xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์ชนบทฉะยับ “วิชาญ” ตั้งแก๊ง ส.ก.พปช.ยึด สธ.ไม่เหมาะสม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“วิชาญ” แจงตั้ง ส.ก.พปช.เป็นคณะทำงาน สธ. เพราะทำงานคนเดียวไม่ไหว ให้มาช่วยเป็นที่ปรึกษาส่วนตัว ชี้ ไม่มีอำนาจ-ตำแหน่ง-เงินเดือน แค่เสนอแนะการทำงานเท่านั้น ปฏิเสธไม่ได้หางานให้ ส.ก.สอบตกทำงาน แต่ ส.ก.เสนอตัวอยากทำงานห้ามไม่ได้ ลั่นใครขาดประชุมติดกัน 3 ครั้ง สั่งปลดทันที ขณะที่แพทยชนบทชี้ตั้งคณะทำงาน 12 ชุด ไม่เหมาะสม ห่วงแอบแฝงผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าสนับสนุนงานสาธารณสุขจริงจัง พร้อมเผยรัฐบาลดันเรื่องสุขภาพเป็นวาระแห่งชาติ แก้ปัญหาระบบสาธารณสุขแบบบูรณาการ

วันที่ 1 ส.ค. นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่ได้แต่งตั้งคณะทำงานติดตามนโยบายสาธารณสุขจำนวน 12 ชุด ซึ่งมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) พรรคพลังประชาชน เป็นคณะทำงาน ว่า การแต่งตั้งคณะทำงานทั้ง 12 ชุด มีจุดประสงค์เพื่อให้เข้ามาช่วยทำงานภาย สธ.ร่วมกับหน่วยงานเดิมที่มีอยู่ เพื่อให้การตรวจสอบคุณภาพและการบริการต่างๆ ด้านสุขภาพมีมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งการที่แต่งตั้ง ส.ก.มาเป็นคณะทำงานเพราะต้องการให้มาเป็นที่ปรึกษาส่วนตัว เนื่องจากปัจจุบันตนทำงานเพียงคนเดียวไม่ไหว ซึ่งนอกจากจะเป็นทั้งรัฐมนตรีช่วยแล้วยังต้องรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขด้วย และที่สำคัญ คณะทำงานทั้ง 12 ชุด มีแต่ตำแหน่ง แต่ไม่มีอำนาจ หรือเงินเดือน แต่สามารถเสนอแนะการทำงานของ สธ.ได้ แต่หากใครขาดการประชุมติดต่อกัน 3 ครั้งก็จะปลอดออกจากตำแหน่งทันที

“ผมเป็นนักการเมือง ส.ก.จะสอบได้ หรือสอบตกก็เป็นนักการเมืองเหมือนกัน จะมาหาว่าผมหางานให้ส.ก.พรรคพลังประชาชนทำก็คงไม่ได้ เพราะเป็นนักการเมืองมีหน้าที่ทำงานเพื่อประชาชนอยู่แล้ว และคนเหล่านี้สนใจอยากทำงาน เสนอตัวมาเองผมก็คงห้ามไม่ได้ และบางคนว่างงานอยู่ก็ให้มาช่วยกันทำงาน และไม่กลัวว่าจะถูกโจมตี เพราะในสมัยที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร์ได้ทำงานร่วมกับเอ็นจีโอมามากอย่างคุณสารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็ทำงานร่วมด้วยหลายครั้ง จึงรับรองได้ว่ารัฐมนตรีช่วยคนนี้ไม่มีปะทะกับใครอย่างแน่นอน” นายวิชาญ กล่าว

นายวิชาญ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี มีนโยบายจะผลักดันเรื่องสุขภาพของคนไทยให้เป็นวาระแห่งชาติ มีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี คือตั้งแต่ 2552-2555 ซึ่งเป็นเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สธ.กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และภาคเอกชน เบื้องต้นจะมีการแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขทั้งระบบ เช่น ปัญหาขาดแคลนแพทย์ อุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของโรงพยาบาลต่างๆ ขณะเดียวกัน จะส่งเสริมเรื่องสุขภาพของประชาชนด้วย โดยจะสอดแทรกความรู้ด้านสาธารณสุขบรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนของเด็กนักเรียนด้วย

ด้านนพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทยชนบท กล่าวว่า การแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาถือว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากเมื่อพิจารณาองค์ประกอบคณะทำทำงานแต่ละชุดแล้ว จะเห็นว่า คณะทำงานส่วนใหญ่ไม่เคยมีบทบาทเป็นที่รู้จักในแวดวงการทำงานด้านสุขภาพ หรือคนในกระทรวงสาธารณสุข อีกทั้งประเด็นนโยบายที่นำไปตั้งเป็นคณะทำงานชุดต่างๆ ก็ขาดการมองในมิติที่รอบด้าน เป็นการแยกส่วน แสดงให้เห็นว่าคนที่ตั้งยังไม่เข้าใจปัญหา และขาดความเข้าใจอย่างแท้จริง อีกทั้งเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมเพราะเป็นช่วงรอยต่อการแต่งตั้ง รมว.สาธารณสุขคนใหม่ จึงอาจทำให้ข้าราชการเกิดความสับสนในการทำงานได้

“หากคณะทำงานที่ตั้งขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองท้องถิ่น ขาดความรู้ความเข้าใจ แต่ให้มาแนะนำคนที่ทำงานก็จะทำให้ขาดความมั่นใจว่าจะนำพาไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ และเป็นห่วงว่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เนื่องจากคณะทำงานมีลักษณะของการเป็นหัวคะแนน นักการเมืองท้องถิ่น กทม.โดยหาเสียงทำประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่ม” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า การแต่งตั้งคณะทำงานในลักษณะนี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่า มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับทางการเมืองมีผลประโยชน์แอบแฝงมากกว่า เพื่อสนับสนุนส่งเสริมงานด้านสาธารณสุขอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ยังทราบมาว่า ตั้งแต่ รมช.เข้ามาทำงานก็มีการเสนอจัดสรรงบประมาณจำนวนมาก ผ่านกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ลงสู่ชุมชนกว่า 8 พันหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 50,000 บาท แต่งบประมาณไปที่หมู่บ้านจริงๆ 20,000 บาท แต่เป็นค่าบริหารจัดการ 30,000 บาท แต่ยังไม่มีหลักฐาน จึงไม่ทราบว่าเรื่องนี้เป็นความจริงหรือไม่อย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น