จากคดี นางสาวปิยะธิดา โชติมนัส นักศึกษาเอแบค ชั้นปีที่ 4 พลัดตกจากรถร่วมบริการสาย 207 เมื่อคืนวันที่ 14 กันยายน 2547 จนเป็นเหตุให้สมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง และเสียชีวิตในเวลาต่อมานั้น แม้จะเป็นโศกนาฏกรรมจากความสะเพร่าประมาทเลินเล่อที่นำมาซึ่งการสูญเสียทั้งอนาคตของชาติ และบุคคลอันเป็นที่รักยิ่งของพ่อแม่
แต่กระนั้นก็ยังมีความพยายามต่อสู้เพื่อลดหย่อนค่าสินไหมทดแทนจำนวนกว่า 10 ล้านบาทจากด้านผู้ประกอบการที่ตกเป็นจำเลย โดยให้เหตุผลว่าเป็นเหตุสุดวิสัย และยังระบุด้วยว่าไม่มีกฎหมายบังคับให้ปิดประตูรถขณะรถวิ่ง ทั้งที่ในทางตรงกันข้าม กลับพบความจริงที่ชวนเศร้าว่าขณะที่รถเมล์สาย 207 ขอขึ้นค่าโดยสารจากราคา 3 บาท เป็น 5 บาทนั้น ได้มีการทำข้อตกลงกับทางองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (ขสมก.) ว่า ต้องมีระบบประตูอัตโนมัติเพื่อให้ความปลอดภัยแก่ผู้โดยสาร
ด้วยเหตุนี้ ศาลพิจารณาแล้วจึงเห็นว่า คำอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น เพราะรู้ดีว่าประตูรถเมล์ชำรุด ควรจะต้องดูแลปรับปรุง จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมให้แก่โจทก์กว่า 10 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี แม้เรื่องนี้จะผ่านมากว่า 3 ปีแล้ว แต่ในความเป็นจริงกลับยังพบว่าข้อปฏิบัติว่าด้วยเรื่องมาตรฐานของประตูรถโดยสาร (รถเมล์) ที่ทางสำนักวิศวกรรมและความปลอดภัย กรมการขนส่งทางบกพยายามผลักดันได้ถูกผู้ประกอบการจากหลายสมาคมทำหนังสือขอยกเลิกด้วยเหตุผลว่าจะเป็นการเพิ่มต้นทุน ทั้งๆ ที่ค่าใช้จ่ายแค่ประมาณหมื่นกว่าบาทต่อคัน มากกว่านั้นในขณะนี้ก็มีบริษัทที่สามารถผลิตประตูอัตโนมัติตามมาตรฐานได้ในราคาเพียง 3 พันกว่าบาทเท่านั้น
เช่นนี้แล้ว ยังมีเหตุผลใดที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถโต้แย้ง และเห็นความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริโภคถูกกว่าค่าประตูรถแค่ 3 พันบาท
ดังนั้น การถูกฟ้องร้องให้ผู้ประกอบการต้องชดใช้ในมูลค่าสูงกว่า 10 ล้านบาท ไม่เพียงจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการทำให้ทุกฝ่ายหันมายกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางมากขึ้นเท่านั้น ทว่ายังช่วยให้สังคมไทยตื่นตัว ด้วยประจักษ์ชัดว่าขณะนี้ตนเองไม่ได้โดดเดี่ยวเดียวดายหากได้รับอันตรายจากการโดยสารรถโดยสารสาธารณะ เนื่องจากวันนี้เริ่มมีสัญญาณจากผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สภาทนายความ เครือข่ายเหยื่อ ฯลฯ ที่เข้ามาร่วมเป็นภาคีหนุนเนื่องยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ
ขณะเดียวกัน ก็เป็นแรงผลักสำคัญที่จะทำให้ทั้งผู้ประกอบการและผู้ดูแลกฎระเบียบต้องเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มากกว่าที่เป็นอยู่ มิเช่นนั้นก็จะเกิดกรณีฟ้องร้อง เช่น น้องปิยะธิดา ตามมาอย่างต่อเนื่องอีกเป็นระยะๆ อย่างแน่นอน
หากกระนั้น สุดท้ายสังคมไทยจะต้องเห็นความสูญเสียเป็นบทเรียนสำคัญ ดังความพยายามของคุณพ่อของ น้องปิยะธิดา ที่ได้ต่อสู้เรื่องนี้มายาวนานกว่า 3 ปี เพราะอยากเห็นการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยให้สูงกว่านี้