xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตเปื้อนดิน 4 นร.อาชีวะเกษตรชุมพรในศูนย์เรียนรู้เกษตรพอเพียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้แสงอาทิตย์อันแรงกล้าจะพากันกระหน่ำโจมตีลอดผืนฟ้าลงมายังผืนแผ่นดินเบื้องล่างอย่างไม่ปรานีปราศรัย แต่พวกเขาทั้ง 4 คน ก็ไม่ย่อท้อก้มหน้าทำงานเอาหลังสู้ฟ้าเอาหน้าสู้ดินกันต่อไปด้วยความเต็มใจ เพราะพวกเขาเลือกแล้วที่จะพลิกผันชีวิตในห้องเรียนสี่เหลี่ยมก้าวสู่ไร่นาเพื่อที่จะเรียนรู้วิถีชีวิตของ “เกษตรกร” ว่าเป็นเช่นไร

ทว่า วิถีชีวิตเกษตรกรที่ว่า ไม่ใช่วิถีทั่วๆ ไปหากแต่เป็นวิถีเกษตรพอเพียงที่ทางวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพรจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ที่แห่งนี้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้การเกษตรทฤษฎีใหม่” สำหรับนักเรียนนักศึกษาที่สนใจ

พวกเขาทั้ง 4 คนประกอบไปด้วย เอกพันธ์ หนูบำรุง, ชัยมงคล พลพุฒ, เมทะนี มากประดิษฐ์ และ ตกานต์ ประนอม ขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ในชั้น ปวช.ปี 1 สาขาประมง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร

**เลือกแล้วที่จะเป็นเกษตรกร
คำถามแรกที่เชื่อว่า ทุกคนคงอยากรู้ ก็คือ ทำไมเด็กรุ่นใหม่อย่างพวกเขาจึงตัดสินใจมาเรียนด้านการเกษตร แทนที่จะเรียนต่อในสายสามัญ ม.4 ม.5 ม.6 และเข้ามหาวิทยาลัยไปเรียนสาขาที่เด็กยุคนี้นิยมเรียนกัน เช่น คอมพิวเตอร์ วิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ

ในเรื่องนี้ เอกพันธ์ นักเรียนอาชีวเกษตร วัย 15 ปี จากอำเภอสวี จังหวัดชุมพร ให้เหตุที่เลือกเรียนต่อด้านเกษตร โดยเฉพาะในสาขาประมงว่าเป็นเพราะที่บ้านมีอาชีพทางด้านนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คือ เลี้ยงปลาดุกขาย ดังนั้น จึงตัดสินใจมาเรียนเพื่อที่จะได้นำกลับไปพัฒนาอาชีพที่พ่อแม่ทำอยู่ในดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก และตั้งใจเอาไว้ว่า เมื่อจบการศึกษาก็จะกลับไปยึดเปิดฟาร์มเลี้ยงปลาขายอย่างแน่นอน

“ไม่อยากเรียนสายสามัญ เพราะเป็นการเรียนรู้แต่ทฤษฎี ไม่ได้เรียนรู้วิชาที่จะสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้ด้วย”

ส่วนการที่เลือกมาเรียนรู้ในศูนย์การเรียนรู้การเกษตรทฤษฎีใหม่ ก็เพราะต้องการมาเรียนรู้ว่า แท้ที่จริงแล้วเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างไร และสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้มากน้อยแค่ไหน

“คือ อยู่ที่นี้อาจารย์เขาให้เราทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ทำเหมือนกับอยู่ที่บ้านเลย คือกินนอน ใช้ชีวิตทุกอย่างเหมือนกับเป็นเกษตรกรจริงๆ ปลูกผัก เลี้ยงหมูหลุม หุงข้าว ทำกับข้าว เรียนที่นี่สนุกกว่า ชอบมากกว่าเรียนในห้อง ผมมาอยู่ที่นี่ประมาณ 3-4 เดือนแล้ว และก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย ซึ่งหลังจากที่ได้เรียนรู้แล้ว ผมก็จะนำกลับไปใช้ในชีวิตจริงด้วย” เอกพันธ์ เล่าประสบการณ์ที่ได้รับ

ด้าน ชัยมงคล อีกหนึ่งหนุ่มวัยเดียวกันจากอำเภอประทิว จ.ชุมพร กล่าวว่า เหตุที่เลือกเรียนด้านการเกษตร เพราะชอบและมีใจรักเป็นทุนเดิม โดยที่บ้านประกอบชีพทำสวนปาล์มและทำส่วนกาแฟ ส่วนที่เลือกเรียนประมงเพราะมีญาติที่ทำอาชีพประมงเลยอยากจะมาเรียนด้านนี้

“ได้มาอยู่ที่ศูนย์สนุกมาก เพราะผมชอบปฏิบัติมากกว่า ไม่ชอบนั่งในห้องเรียน มาอยู่ที่นี่ผมได้เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ว่าเป็นอย่างไร เกษตรทฤษฎีใหม่ คือ การเกษตรซึ่งมีครบหมดทุกอย่างโดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นเลย เลี้ยงปลา ปลูกผัก ปลูกพืช ทำนา”

“อนาคตผมคงอยู่ในแวดวงเกษตร แต่ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นอะไรหรือทำอะไร คิดว่าคงจะเรียนต่อ ผมคิดว่าข้อดีของอาชีพเกษตร คือ ไม่ต้องพึ่งคนอื่น อยู่กับตัวเอง ถามว่าแปลกไหมที่เลือกเรียนด้านนี้ แปลก เพราะเพื่อนส่วนใหญ่จะไปเรียนสายสามัญกัน แต่เพราะผมชอบด้านนี้ ผมก็เลยเรียน” ชัยมงคล เล่าพร้อมกับใช้เสียบขุดหลุมสำหรับตั้งเสาเพื่อบังแดดแปลงผักที่เตรียมจะปลูกในอีกไม่ช้า

**ความคิดดีจาก ผอ.ชื่อ “วิศวะ”
วิศวะ คงแก้ว ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร จ.ชุมพร เล่าถึงกำเนิดของศูนย์การเรียนรู้การเกษตรทฤษฎีใหม่ว่า จริงๆ แล้ว ศูนย์แห่งนี้ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2541 มีพื้นที่ประมาณ 17 ไร่ แต่ในระยะหลังๆ ไม่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และปล่อยพื้นที่ทิ้งเอาไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ กระทั่งในปี 2550 เมื่อตนเองเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการจึงได้รื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งเพื่อปรับห้องเรียนแบบใหม่โดยให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริง หรือ Learning by doing

“สิ่งสำคัญที่เราให้เขาได้เรียนรู้ในศูนย์นี้ ก็คือ ความหมายของการเกษตรแบบพอเพียง นั่นก็คือ การสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับอาชีพเกษตรกรโดยลดการพึ่งพาจากภายนอก ที่นี่เราให้เขาได้เรียนรู้การเกษตรด้วยตัวเองจริงๆ เช่น เขาไม่เคยซื้อแผ่น PE มาคลุมแปลงผักเพื่อป้องกันวัชพืช เราก็ซื้อมาให้เขาได้ลองทำ ให้เขาได้ทดลองเลี้ยงหมูหลุม เพราะฉะนั้นเด็กๆ จะสนุกและได้เรียนรู้ทุกอย่างโดยมีครูพี่เลี้ยงคอยดูแลถ่ายทอดความรู้ให้”

“ปกติเด็กๆ เหล่านี้ก็จะเรียนทฤษฎี เรียนวิชาการเหมือนกับเพื่อนๆ เพียงแต่ว่า พวกเขาจะมีโอกาสได้เรียนรู้การเกษตรของจริง กล่าวคือ ตอนเช้าก่อนเข้าห้องเรียน ประมาณหกโมงเช้าพวกเขาก็จะลงพื้นที่รดน้ำ พรวนดิน ให้อาหารสัตว์ กินอยู่หลับนอนอยู่ที่นี่เสร็จสรรพ ส่วนเด็กคนอื่นๆ นอกเหนือจาก 4 คนนี้ เราก็ให้เขาได้เขามาเรียนรู้ด้วยเพียงแต่ไม่ได้อยู่ประจำเท่านั้น” ผอ.วิศวะ แจกแจง



วิศวะ คงแก้ว ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพ
กำลังโหลดความคิดเห็น