สธ.มอบแนวทางให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควบคุมการประกอบกิจการให้บริการเลี้ยงและดูแลเด็กที่บ้านเป็นไปตามกฎหมาย เพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยเด็ก เผยขณะนี้มีเด็กไทย 0-5 ปีกว่า 1 แสนคน หรือร้อยละ 3 อยู่กับพี่เลี้ยง ชี้พี่เลี้ยงสมัยใหม่ต้องมีความรู้ เข้าใจพัฒนาการเด็กแต่ละวัย ผลักดัน อบต.ส่ง พี่เลี้ยงในศูนย์เด็กเล็กเรียนถึงขั้นปริญญาตรี มีตำแหน่งรองรับ เพื่อวางรากฐานให้เด็กมีพัฒนาการดีที่สุด
วันนี้ (1 ก.พ.) ที่โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี นพ.มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมผู้บริหาร ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข คณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์ มาตรฐาน กิจการให้บริการรับเลี้ยงหรือดูแลเด็ก/ผู้สูงอายุ จำนวน 120 คน เพื่อชี้แจงแนวทางการควบคุมการประกอบกิจการให้บริการเลี้ยงและดูแลเด็กที่บ้าน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกำหนดให้การประกอบกิจการให้บริการเลี้ยงและดูแลเด็กที่บ้าน เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2550
นพ.มรกต กล่าวว่า จากข้อมูลในปี 2548 ทั่วประเทศมีเด็กเกิดประมาณปีละ 8 แสนคน เป็นเด็กอายุ 0-5 ปีประมาณ 4 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 6 ซึ่งในเด็กกลุ่มนี้ได้รับการดูแลที่แตกต่างกัน จากการสำรวจพัฒนาการเด็กปฐมวัยของกรมอนามัยในปี 2550 สรุปว่าในเวลากลางวันเด็กจะได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ประมาณ 1.75 ล้านคนหรือร้อยละ 44 ปู่ย่าตายายเลี้ยงดูประมาณ 1.14 ล้านคนหรือร้อยละ 28 ดูแลที่โรงเรียนอนุบาลหรือศูนย์เด็กเล็กประมาณ 1 ล้านคนหรือร้อยละ 25 ที่เหลือประมาณ 110,000 คน หรือร้อยละ 3 ดูแลโดยผู้อื่น ได้แก่ จ้างเพื่อนบ้านเลี้ยง จ้างพี่เลี้ยงมาเลี้ยงที่บ้าน ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เช่น ถูกพี่เลี้ยงทุบตี หรือเลี้ยงดูไม่ถูกวิธี ทำให้เด็กได้รับอันตรายและเสียชีวิตตามที่เป็นข่าว จึงรู้สึกห่วงใยสุขภาพของเด็กและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอีกมากมาย ทั้งทางตรงและทางอ้อมนี้มาก
ทั้งนี้ จากข้อมูลจำนวนสถานรับเลี้ยงเด็กหรือศูนย์เด็กเล็กล่าสุดในปี 2550 ทั่วประเทศมีทั้งหมด 19,800 แห่ง กว่าร้อยละ 90 อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 18,146 แห่ง ที่เหลือเป็นของภาคเอกชน โดยมีเด็กอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กหรือศูนย์เด็กเล็กประมาณ 940,000 คน
นพ.มรกต กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาเด็กในช่วง 0-5 ปี มีความสำคัญมาก เป็นรากฐานการพัฒนาเด็กทั้งชีวิต โดยองค์ประกอบที่จะทำให้เด็กมีพัฒนาการได้ดีที่สุดโดยเฉพาะพัฒนาการทางสมอง คือ การเลี้ยงดูที่ดี และการให้เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กทั้งพ่อแม่ เครือญาติใกล้ชิดเด็ก หรือผู้บริหารศูนย์เด็กเล็ก เนิสเซอรี่ ต้องใส่ใจให้ความสำคัญในการเลี้ยงดูเด็กในช่วง 5 ปีแรกของชีวิตให้มาก เพราะหากสมองเด็กได้รับความกระทบกระเทือนจนสูญเสียบางส่วนไป จะเท่ากับทำลายอนาคตและพัฒนาการของเด็กไปตลอดชีวิต หากได้พี่เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ จะทำให้เด็กมีพัฒนาการดีตามไปด้วย จากการวิเคราะห์กฎหมายที่ผ่านมาพบว่า การให้บริการส่งพนักงานไปเลี้ยงและดูแลเด็กที่บ้านนั้นยังไม่มีกฎหมายใดดูแล
สำหรับการปฏิบัติตามกฎหมายนี้ ต้องขอความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ให้นำไปควบคุมอย่างจริงจัง โดยให้ตราเป็นบัญญัติท้องถิ่น กำหนดให้เป็นกิจการที่ต้องขออนุญาต พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ในการควบคุมกิจการในท้องถิ่นด้วย หากท้องถิ่นประกาศควบคุมแล้ว ผู้ประกอบการทั้งเก่าและใหม่ต้องขออนุญาต หากประกอบการโดยไม่ขออนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
ทางด้านนพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การสัมมนาในวันนี้ให้ความสำคัญทั้งพี่เลี้ยงเด็กและผู้ดำเนินกิจการต้องมีความรู้ด้านการดูแลเด็กด้วย โดยพี่เลี้ยงเด็กต่อไปนี้ นอกจากจะต้องมีจิตใจรักเด็กเสมือนเป็นญาติที่ใกล้ชิดแล้ว จะต้องมีความรู้ในเรื่องมาตรฐานการดูแลเด็ก และมีความรู้เรื่องพัฒนาของเด็กแต่ละช่วงวัยด้วย เพราะการเลี้ยงเด็กเป็นเรื่องละเอียดอ่อน พี่เลี้ยงจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้กระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการเด็กตามวัย ฉะนั้นจะต้องมีความรู้ให้ถึงขั้นปริญญาตรีจะดีที่สุด เพราะส่วนใหญ่การหาพี่เลี้ยงเด็กที่ผ่านมามักจะไม่ค่อยมีใครคำนึงถึงเรื่องความรู้ โดยหากเป็นคนโสดก็จะดูเฉพาะประสบการณ์ว่าเคยเลี้ยงเด็กมาก่อนหรือไม่ แต่หากคนที่แต่งงานแล้วก็จะดูว่าเคยมีลูกมาก่อนหรือไม่
ในการพัฒนาพี่เลี้ยงให้มีคุณภาพ ในระยะสั้นกรมอนามัยได้เตรียมหลักสูตรอบรม และจะเปิดอบรมพี่เลี้ยงเด็กในเขตพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์อนามัย เช่น ราชบุรี ขอนแก่น นครสวรรค์ เชียงใหม่ เร็วๆ นี้ และจะร่วมกับหน่วยงานอื่นเช่น กระทรวงศึกษาธิการ เปิดศูนย์อนามัยที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค 12 แห่ง ให้เป็นศูนย์ฝึกเพื่อการเรียนรู้ด้านพัฒนาการเด็ก พร้อมการจัดเมนูอาหารสำหรับเด็ก และการดูแลด้านอื่นๆ อีกด้วย
นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ในระยะยาวจะสนับสนุนนโยบายของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้ส่งพี่เลี้ยงที่ประจำการในศูนย์เด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปเรียนต่อระดับปริญญาตรี และจะจัดหาตำแหน่งรองรับ ซึ่งจะทำให้กลุ่มคนที่ดูแลเด็กเหล่านี้ได้มีความรู้ และส่งผลให้เด็กได้รับการดูแลและมีพัฒนาการสมวัย พร้อมที่จะศึกษาต่อในระบบโรงเรียน และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต