ไขมุมมอง ‘สมประสงค์ บุญยะชัย’ ประธานกรรมการบริหารชินคอร์ป เติบโตอย่างระมัดระวังภายใต้บทเรียนจากไอทีวีและแคปปิตอลโอเค ชี้การขยายธุรกิจใหม่ต้องมองรอบด้านไม่ว่าจะเป็นมิติด้านกฏเกณฑ์ สังคม พฤติกรรมผู้บริโภค คู่แข่งขัน และเทคโนโลยี โดยมิติด้าน Financial ไว้ท้ายสุด ยอมรับยังไม่เห็นธุรกิจใหม่เอี่ยมเล็งแค่ต่อยอดธุรกิจโทรคมนาคม
ทิศทางชินคอร์ปในปีนี้
แยกเป็น 2 ส่วนคือ 1.ทางธุรกิจ แยกเป็น 2 ส่วนย่อยคือธุรกิจในปัจจุบัน ได้แก่ธุรกิจหลักๆในสายเอไอเอสกับสายดาวเทียม ส่งเสริมให้ธุรกิจดำเนินไปตามเป้าหมายของตัวเอง ชินจะทำหน้าที่เป็นโฮลดิ้งคัมปะนี ติดตามผลประกอบการและหากรรมวิธีในการเชื่อมประสานในการที่จะสร้างความแข็งแรงให้มากที่สุด ในส่วนที่2คือธุรกิจที่จะเกิดขึ้นใหม่ ก็มี 2 แบบคือธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่จากธุรกิจที่มีอยู่แล้ว และธุรกิจที่ไม่เคยมีมาเลย
ธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่จากที่มีอยู่แล้ว เน้นมากเพราะเป็นการต่อยอด ในการนี้ให้คุณอารักษ์ ชลธาร์นนท์เป็น Chairman ด้าน New Business จะดูแลประสานกับคนที่อยู่ในสายธุรกิจและจะเพิ่มเติมความรู้เข้าไปเพื่อต่อยอดให้เพิ่มขึ้นอย่างเอไอเอสก็จะพยายามเดินไปสู่การเป็นบรอดแบนด์ทั้งด้านไวร์เลส และดาต้าเซอร์วิสขยายตัวออกไปจากที่ไปขอไลเซ่นต์ใหม่พร้อมทั้งเรื่องอินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์
อันหนึ่งที่กำลังเวิร์กอย่างมากก็คือเรื่องของไลเซ่นต์ 3G ซึ่งยังไม่รู้ว่าโซลูชั่นแบบไหนขึ้นอยู่กับรัฐบาล แต่เราก็พร้อมทำทุกทางเลือกที่จะเกิดขึ้น ธุรกิจใหม่ของชินแซทในสายดาวเทียมก็จะเป็นการต่อยอดออกไป ธุรกิจเดิมที่มีอยู่ก็จะขยายด้านไอพีสตาร์ในประเทศจีน อินเดีย
ธุรกิจใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาเลยอยู่ในระหว่างการศึกษา กระบวนการเริ่มจากการศึกษาก่อนแล้วเอามาดูว่าเป็นโอกาสที่จะทำธุรกิจได้หรือไม่ ถ้าทำได้ ก็ไปทำรีเสริช และมาทำเรื่องความเป็นไปได้ของโครงการ (Fisibility Study) และเติมเรื่อง Financial เข้าไป แล้วถึงเสนอให้กรรมการบริหารและกรรมการบริษัทพิจารณา ส่วนธุรกิจที่มีอยู่ที่ไม่ใช่ 2 สายหลัก ก็ให้คุณอารักษ์ดูแลอยู่คือธุรกิจมีเดีย ก็ต้องหาธุรกิจใหม่เพิ่มเติม
แนวคิดจะเป็นอย่างนี้ เป็น Existing Service ใน Existing Customer ,New Service ใน Existing Customer , Existing Service ใน New Customer และก็ New Service ใน New Customer ซึ่งใหม่มาก แต่New Service ใน Existing Customer ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายดี อย่างกรณีแม็ทช์บ็อกซ์รับงานเอไอเอส รับโปรดักส์ชั่นซื้อมีเดีย จบแค่นั้น ก็ต้องดูว่ามีเซอร์วิสอะไรอีกมั้ย อย่างเขามีแนวคิดว่างานพีอาร์เป็นภัยคุกคามเอเย่นซี่โฆษณา เพราะฉะนั้นอะไรเป็นงานที่เอเย่นซี่โฆษณาที่จะสามารถเคลื่อนที่ไปพร้อมๆกับกระแสนิยมอันนี้ที่เกิดขึ้นในโลก ขณะเดียวกัน Existing Service ที่มีอยู่ทำอย่างไรถึงจะเคลื่อนที่ไปสู่ New Customer จะมีลูกค้าใหม่ที่ไหนบ้าง
