“สมชาย” ตั้งทีมกฎหมายตีความเรียนฟรี 12 ปีตามรัฐธรรมนูญว่าจะเริ่มที่อนุบาล หรือ ป.1 ย้ำศึกษาเพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้ ขณะที่ “อภิสิทธิ์” แนะนับ ป.1 แล้วเพิ่มอนุบาล 2 ปี รวมเป็นรัฐหนุน 14 ปี ส่วน “สมพงษ์” ชี้เริ่มนับอนุบาลอาจวุ่นวายทั้งประเทศ เพราะอนุบาลท้องถิ่นดูแลอยู่
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังรับฟังสรุปการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และมอบนโยบายว่า วันนี้ (13 ก.พ.) ฝากให้ สกศ.เร่งศึกษาเรื่องการจัดการศึกษาฟรี 12 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดไว้นั้นว่าควรเริ่มต้นนับที่ระดับชั้นไหน จะเริ่มนับจากระดับชั้นอนุบาล หรือระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถ้าเริ่มจัดการศึกษาฟรีตั้งแต่อนุบาลจะสิ้นสุดในระดับ ม.ต้น จะต้องไปศึกษาเพิ่มเติมว่าในระดับ ม.ปลาย รัฐจะจัดการศึกษาฟรีให้ต่อไปหรือไม่
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ตนจะไปหารือร่วมกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในเบื้องต้นจะตั้งคณะทำงานด้านกฎหมายของ ศธ.เพื่อศึกษาเรื่องนี้ โดยลงลึกในรายละเอียด จากนั้นให้รายงานตนโดยเร็ว
“หากไปดูการศึกษาฟรี 12 ในรัฐธรรมนูญปี 50 กำหนดไว้กว้างๆ “รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 49 ระบุว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึง โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย รวมถึงผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับสิทธิตามวรรคหนึ่ง และได้รับการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาทัดเทียมกับผู้อื่น” โดยไม่ได้ระบุว่าต้องเริ่มนับตั้งแต่ระดับไหน ต้องมานั่งตีความ ซึ่งปัจจุบันถ้าเริ่มนับตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมปลาย รวมกันแล้ว 15 ปี ถ้ารัฐจัดฟรี 12 เริ่มนับที่อนุบาลจบแค่ม.3 หากเริ่มนับที่ ป.1 จะจบที่ ม.6 หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เด็กมากที่สุด และให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ต้องไปศึกษาว่าจะเริ่มนับที่ระดับไหนดี” รมว.ศธ. กล่าว
ด้าน นายอำรุง จันทวานิช เลขาธิการ สกศ.กล่าวว่า สกศ.เร่งทำการวิเคราะห์อย่างละเอียด จากนั้น นำเสนอเรื่องเรียนฟรีว่าควรจะเริ่มจากระดับไหน เดิมกำหนดให้เริ่มนับที่ ป.1-ม.6 มาระยะหลังมีการพูดถึงว่าควรที่อนุบาล ซึ่งเคยมีนักวิชาการออกมาบอกว่า “กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” จากนั้นมาก็มาคิดว่าจะเริ่มเรียนฟรีระดับใดจึงจะเหมาะสมที่สุด เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่เด็กและผู้ปกครอง และรมว.ศธ. ฝากให้ติดตามเรื่องปัญหาการขาดแคลนครู แผนพัฒนาการศึกษาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 และการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
“ขาดครูได้เสนอแผนที่เคยทำตั้งแต่สมัย ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อดีต รมว.ศธ เคยนำไปพูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) สำนักงบประมาณ หลายครั้งแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป นอกจากเรื่องขาดครูแล้ว จะนำแผนยุทธศาสตร์ที่ทำอยู่ทั้งหมด เช่น ยุทธศาสตร์คุณภาพการศึกษา ฯลฯ ที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลชุดก่อนเสนอให้ ครม.ในรัฐบาลนี้พิจารณาอีกครั้ง” เลขาธิการ สกศ.กล่าว
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการ (เงา) แสดงความคิดเห็นว่า ตนไม่อยากให้ข้อกำหนดเรียนฟรี 12 ปีเป็นเรื่องการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา อยากให้ รมว.ศธ. ควรลำดับความสำคัญให้ดี ตนอยากให้โครงสร้างการเรียนฟรี 12 ปีเริ่มนับจาก ป.1 เหมือนเดิม แล้วเพิ่มอนุบาล 2 ปี ซึ่งรวมกันแล้วจะเป็นการเรียนฟรี 14 ปี
