันว่า ทำไม นพ.มงคล จึงตัดสินใจลงนามประกาศซีแอลยามะเร็ง 3 รายการ ในวันที่ 4 ม.ค.2551 ทั้งๆ ที่มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2550 และทราบผลแล้วว่าพรรคใดจะมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แถมยังทำซีแอลยามะเร็งอีกตัวในวันที่ 25 ม.ค.อีก ถือเป็นการกระทำที่ผิดมารยาท และเหมือนอะไรจะเกิดข้างหน้าไม่รู้ วันนี้ประกาศแล้ว ก็เอาดีใส่ตัว เป็นวีรบุรุษ” นายไชยา กล่าว

นายไชยา กล่าวอีกว่า งานนี้ถือเป็นเรื่องที่ นพ.มงคล ทำคนเดียว ไม่ได้หารือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง แถมยังไม่เข้าประชุม ซึ่งหากเห็นว่าการทำซีแอลเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ควรเข้าประชุม หรือควรมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วย หรือปลัด และหากบอกว่าได้มอบสิทธิอำนาจให้กับใครเข้าประชุม ก็ควรจะแสดงหลักฐานหนังสือมาให้ดูด้วย

นายไชยา กล่าวด้วยว่า หากมองมาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ในมุมที่ดีก็ดี แต่อีกมุมก็มองได้ว่าไม่ควรทำ การประกาศซีแอลของ นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สธ.เพื่อให้บริษัทยาเข้ามาหารือเจรจาลดราคายา เมื่อต่อรองไม่สำเร็จก็ใช้ซีแอล แต่หลังจากใช้ซีแอลแล้วมีการนำเข้ายาสามัญจากต่างประเทศ ซึ่งเทียบคุณภาพกับยาต้นตำรับ ซึ่งคงจะต้องไปตรวจคุณภาพยาบริษัทผู้ผลิตและการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

“ผมเคยถามแพทย์ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ว่า ทำซีแอลดีหรือไม่ บรรดาแพทย์ต่างบอกว่า ขนาดให้ยาจากการทำซีแอลฟรีๆ ยังไม่อยากได้ แต่ก็พูดไม่ได้ อีกทั้งในกลุ่มคนที่มีเงินก็ยังคงใช้ยาต้นตำรับ ขณะที่คนยากจนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง จึงต้องนำค่าใช้จ่ายเข้าถึงยามาคำนวณว่าเป็นจำนวนเท่าไหร่ มีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาดังกล่าวเป็นจำนวนเท่าใดต่อปี เหล่านี้เป็นการตั้งโจทย์ที่จะต้องหาคำตอบ” นายไชยา กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น