พระราชครูวามเทพมุนี ประกอบพิธีบวงสรวงซ่อมแซมราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบ ช่างอัญเชิญบันไดนาคออกจากราชรถน้อยเป็นปฐมฤกษ์ “น.อ.อาวุธ” ระบุใช้เวลาซ่อมแซมไม่เกิน 4 เดือน เผยมีตัวอย่างกระดาษทองย่นสำหรับประดับพระเมรุจากจีนหลายแบบแล้ว ขึ้นอยู่กับพระราชวินิจฉัยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ว่าจะทรงเลือกแบบใด
เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 5 ก.พ.มณฑลพิธีด้านหน้าโรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรมศิลปากร กำหนดจัดพิธีบวงสรวงการซ่อมราชรถ พระยานมาศ และเครื่องประกอบ ในงานออกพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยมีท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ ร.อ.จิทัศ ศรสงคราม พระนัดดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ประธานในพิธีบวงสรวงฯ น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น ประธานคณะทำงานการออกแบบและจัดสร้างพระเมรุในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร พล.ท.คำนวน เชียรประมุข เจ้ากรมสรรพาวุธ ทหารบก ทหารจากกองทัพเรือ และผู้บริหารระดับสูง วธ. ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในพิธีบวงสรวง โดยมีพระราชครูวามเทพมุนี หัวหน้าพราหมณ์ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ กรุงเทพมหานครเป็นผู้ประกอบพิธี
ในเวลา 11.45 น.คุณหญิงไขศรี ประธานในพิธีสักการะพระพุทธสิหิงค์ ที่พระที่นั่งพุทธไธสวรรค์ สักการะเจ้าพ่อหอแก้ว ที่ศาลาข้างพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ จากนั้นเวลา 12.15 น.ซึ่งเป็นฤกษ์บวงสรวง ประธานในพิธีจุดธูปเทียนถวายเครื่องสังเวยบูชาพระฤกษ์ พร้อมด้วยปี่พาทย์บรรเลงเพลงสาธุการ พราหมณ์บันลือสังข์ และไกวบัณเฑาะว์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ร่วมกันปักธูปหางที่เครื่องสังเวย
พระราชครูวามเทพมุนี อ่านโองการบวงสรวงเทพยดา และดวงพระวิญญาณพระมหากษัตริยาธิราชทุกพระองค์ โปรยเข้าตอกดอกไม้ที่เครื่องสังเวย จากนั้นพระราชครูวามเทพมุนีใช้ใบมะตูมพรมน้ำเทพมนต์ และทัดใบมะตูมที่พระมหาพิชัยราชรถ คุณหญิงไขศรีคล้องพวงมาลัยที่พระมหาพิชัยราชรถ โดยประกอบพิธีเช่นเดียวกันที่เวชยันตราชรถ ราชรถน้อย 3 องค์ พระยานมาศสามลำคาน พระที่นั่งราเชนทรยาน และพระวอสีวิกากาญจน์ที่จะต้องซ่อมแซมตามลำดับ หลังจากนั้นศิลปินสำนักการสังคีตรำสาธุการ 7 คู่
ต่อมาในเวลา 12.49 น.ซึ่งเป็นภูมิปาโลฤกษ์ ดำเนินงานซ่อมราชรถ คณะช่างที่เกี่ยวข้องจากทุกหน่วยงาน เริ่มดำเนินการบูรณะ โดยช่างได้ใช้เครื่องมือช่างอัญเชิญบันไดนาคด้านซ้ายออกจากองค์ราชรถน้อยเพื่อเป็นปฐมฤกษ์ในการซ่อมแซม จากนั้นพระราชครูวามเทพมุนีทำพิธีทัดใบตูม และเจิมหน้าผากให้กับทหารช่างจากกรมสรรพาวุธทหารบก ทหารจากกองทัพเรือ และช่างจากสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากรที่จะทำหน้าที่ซ่อมแซมราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบทุกคนเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ
จัดเครื่องสังเวยบูชาเทพยดาพร้อมพูน
