คนไทยทุกคนปลื้มใจ และมั่นใจในหลักการ "เศรษฐกิจพอเพียง" เพียงแต่แต่ละคน อาจมีระดับความเข้าใจตามแบบของตนเอง ซึ่งไม่ค่อยเหมือนกัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ่อหลวงของแผ่นดิน พระองค์ผู้ทรงเป็นที่รักเทอดทูนของปวงชนชาวไทย ได้ทรงมีพระราชดำรัส อีกครั้งเมื่อช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษาที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจพอเพียงก็คือใช้ตามที่เหมาะสมแก่ตัว ไม่ได้แปลว่า เก็บอย่างเดียว เมื่อมี ก็ควรจับจ่าย เงินจะได้สะพัด
ในโลกแห่งการค้าเสรี การบริโภคของแต่ละคน จะเป็นการช่วยเหลือผู้ขายสินค้า หรือให้บริการ ผู้ที่เก็บเงินไว้ใช้ยามจำเป็น และตามความเหมาะสมด้านเวลาของตนเองในอนาคต ก็ควรเก็บในธนาคาร หรือลงทุนในหุ้น ทำให้ตนได้ผลตอบแทน ธนาคารก็นำไปปล่อยกู้ และบริษัทที่เราไปลงทุนหุ้น ก็สามารถนำเงินที่ได้ไปทำธุรกิจต่อ เป็นหลักการที่เราถูกสร้างมาในโลก ไม่ได้ให้อยู่คนเดียวลำพัง แต่เรามีกันและกัน และอยู่เพื่อกันและกันอย่างแท้จริง
ในสถานการณ์ "วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์" ซึ่งหลายคนก็อยากจะเปรียบเทียบกับ "วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง" เมื่อ 10 ปีที่แล้วของบ้านเรา ก็คงไม่ต่างมาก เกิดจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์กัน ด้วยความรู้สึก**เก็งกำไรบางส่วน กู้เกินตัว ซื้อเกินตัว และเป็นถึงระดับรากหญ้า (จึงเรียกว่า "ซับไพรม์") ปัญหานี้ ถือได้ว่า เลยขอบเขตแห่ง "เศรษฐกิจพอเพียง" จริงๆ และไม่ได้หยุดแค่ในสหรัฐอเมริกา แต่ลามไปถึงประเทศต่างๆ ด้วย**
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ราคาอสังหาริมทรัพย์ในหลาย ๆ ประเทศ เช่น ในฮ่องกง ในสิงคโปร์ ฯลฯ จึงขยับตัวสูงขึ้นมาก จากการกู้เกินตัว ซื้อเกินตัวนี้นั่นเองเราเองได้รณรงค์เรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" กันมาในช่วง 2-3 ปี หลัง ทำให้เราไม่เห็นปัญหาการก่อตัวของฟองสบู่อย่างที่คนอื่นเขาเป็นกัน จึงถือได้ว่า รัฐบาลที่จะมาใหม่นั้นโชคดี ยังไม่มีปัญหาเศรษฐกิจลูกโป่งพองตัวให้ต้องแก้ไขเหมือนประเทศอื่นๆที่ต้องเผชิญกันอยู่จะมีเรื่องข้างหน้าที่ต้องระวังคู่กัน ก็คือโครงการที่รัฐบาลก่อนหน้านั้นได้ทำไว้ คือ
"โครงการบ้านเอื้ออาทร" ก็ค่อนข้างจะเป็นชื่อโครงการที่เพราะ ซึ่งหากกลายเป็นโครงการที่ผู้จะซื้อไม่สามารถรับโอนได้ หรือกู้ธนาคารแล้วไม่สามารถชำระได้ ก็อาจถูกกลับมาเรียบชื่อว่า "กลุ่มซับไพรม์" ได้เหมือนกัน ก็ดีที่ได้รัฐบาล พปช. เข้ามาดูแล จะได้รับลูกเรื่องนี้ต่อจากรัฐบาล ทรท. ได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องโทษใคร