มิติที่ 2 ภาพรวมว่าด้วยเรื่องสังคมและมวลชน นโยบายยังเหมือนเดิมคือปลอดการเมือง (Politic Free) ต้องยึดมั่นว่าเราเป็นสถาบันทางธุรกิจซึ่งมีธรรมาภิบาลกำกับ ซึ่งสร้างประโยชน์ให้ผู้ใช้บริการเพื่อให้ได้รับความรักความพึงพอใจจากผู้ใช้บริการ และสร้างให้เกิดรายได้กลับมา ก็จะได้สร้างโอกาสให้พนักงานในการที่จะเจริญก้าวหน้า จากการสร้างความรู้ความสามารถ และไปสู่เรื่องตำแหน่งและรายได้ บริษัทก็เจริญเติบโต และเปลี่ยนสภาพจากคัมปะนีเฉยๆไปเป็นสถาบัน ซึ่งหวังว่าจะเป็น Learning Organization และคงอยู่ไปนานๆ ซึ่งก็จะไม่ขึ้นอยู่กับตัวคนแล้ว เพราะเป็น Learning Organization เป็น Individual Learn เป็น Organize Learn ต่อไปจะเป็นองค์กรของความรู้และเคลื่อนที่ต่อไปอย่างเป็นระบบ เป็นที่อยู่ที่พัฒนาเป็นสถานที่เลี้ยงชีวิตของคนจำนวนมาก ไม่ขึ้นอยู่กับผม ไม่ขึ้นอยู่กับใคร
การตั้งอยู่อย่างนี้ ตั้งอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องมองมิติของสังคมด้วย ชินก็จะต้องมี Contribution เพราะที่เราเจริญขึ้นมา นอกจากหน้าที่ซึ่งเราต้องแอปพลายกับกฏเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆและกฏหมายแล้ว เราต้องทำในสิ่งที่เต็มใจจะกระทำคือจะต้องมีงานที่สะท้อนการสำนึกถึงความรับผิดชอบกับสังคม ให้มีหมดทุกสายธุรกิจเป็นไปตามกำลังความสามารถ มีมัตตัญญุตา
โดยแนวทางดำเนินการลึกๆต้องยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตามหลัก 3 ข้อคือพอประมาณ หมายความว่าให้สมกับความสามารถตัวเอง หรือการมีมัตตัญญุตา การประมาณตนซึ่งต้องรู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตนก่อน ข้อที่สองคือมีเหตุมีผล อารมณ์ไม่เอา การตัดสินทางธุรกิจต้องตั้งบนเหตุผล ไม่ใช่ตั้งบนแรงขับแห่งความเคียดแค้นหรือความจ้องโลภ ข้อที่สามคือมีภูมิคุ้มกัน หมายความว่าเรามี Risk Assisment ที่ดี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเรื่อง Governant เป็นเรื่องที่พัฒนาขึ้นมากในบริษัทจาก Internal Audit การมี Risk Management ต้องประกอบด้วย Risk Assisment ต้องประเมินว่าความเสี่ยงที่จะเกิดกับบริษัทคืออะไร และเราจะหาทางป้องกันล่วงหน้าอย่างไร เรียกว่ามีภูมิคุ้มกัน
ดังนั้นเมื่อมีปัจจัยภายนอกอะไรมากระทบ เราก็ตั้งอยู่ได้ หลักการนี้เอาไปแอปพลายทั้งข้อที่ 1 คือในทางธุรกิจและข้อที่ 2 ในด้านสังคม ในทางธุรกิจการจะลงทุนหรือเคลื่อนที่อะไรก็ตั้งอยู่ตามนี้ ในทางสังคมหมายถึงภาพลักษณ์ จุดยืน การ Contribution ให้สังคม ถ้าตั้งอยู่อย่างนี้บริษัทจะมีเสถียรภาพสูง รายละเอียดของโครงการ CSR ก็จะแตกต่างกันไปแต่ยึดหลักในแกนเดิมคือต้องมีประโยชน์ในสังคมแห่งนี้ ชินหรือเอไอเอสหรือชินแซทก็ต้องมีประโยชน์กับสังคมไทย ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเสียภาษี
