“หมอวิชัย” ไม่ขัดทบทวนประกาศทำซีแอลยามะเร็ง แล้วแต่ดุลพินิจ รมว.คนใหม่ เตือนพิจารณาให้ดี ประชาชนได้หรือเสียประโยชน์กันแน่ ยันทำซีแอลยุคหมอมงคลถูกต้อง หารือทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องประกาศจุดยืนร่วมกันแล้ว เอ็นจีโอตั้งคำถาม รมว.ใหม่ ปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทยาข้ามชาติหรือไม่
นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ (ซีแอล) กล่าวว่า การทบทวนการประกาศทำซีแอลยามะเร็งสามารถทำได้ เพราะการทำซีแอลเป็นอำนาจโดยชอบธรรมของกระทรวงสาธารณสุข และเป็นดุลพินิจของรัฐมนตรีว่าการระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ ว่า จะตัดสินใจอย่างไร หากเห็นว่าจะมีแนวทางอื่นที่เป็นประโยชน์มากกว่าก็สามารถทบทวนใหม่ได้ และหากมีการยกเลิกการทำซีแอลยามะเร็งก็จะต้องพิจารณาให้ดีว่าประชาชนจะได้หรือเสียประโยชน์กันแน่
นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า การทำซีแอลยามะเร็งนั้น ข้อเท็จจริงได้มีการประชุมระหว่างกระทรวงต่างๆ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อประกาศจุดยืน 5 ประการ ซึ่งรวมถึงการทำซีแอลยามะเร็งด้วย จากนั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ได้ดำเนินการต่อเนื่องโดยเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 สปสช.ได้เสนอความเห็นให้ทำซีแอลมายัง นพ.มงคล จากนั้นได้มีการตัดสินใจว่าจะทำซีแอลตามที่เสนอมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 แต่ยังไม่มีการลงมือปฏิบัติทันที เนื่องจาก นพ.มงคลต้องการให้มีการเจรจากับบริษัทยา ทั้งเจ้าของสิทธิบัตร และบริษัทยาสามัญจากอินเดียจนถึงวินาทีสุดท้าย เพื่อให้ได้ผลประโยชน์สุดสุดกับประชาชน และ สธ.จึงเป็นที่มาของการลงนามในประกาศซีแอลเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2551 ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดนี้จะชี้แจงไว้ในสมุดปกขาวซีแอลยามะเร็ง ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดพิมพ์อยู่
“ยืนยันว่า การทำซีแอลทุกรายการของ นพ.มงคล ได้ดำเนินการมาถูกต้องทุกประการ ทั้งกฎหมายในประเทศไทย และกฎกติกาสากล รวมถึงได้พิจารณาไตร่ตรองเรื่องความเหมาะสมมาเป็นอย่างดี แต่หากรัฐมนตรีคนใหม่มีความเห็นที่แตกต่าง มีมุมมองอื่นที่ดีกว่าก็สามารถทำไป และหากจะมีการยกเลิกการทำซีแอลยามะเร็งจริง ผมก็ไม่เสียกำลังใจ คิดว่าได้ทำงานอย่างดีที่สุดแล้ว ทำงานเสร็จแล้วก็จบไป”
ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ประธานเครือข่าย 30 องค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน กล่าวว่า องค์การการค้าโลก (WTO) เปิดช่องให้ประเทศกำลังพัฒนาทำซีแอลได้อยู่แล้ว และเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของประเทศ ดังนั้น สิ่งที่นพ.มงคล ได้ทำลงไปก็ไม่ได้ทำผิด ตรงข้ามเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมาก ที่สำคัญสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ทั้งไทยและและทั่วโลกกำลังประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ การทำซีแอลช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศชาติอย่างมาก
“รัฐมนตรีใหม่เข้ามาปุ๊บก็มาทำงานหักล้างสิ่งที่ นพ.มงคล ได้ทำไว้ จะทำให้สังคมตั้งคำถามได้ว่า ปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทยาข้ามชาติหรือไม่ เพราะที่ผ่านมารู้กันดีว่าบริษัทเหล่านี้ล็อบบี้กดดันอย่างเต็มที่ ดูได้จากการประกาศให้ไทยเป็นประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องผลประโยชน์ของบริษัทยา และประเทศใหญ่ทั้งสิ้น รัฐมนตรีใหม่จะทำอะไรต้องต้องระมัดระวังตัวอย่างมาก เพราะประชาชนจะจับตามอง ว่า จะนำเงินภาษีที่ได้จ่ายไปไปถลุงใช้อะไรบ้าง และยิ่งนายกรัฐมนตรีออกปากว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดนี้ขี้ริ้วขี้เหร่ แล้วคนอื่นจะมองว่าคุณสวยงามได้อย่างไร”
น.ส.รสนา กล่าวอีกว่า สธ.มีภาระเกี่ยวกับสังคม มีงบประมาณมากถึง 3 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ประมาณ 1 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 30 เป็นค่าจัดซื้อยาทั้งสิ้น ซึ่งร้อยละ 99 เป็นการสั่งซื้อยานำเข้าจากต่างประเทศ หากยกเลิกซีแอลยามะเร็ง แล้วเอางบประมาณไปซื้อยาราคาแพง ก็ยิ่งเป็นการไม่ช่วยประหยัดงบประมาณ และประชาชนจะรับไม่ได้