xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ชี้ “ไข้สมองอักเสบ” โรคติดต่อรุนแรง ผู้ป่วย 2 ใน 3 พิการทางสมอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปลัด สธ.กำชับทุกจังหวัดฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบในเด็กให้ครบตามเกณฑ์อายุ เผยหากป่วยโรคนี้ 2 ใน 3 ของผู้รอดชีวิตจะพิการทางสมอง ไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิม ในปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยโรคไข้สมองอักเสบทั่วประเทศ 337 ราย เสียชีวิต 24 ราย และตัวเลขแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ

นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคไข้สมองอักเสบ(Encephalitis) ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส เป็นโรคติดต่อที่มีความรุนแรงมาก และมีอัตราเสียชีวิตจากอาการป่วยสูงประมาณร้อยละ 10-20 ที่สำคัญ ผู้รอดชีวิตอาจเกิดการพิการภายหลังการรักษา เนื่องจากไม่มียารักษาเฉพาะ ทำได้แค่รักษาตามอาการ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการโคม่าต้องนอนในหอผู้ป่วยหนัก พบว่า 2 ใน 3 ของผู้ที่รอดชีวิตจะมีความพิการ เนื่องจากเนื้อสมองอักเสบถูกทำลาย ไม่สามารถรักษากลับสู่สภาพเดิมได้ ในปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยโรคไข้สมองอักเสบมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มอายุต่ำกว่า 15 ปี กำชับให้ทุกจังหวัดฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบให้เด็กตามเกณฑ์อายุที่กำหนด และให้ความรู้ในการป้องกันโรค

นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า จากรายงานสถานการณ์โรคไข้สมองอักเสบ ของสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 21 พฤศจิกายน 2550 ทั่วประเทศ พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 337 ราย เป็นคนไทย 326 ราย อีก 11 ราย เป็นแรงงานหรือผู้อพยพต่างชาติ ใน 23 จังหวัด คือ ได้แก่ เชียงใหม่ แมฮ่องสอน พะเยา เพชรบูรณ์ พิจิตร หนองบัวลำภู อุดรธานี มุกดาหาร นครพนม สกลนคร ชัยภูมิ นครราชสีมา นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ราชบุรี ชลบุรี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง กระบี่ นราธิวาส สงขลา เสียชีวิตทั้งหมด 24 ราย ขณะที่ในปี 2547 พบผู้ป่วย 307 ราย เสียชีวิต 25 ราย

ด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้สมองอักเสบ เกิดจากการอักเสบของเนื้อสมองทั่วๆ ไป หรือเฉพาะบางส่วนจากการติดเชื้อไวรัสหลายชนิด แต่ที่พบมากในประเทศไทยประมาณร้อยละ 80 คือ เชื้อไวรัสเจอี (JE:Japanese Encephalitis) พบบ่อยในฤดูฝน โดยเชื้อจะอยู่ในลูกหมูช่วงเวลาสั้นๆ มียุงรำคาญเป็นพาหะ ยุงดังกล่าวเพาะพันธุ์ในทุ่งนาที่มีน้ำเจิ่งนองในชนบททั่วไป โดยยุงจะกัดสัตว์ดังกล่าวที่มีเชื้อมาแพร่จากสัตว์ตัวหนึ่งไปอีกตัว แต่หากบังเอิญมากัดคนเข้าก็จะทำให้คนติดเชื้อ โดยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่จะมีส่วนน้อยจำนวนหนึ่งที่เชื้อจะกระจายไปที่สมอง ทำให้มีไข้สูง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร กลัวแสง คอแข็ง ชัก ซึม และอาจโคม่า โดยมีอัตราตายสูงถึง 1 ใน 3 คน ผู้ที่รอดชีวิต ก็มักจะมีความพิการทางสมองตามมา

ทั้งนี้ การป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ สามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโรคไข้สมองอักเสบเจอี โดยฉีดให้แก่เด็กทุกคน 3 เข็ม ครั้งแรกฉีดอายุ 1 ปีครึ่ง-2 ปี ครั้งที่ 2 ห่างจากเข็มแรกประมาณ 1-2 สัปดาห์ และครั้งที่ 3 เป็นการฉีดกระตุ้นอายุ 2 ปีครึ่ง-3 ปี สำหรับชาวบ้านที่มีเด็กเล็กหรือเด็กในวัยเรียน ควรให้นอนในมุ้ง โดยเฉพาะบ้านที่เลี้ยงหมูอยู่ใต้ถุนบ้าน นายแพทย์ธวัช กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น