พระราชครูวามเทพมุนี หัวหน้าพราหมณ์ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ กล่าวว่า ทางพราหมณ์ได้ถือฤกษ์บวงสรวงบูชาฤกษ์ดำเนินงานบูรณะราชรถ ราชยาน และพระยานมาศ ในเวลา 12.15 ซึ่งเป็นช่วงที่ พระอาทิตย์อยู่ตรงศูนย์กลางท้องฟ้า จากนั้นเวลา 12.49 น.ซึ่งเป็นภูมิปาโลฤกษ์ ลัคนาสถิตราศี พฤษภ ปฐวีธาตุ คณะช่างจากทุกหน่วยงานจะเริ่มดำเนินการบูรณะเป็นปฐมฤกษ์ สำหรับสิ่งของมงคลที่จะใช้ในการบวงสรวงครั้งนี้ จะประกอบด้วย ผักผลไม้ ได้แก่ ส้ม กล้วย อ้อย มะพร้าวน้ำหอม สาลี่ แก้วมังกร แอ๊ปเปิล เมล่อน แตงกวา ถั่ว งาดำ งาขาว หัวเผือก หัวมัน นม เนย น้ำผึ้ง หมากพลู น้ำชา ซึ่งเป็นเครื่องกระยาบวช(อาหาร) ของนักบวช ตามความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ ส่วนขนมหวาน อาทิ ขนมถ้วยฟู ขนมชั้น โดยเฉพาะขนมต้มแดงต้มขาว ซึ่งเป็นพระกระยาหารที่องค์พระพิฆเนศวร ทรงโปรด หมายถึง ความสุขและปัญญา
นอกจากนี้ ยังมีเครื่องสังเวยบูชาเทพยาดา อาทิ บายศรีปากชาม ซึ่งเป็นตัวแทนของเขาพระสุเมร ฉัตร 5-7 ชั้น เป็นที่อยู่ของเทพยดา ธูปมีควัน เป็นตัวแทน วายุ(ลม) เทียนเงิน เทียนทอง เป็นเครื่องบูชา เทพยดา ทั้งนี้ในบริเวณโต๊ะบวงสรวงมีการกั้นรั้วราชวัตรเป็นเขตมณฑลพิธีศักดิ์สิทธิ์ด้วย พระราชครูวามเทพมุนี กล่าวต่อไปว่า ขั้นตอนของการบวงสรวง พราหมณ์ จะบวงสรวงพระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์ พระพิฆเนศวร พระวิษณุ และเทวดาทั้งหลาย โดยเฉพาะการบูชาพระวิษณุ ซึ่งถือว่า เป็นเทพแห่งวิทยาการงานช่าง
จากนั้นพราหมณ์อ่านโองการบวงสรวงเทพยดา และดวงพระวิญญาณพระมหากษัตริยาธิราชทุกพระองค์ โดยขอให้การดำเนินการบูรณะราชรถ ในงานออกพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ สำเร็จลุล่วง โดยมีการติดใบมะตูม เจิม และพรมน้ำเทพมนต์ที่องค์ราชรถ ราชยาน และพระยานมาศ รวมถึงช่างสำนักช่างสิบหมู่และเครื่องมือช่าง ตลอดจนช่างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อความเป็นสิริมงคลในการทำงานบูรณะราชรถ ราชยาน และพระยานมาศ ให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี
ใช้เวลาซ่อมแซมไม่เกิน 4 เดือน
น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น ประธานคณะทำงานออกแบบและจัดสร้างพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กล่าวว่า ราชรถ พระราชยานมาศ และเครื่องประกอบอื่นๆนั้น สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ผ่านการใช้งานในพระราชพิธีพระบรมศพมาหลายครั้ง ซึ่งการที่ฝ่ายช่างจะเข้ามาซ่อมแซมบูรณะ ราชรถ พระราชยานมาศ จำเป็นต้องคิดถึงครูอาจารย์ที่เคยสร้างราชรถ พระยานมาศ มาตั้งแต่สมัยโบราณด้วย โดยการทำพิธีบวงสรวงนั้น เพื่อเป็นสิริมงคล ในการเริ่มงานซ่อมแซมให้กับช่างผู้ปฏิบัติงาน หลังจากนี้ทางคณะช่างจะเข้าทำการซ่อมได้ทันที โดยทางกรมสรรพาวุธ จะเข้ามาดูแลซ่อมในส่วนล้อ เพลา ก่อน อาจจะต้องทำการขยับตรวจดูการเคลื่อนไหว และความแข็งแรงของล้อด้วย แต่ยังไม่มีการการอัญเชิญออกนอกโรงราช