ส่วนนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถ้าจะเปลี่ยนการอุดหนุนเรียนฟรี 12 ปีจากเดิม ป.1 มาเป็นระดับอนุบาล คงขึ้นอยู่กับรัฐบาล แต่ความเป็นสากลและพรรคการเมืองใช้หาเสียง จะเริ่มนับ ป.1 และขณะนี้ระดับอนุบาลส่วนมากสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งระดับอนุบาลที่ ศธ.ดูแลมีอยู่เพียงร้อยละ 10 อย่างไรก็ดี หากมีการรื้อโครงสร้างเดิมที่ใช้มาเป็น 10 ปีจะเกิดความวุ่นวายทั้งประเทศ และแต่ละพื้นที่ชุมชนการศึกษาระดับอนุบาล-ม.3 แตกต่างกัน ไม่เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ รวมทั้งค่าใช้จ่ายรายหัวแตกต่างกันมาก ค่าใช้จ่ายรายหัวที่รัฐจัดให้ในปัจจุบันยังมีคุณภาพต่ำนั้น ระดับอนุบาล 550 บาท/หัว ประถมศึกษา 1,500 บาท อย่างไรก็ตาม ฝากรัฐบาลเรื่องการศึกษา 12 ปี ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่านี้ และหากจะเปลี่ยนระดับอุดหนุนค่าใช้จ่ายเริ่มจากอนุบาล-ม.3 ถ้าทำให้ฟรีจริงและมีคุณภาพ คนส่วนใหญ่อาจจะเห็นด้วย
นายสมชาย กล่าวว่า มารับฟังสรุปงานของ สพฐ.ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการศึกษาภาคบังคับ และการศึกษาฟรี 12 ปี โดยได้ย้ำกับ สพฐ.ว่า การจัดการศึกษาฟรี 12 ปีเป็นเรื่องเร่งด่วนและให้มอบให้ สพฐ.เป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้ โดยให้ไปศึกษาว่า การจัดการศึกษาฟรี 12 ควร เริ่มที่ระดับอนุบาล ถึง ม.4 หรือ ป.1 ถึง ม.6 อย่างไรก็ตาม จะให้ทีมที่ปรึกษากฎหมายไปดูเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งศึกษาจะจัดฟรีตั้งแต่อนุบาลถึง ม.6 หรือไม่ โดยจะหาข้อยุติให้ได้ ก่อนจะนำเข้าหารือในครม. เพื่อดูว่า รัฐบาลมีงบประมาณแค่ไหน
ทาง สพฐ.ได้รายงานให้ทราบถึงเรื่องการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2544 ซึ่งตนมองว่า เป็นเรื่องที่ดีเพราะการปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ ๆ นักเรียนอยู่ จะส่งเสริมให้นักเรียนประกอบอาชีพได้เหมาะสม รวมทั้ง สพฐ.ได้รายงานเรื่องการสอนภาษาไทยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมา การเรียนการสอนภาษาไทยไม่ทั่วถึง ทั้งที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการเรียน แต่มีอุปสรรคเรื่องความไม่สงบและความห่างไกล
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวต่อว่า สพฐ.ได้รายงานให้รมว.ศธ.ทราบว่า เรื่องการจัดการศึกษาฟรี 12 ปี ได้มีการตีความไปแล้วว่า ต้องเริ่มตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.6 ส่วนระดับอนุบาลนั้น ขณะนี้ รัฐได้อุดหนุนอยู่บ้างแล้วบางส่วน เด็กอนุบาล 61.47 % ที่เหลือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชนรับดูแลอยู่
จากนั้น คุณหญิงกษมา กล่าวต่อว่า รมว.ศธ. มีนโยบายให้ไปสำรวจโครงการจักรยานยืมเรียนให้แก่เด็กประถมศึกษาในต่างจังหวัดที่มีบ้านอยู่ห่างไกลโรงเรียนและได้รับความเดือดร้อนจากการเดินทาง ตนได้ชี้แจงว่าที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวไม่ได้ใช้งบประมาณปกติจัดซื้อจักรยาน ได้เงินพิเศษมาสนับสนุน ส่วนงบปกติมีเพียงใช้ซ่อมแซมจักรยานเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สพฐ.จะไปรวบรวมข้อมูลว่ามีเด็กที่มีความเดือดร้อนมากน้อยำจำนวนเท่าไหร่แล้วเสนอตัวเลขให้ รมว.ศธ.
คุณหญิงกษมา กล่าวว่า นายสมชาย ต้องการสนองพระราชประสงค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงห่วงใยสุขภาพเด็กที่ต้องได้รับสารอาหารไปเสริมกระดูกเหมาะสมกับวัย ตามโครงการนมโรงเรียน ที่ปัจจุบันให้เด็กได้ดื่มตั้งแต่ ป.1- ป.4 แต่ รมว.ศธ. ให้ สพฐ.ไปหาข้อมูลว่าหากให้เด็กประถมฯได้ดื่มนมจนถึง ป.6 จะต้องใช้งบอย่างไร ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่นายสมชาย เป็นรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงมหาดไทยด้วย ซึ่งขณะนี้งบประมาณส่วนนี้ได้โอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว หากมีการเสนอเพิ่มเติมน่าจะทำได้ไม่ยาก
พร้อมกันนี้ รมว.ศธ. ยังได้สอบถามถึงโครงการอาหารกลางวันที่ปัจจุบันมีเด็กได้รับโครงการนี้ประมาณร้อยละ 30 ของเด็กวัยเรียนทั้งหมด ซึ่งนายสมชาย ต้องการให้เพิ่มโครงการอาหารกลางวันเป็นร้อยละ 50 หรือเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ สพฐ.จะได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดเสนอโดยให้เร็วที่สุด