นอกจากนี้ รัฐบาลที่ผ่านมา ได้ช่วยสร้างวินัยทางการเงิน ตามหลัก "เศรษฐกิจพอเพียง" อีกเรื่อง คือเรื่อง "ตั๋วเงินคลัง" ตั๋วเงินคลัง ต่างกับ พันธบัตร คือ พันธบัตรนั้นเครื่องมือสำหรับให้รัฐบาลใช้เงินเกินงบประมาณ คือ ถ้ารัฐบาลใช้เงินงบประมาณรายจ่าย เท่ากับงบประมาณรายรับ ก็เรียกว่า "งบประมาณแบบสมดุล" เงินเข้าก็เท่ากับเงินออก ถ้ารัฐบาลใช้เงินงบประมาณน้อยกว่ารายรับ ก็มีเงินเหลือ ซึ่งอาจใช้คืนเงินกู้เพิ่มเติม หรือลงทุนเพิ่มเติมได้ แต่ถ้ารัฐบาลใช้เงินงบประมาณมากกว่ารายรับ ก็ต้องออกพันธบัตรเพื่อกู้เงินมาใช้จ่าย ตั๋วเงินคลังจึงไม่ได้ใช้สำหรับหน้าที่ดังกล่าว แต่ในแต่ละปีงบประมาณ การเก็บภาษีอาจไม่สอดคล้องกับการใช้จ่ายภาครัฐ จึงให้ออกตราสารระยะสั้น คือ ตั๋วเงินคลัง เพื่อรับเงินเข้ามาใช้ไปก่อน ที่จะเก็บภาษีเข้ามา เมื่อเก็บมาแล้วก็ควรจะลดระดับลงไป สู่ระดับปรกติ
ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ระดับตั๋วเงินคลัง ก็อยู่ระดับประมาณ 6 หมื่นล้านบาท แต่รัฐบาลก่อนหน้านี้ ได้สะสมตั๋วเงินคลังขึ้นไปเป็น 1 แสนล้านบาท 2 แสนล้านบาท **จนเมื่อก่อนที่รัฐบาลขิงแก่จะเข้ามานั้น สะสมสูงสุดถึง 2.5 แสนล้านบาท !! ทำให้กลายเป็นเครื่องมือก่อหนี้ และสะสมหนี้ภาครัฐโดยไม่ได้ผ่านกระบวนการรัฐสภาเพื่อพิจารณางบประมาณอย่างถูกต้องโปร่งใส**
รัฐบาลที่ผ่านมาได้ปรับลดยอดตั๋วเงินคลังนี้ ลงไปเหลือเพียง 114,000 ล้านบาท คือลดไปประมาณ 140,000 ล้านบาท ในช่วงเวลาปีเศษที่ผ่านมา มองแบบหนึ่งก็ถือว่า **ช่วยรักษาวินัยให้บ้านเมืองเป็นอย่างดี ทำให้ไม่สะสมหนี้ภาครัฐด้านนี้สูงเกินไป**มองอย่างกลัวๆ ก็คือ ไม่อยากให้เห็นเป็นช่องว่าง ให้นักการเมืองเอาไปทำอะไรก็ได้ ยิ่งใช้จ่ายกันไปไม่น้อยในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็หวังว่า จะมาทำงานเพื่อบ้านเมือง ไม่ใช่เพื่อเป็นธุรกิจ** เพราะการทุจริตบ้านเมืองนั้น จะนำไปสู่ความไม่ยอมรับของประชาชน โดยเฉพาะผู้เสียภาษีทุกคน และนำไปสู่ความไม่เชื่อถือ และไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลในที่สุด
**เราได้รับบทเรียนมามากมายแล้ว แต่ถ้าเราเชื่อในทางสว่าง ทุกคนมีโอกาสจบสวย ด้วยความเป็นคนดีของบ้านเมือง ทำความดีเพื่อบ้านเมือง ต่อต้านการทุจริต หรือ ธุรกิจการเมือง เศรษฐกิจไทยก็พร้อมจะเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืนครับ
มนตรี ศรไพศาล
(Montree4life@yahoo.com)