จากนั้น ฝ่ายช่างกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ จะเข้ามาชำระซากสิ่งสกปรก ที่อยู่ในราชรถ พระราชยานมาศ ซึ่งปล่อยทิ้งไว้มานานกว่า 11 ปี ให้สะอาด สำหรับในส่วนที่ชำรุด เช่น กระจกประดับ ปรอทที่เสีย ต้องแคะออกและประดับใหม่ ส่วนทองที่ยังอยู่ในสภาพที่ดี ก็จะต้องล้างทำความสะอาดใหม่ทั้งหมด ส่วนที่ชำรุดก็จะต้องซ่อมปิดทองใหม่ด้วย
“ส่วน พัตราภรณ์ อาทิ ม่าน ฉัตร และธงประดับหน้ารถ ก็จะต้องนำมาทำใหม่ เนื่องจากธงที่ใช้ เป็นธงแบบทองแผ่ลวด มีลักษณะตั้ง จะต้องอนุรักษ์ไว้ เพราะธงทองแผ่ลวดไม่ได้มีไว้ใช้กันทั่วไป เนื่องจากเป็นธงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานสำหรับใช้ประดับเรือพระราชพิธี ธงรถ หรือใช้กับฉัตรประกอบที่ในพิธีศพของข้าราชการต่างๆ ดังนั้นจำเป็นต้องมีการรักษา และสืบทอดเอาไว้ โดยขณะนี้ผู้ที่สามารถทำธงทองแผ่ลวดได้มีจำนวนน้อย เพราะเป็นงานที่มีความละเอียดอย่างมาก ทั้งงานช่างฝีมือ เย็บ ปัก ประดับกระจกด้วย” ประธานคณะทำงานฯ กล่าว
น.อ. อาวุธ กล่าวต่อว่า สำหรับฤกษ์การวางเสาพระเมรุนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดอย่างแน่นอน เนื่องจากแบบโครงสร้างพระเมรุยังไม่แล้วเสร็จ อยู่ในระหว่างที่วิศวกรคำนวณแบบโครงสร้างทั้งหมด รวมถึงออกแบบอาคารประกอบอื่นๆ ภายในพระเมรุด้วย หลังจากออกแบบทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว คณะทำงานจะเข้าไปกำหนดจุดวางผังทั้งโดยรวมทั้งหมด ในช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้ อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ที่แน่นอน ซึ่งการซ่อมแซมราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบต่างๆ นั้น คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 4 เดือน
พระเทพฯ ทรงวินิจฉัยกระดาษทองย่น
ประธานคณะทำงาน กล่าวด้วยว่า สำหรับกระดาษทองย่นที่จะนำมาใช้ประดับพระเมรุนั้น ขณะนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นธุระจัดหามาให้กรมศิลปกร ขณะนี้มีตัวอย่างกระดาษทองย่นส่งเข้ามาหลายตัวอย่างแล้ว จากการพิจารณาแบบกระดาษทองย่นที่ส่งเข้ามานั้น ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศจีน ซึ่งคิดว่าน่าจะใช้ได้ทั้งหมด แต่จะคัดเลือกกระดาษแบบใดนั้น จะต้องขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัย และการตัดสินพระทัยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเท่านั้น”
นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า หลังจากมีพิธีบวงสรวงไปแล้ว กรมศิลปากรจะเริ่มบูรณะราชรถ ราชยานเป็นทางการ กรมสรรพาวุธเข้ามาซ่อมส่วนโครงสร้าง ล้อ เพลา และเกรินก่อน จากการหารือเบื้องต้นจะให้ความสำคัญกับระบบขับเคลื่อน ส่วนล้อให้มีความสะดวก รับน้ำหนักได้มาก หลังจากนั้นสำนักช่างสิบหมู่จะส่งเจ้าหน้าที่มาซ่อมดูแลงานแกะไม้ ติดกระจกต่างๆ สุดท้ายเจ้าหน้าที่กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์จะเข้ามาทำความสะอาด
จากนั้นประสานกองทัพเรือผูกเชือกชักลากเป็นอันเสร็จการซ่อมบูรณะ คาดว่าจะใช้เวลาการซ่อมบูรณะ 4-5 เดือน สำหรับเครื่องประกอบที่จะต้องซ่อมเป็นพิเศษ พระที่นั่งราเชน พระวอสีวิกากาญจน์ และราชรถน้อย ส่วนอื่นๆ จะมีการซ่อมดูแลปกติ เช่น พระยานมาศ 3 ลำคาน และพระมหาพิชัยราชรถ พระเวชยันตรราชรถ อาจจะเสร็จเร็วกว่า ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯจะใช้ราชรถองค์ใด ก็พร้อมจะใช้งานได้ทันที
