“หมอมงคล” เซ็งหากยกเลิกซีแอล ระบุ คนจะได้รู้ว่าทำเพื่อใคร มั่นใจทำดีที่สุดแล้ว ด้านเครือข่ายเอดส์เตรียมตบเท้าเข้าหา “ไชยา” ขอทราบจุดยืนเรื่องซีแอล องค์กรหมอไร้พรมแดน เผย บ.ยาล็อบบี้เลิกซีแอล
นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รมว.สธ.คนใหม่ สามารถทบทวนซีแอลได้ แต่หากจะยกเลิกการทำซีแอลก็จะทำให้ทราบว่าทำเพื่อใคร ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตนจะเป็นผู้ดำเนินการในขั้นตอนสุดท้าย หลังจากผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ 3 ชุด โดยที่ทุกอย่างผ่านการพิจารณาด้วยเหตุและผล ความคุ้มค่า ทุกอย่างมีทั้งดีและเสีย แต่เลือกในสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อประชาชน หากใครมาเปลี่ยนตรงนี้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่คนยากไร้ไม่สามารถเข้าถึงยาได้ และต้องตายอย่างไม่มีศักดิ์ศรี
“เมื่อได้วางรากฐานไว้ดีแล้ว ประชาชนต่างรู้ว่าไทยสามารถทำซีแอลได้ เราก็ต้องปกป้องคนของเรา ถ้าใครไม่ทำซีแอล และยังมายกเลิกอีก ก็เป็นสิ่งที่ประชาชนรับรู้ว่าใครทำเพื่อใคร ผมได้ทำสิ่งที่ดีให้คนทุกข์ยากได้ในช่วงหนึ่ง ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงก็คงไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะเราไม่สามารถคงกระพันได้ แม้แต่ร่างกายเรายังไม่ถาวรเลย แล้วสิ่งที่เราทำ หากจะไม่จีรังด้วยแล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลก” นพ.มงคล กล่าว
นพ.มงคล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สถิติผู้ป่วยโรคมะเร็งอาจมีไม่มากนัก โดยจากข้อมูลที่ทำซีแอล คือ มะเร็งปอดและมะเร็งตับ รวมกันมีผู้ป่วยประมาณ 1.5 หมื่นคนเท่านั้น แต่ผู้ได้รับผลกระทบ คือ ญาติ คือ ครอบครัว คนรอบข้างผู้ป่วยที่ยังชีวิตอยู่อย่างต้องล้มละลายมีมากกว่าผู้ป่วยถึง 5 เท่า แม้แต่ผู้ป่วยโรคไตที่เสียชีวิต เพียง 1.75 หมื่นรายต่อปี แต่คนรอบข้างและญาติผู้ป่วยล้มละลายไปเท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ ดังนั้น การจะนำเฉพาะยอดผู้ป่วยมาพิจารณาอย่างเดียวก็คงไม่เหมาะสม
“คนไม่เคยเห็นคนตายแบบที่ไม่มีเงินสักบาทเดียวเลยในครอบครัว ก็คงไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร การที่จะบอกให้คนร่ำรวยเข้าใจ และเห็นภาพดังกล่าวก็เป็นเรื่องยาก เพราะพวกเขาเสียเงินเป็นแสนเป็นล้านก็เป็นเรื่องเล็ก เพราะเงินสำหรับเขามันหาง่าย” นพ.มงคล กล่าว
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ประธานมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ตามขั้นตอน คือ ประกาศซีแอลที่ นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข ลงนามไปเมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา ก็ถือว่ามีผลในทางปฏิบัติแล้ว การที่ นายไชยา บอกว่า จะทบทวนนั้นก็ไม่ได้หมายถึงการหยุดการดำเนินการเว้นแต่จะมีการออกประกาศยกเลิกประกาศซีแอลถึงจะชะลอคำสั่งนั้นได้ โดยในวันที่ 8 ก.พ.เวลา 13.00 น.เครื่อข่ายภาคประชาชน เครือข่ายเอดส์ฯ มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯ จะเดินทางไปกระทรวงสาธารณสุขเพื่อหารือกับ รมว.สธ.คนใหม่
ด้าน นพ.พอล คอร์ธอร์น หัวหน้าโครงการองค์กรหมอไร้พรมแดน กล่าวว่า เร็วเกินไปที่ รมว.สาธารณสุขคนใหม่จะพูดเรื่องซีแอลขณะที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง เพราะควรรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้ง เครือข่ายผู้ป่วยโรคต่างๆ ผู้บริโภค บริษัทยา ฯลฯ การที่ นายไชยา พูดเช่นนี้ เท่ากับว่า ได้รับแรงกดดันจากกระทรวงทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก แต่ความจริงตัว รมว.สาธารณสุข ต้องคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนเป็นหลักไม่ใช่แรงกดดันจากกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง
“ก่อนหน้านี้ ได้ยินกระแสข่าว รมว.สาธารณสุขคนใหม่ จะโดนการล็อบบี้จากบริษัทยาอย่างมาก จึงไม่แปลกใจที่ นายไชยา ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข ก็พูดถึงเรื่องการทบทวนการทำซีแอลทันที ทั้งนี้ หากจะยกเลิการทำซีแอล จำเป็นต้องคิดว่าจะนำเงินที่ไหนมาซื้อยา เพราะขณะนี้ต้องยอมรับว่า สปสช.ไม่มีเงินซื้อยาราคาแพงได้ ยืนยันว่า ไทยได้ทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามกฎหมายไทยและสากลทุกอย่างแล้ว”นพ.พอล กล่าว
นพ.พอล กล่าวว่า องค์กรฯจะรอรายงานการประเมินผลการทำซีแอลไทยขององค์การอนามัยโลก ซึ่งคาดว่า จะเสร็จภายในสัปดาห์หน้า และเมื่อได้รายงานแล้วจะหารือกับเครือข่ายอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในฐานะนักวิชาการ ขอยืนยันว่า ซีแอลเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเมื่อทำสิ่งถูกต้องจะมีผลกระทบแง่ลบกับประเทศไทยตามที่นายไชยา กล่าวอ้างได้อย่างไร ไม่ใช่ว่าบริษัทยามาให้ข้อมูลใดๆ แล้วก็ต้องเชื่อตามนั้น
“ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ซีแอลไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมาย หรือเป็นการขโมยเทคโนโลยีแต่อย่างใด ในเมื่อเราเรียกบริษัทยามาเจรจาค่าชดเชยสิทธิบัตร ภายหลังจากประกาศซีแอล แต่บริษัทยาไม่ยินยอมมาเจรจาเราจะทำอย่างไรได้” ภญ.จิราพร กล่าว