ส่วนความคืบหน้าเรื่องไม้จันทน์นั้น ทางกรมป่าไม้ประสานมอบอย่างเป็นทางการในวันจันทร์ที่ 11 ก.พ.นี้ เวลา 14.00 น. พล.ท.คำนวณ เธียรประมุข เจ้ากรมสรรพวุธทหารบก กล่าวว่า สำหรับการบูรณะราชรถ ราชยานนั้น กรมสรรพาวุธถวายงานมาแล้ว 2 ครั้งคือในพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เมื่อปี 2528 และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ปี 2539 จึงมีประสบการณ์โดยตรง สิ่งที่ต้องดำเนินการเป็นอันดับแรกคือช่วงล่างของราชรถทั้งหมด
ซึ่งจากการตรวจสอบเจ้าหน้าที่เบื้องต้นนั้น พระมหาวิชัยราชรถ เวชยันตรราชรถ มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ เพราะเพิ่งผ่านการใช้ในงานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ส่วนราชรถน้อย 3 องค์นั้น 2 องค์เพิ่งบูรณะไป เหลือราชน้อยอีก 1 องค์ที่ยังไม่ได้รับการบูรณะ ราชรถทั้งหมดสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จึงมีอายุการใช้งานมานาน จึงเป็นโอกาสที่จะมีการซ่อมบูรณะ เมื่อเสร็จสิ้นการบวงสรวงแล้วกรมสรรพวุธจะส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบราชรถ ราชยานทั้งหมด เพื่อนำไปวางแผน และตั้งคณะทำงานอย่างเป็นทางการต่อไป พันเอกศักดา ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการกองโรงงานช่างแสง ศูนย์อุตสาหการ สรรพาวุธ กรมสรรพาวุธ ทหารบก กล่าวว่า ขณะนี้ช่างของกรมสรรพาวุธทหารบกมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการซ่อมบูรณะราชรถ ราชยาน ทั้งช่างไม้ และช่างเหล็ก
ในวันบวงสรวงทางเจ้าหน้าที่จะทำการเบิกปฐมฤกษ์ซ่อม โดยอัญเชิญบันใดนาคด้านซ้ายองค์ราชรถน้อยออกมาซ่อมบูรณะเป็นอันดับแรก เพื่อเอาฤกษ์เอาชัย จากนั้นในวันพฤหัสบดีที่ 14 ก.พ.นี้จะเริ่มดำเนินการซ่อมอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะในส่วนช่างล่าง ล้อ เพลา ต้องตรวจดูลูกปืน ล้อ ระบบเคลื่อนทั้งหมด รวมทั้งใส่เทคนิคใหม่ในระบบเบรก ระบบกันกระแทรก เป็นต้น คาดว่าน่าจะเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ โดยใช้ทหาร เจ้าหน้าที่ทั้งหมดกว่า 100 คน
นายสุทิน ด้วงยา หัวหน้างานช่างกรมสรรพาวุธ ในฐานะช่างที่เคยซ่อมบูรณะพระเวชยันตระราชรถ ในพระราชพิธีพระราชทางเพลิงพระศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ต้องเริ่มด้วยการดูแลช่างล่าง ล้อ การแกะไม้ ทาสีทองบางส่วน ระบบไฮโดรลิก ซึ่งการซ่อมบูรณะราชรถในพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร การเข้าพิธีบวงสรวงนี้ถือเป็นการบูชาครู และเป็นกำลังใจให้กับช่างบูรณะทุกคน ด้าน พล.ร.ต.มานิตย์ สูนนาดำ ผอ.อู่ทหารเรือธนบุรี กล่าวว่า ในส่วนของทหารเรือเป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาดูแลเรื่องการจัดหาเชือกที่จะใช้ชักจูงราชรถ รวมทั้งการร้อย ถัก ผูกเงื่อนเชือกต่างให้สามารถรับแรงได้ไม่มีปัญหา ซึ่งจะต้องทำให้ดีที่สุด