หลังจากผมรับหน้าที่ ชินได้เพิ่มขึ้นมานอกจากแคมป์สนุกคิด ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องวรรณกรรมไทย ได้ทำโครงการสืบสานวรรณกรรมไทย ได้รับการตอบรับมากและปีนี้ก็จะทำต่อ โครงการบำเพ็ญประโยชน์พนักงานชิน ไปบ้านเด็กคนพิการมูลนิธิสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ ไปช่วยโครงการหลวงบ้านห้วยทราย ปีนี้จะไปเขาหินซ้อน ทำขึ้นมาอีก 3 แห่งเป็นการขยายบทบาทของชิน เอไอเอสก็ดำเนินการต่อในเรื่องของถังน้ำ คนเก่งหัวใจแกร่ง ชินแซทเดินหน้าในเรื่องการศึกษา เป็นแนวทางโดยสังเขปทั้งหมดที่จะทำ
โครงการ CSR ทั้งหมดใช้เงินเท่าไหร่
ประมาณ 300 กว่าล้านบาท เป็นความเต็มใจที่จะทำ ผมเห็นว่าเมื่อเรามีกำลังความสามารถที่จะทำก็ควรจะทำ ไม่ควรนิ่งดูดาย และไม่ใช่เป็นการทำตามกระแส
ธุรกิจที่เคยลงทุนอย่างไอทีวีหรือแคปปิตอลโอเคให้บทเรียนอะไรชินบ้าง
เยอะเลยครับ ผมมีนิสัยเหมือนทหารต้องมีการประเมินผลหลังภารกิจจบ กรณี แคปปิตอลโอเค เห็นได้ชัดว่าเราเข้ามาในธุรกิจที่คอนเซ็ปต์มันดีแต่ว่าสถานการณ์ทั้งหมดมันเปลี่ยนไป การเกิดกระแสคนเป็นหนี้มากในต่างประเทศทำให้เกิด Awareness ในสังคมไทยเกิดกระแสกลัวคนเป็นหนี้มาก แบงก์ชาติกำหนดเรื่อง GAP ดอกเบี้ย ทำให้บริษัทมีปัญหา เป็นปัจจัยภายนอกเราก็ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เราเข้ามาที่หลังเราอาจมีความชำนาญหรือความยาวนานในธุรกิจนี้ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดผลกระทบมาก ในเรื่องไอทีวีเป็นปัจจัยเรื่องการตัดสินของศาลก็ต้องยอมรับไป ในอดีตเราเชื่อคำตัดสินของอนุญาโตฯ แต่ต่อมาศาลตัดสินเราก็ต้องยอมรับ
ในแง่ธุรกิจที่จะเข้าใหม่ ถ้าจะประสบความสำเร็จต้องมีมิติมากกว่ามิติด้าน Financial ถึงได้ต้องทำรีเสริชอย่างน้อยเราต้องมองมิติของสังคม มิติของการกำกับดูแล มิติของพฤติกรรมผู้บริโภค มิติของคู่แข่งขัน สภาวะตลาด เทคโนโลยี และมิติของ Financial ตัวผมถึงเอา Financial ไว้สุดท้าย อันนี้เกิดจากการเรียนรู้
แต่ในขณะนี้ผมยังไม่เห็นธุรกิจใหม่เอี่ยมเลย มองเห็นส่วนต่อยอดจากโทรคม เพียงแต่ไม่ปิดกั้นตัวเอง เลยตั้งด้วยการ Study และ Research ก่อน
ปีนี้อุตสาหกรรมโทรคมเป็นอย่างไร
น่าจะดีขึ้น ผมมองว่า Political Cycle ,Economy Cycle และ Business Cycle 3 ส่วนนี้ Economy Cycle น่าจะดีขึ้น แต่อาจไม่ขึ้นชันมากนัก เพราะเราจะมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศดีขึ้น เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งจะเกิดการอนุมัติเมกะโปรเจกต์ซึ่งน่าจะระดมเงินทุนได้ ก่อให้เกิดการจ้างงานอีกมาก ซึ่งจะทำให้เกิดการบริโภคในประเทศที่สูงขึ้น ทั้งหมดจะตัวช่วยพยุงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้ดีขึ้น ทำให้ Business Cycle ก็ดีตามมา แต่มันก็มีตัวร้ายๆอยู่บ้างแต่ตัวดีมากกว่า ตัวร้ายเช่นอัตราเงินเฟ้ออาจสูงขึ้น น้ำมันเชื้อเพลิงอาจสูง เงินบาทที่แข็งมีทั้งผลดีและร้าย ผลดีจะทำให้น้ำมันราคาไม่สูงเกินไป ผลร้ายคือกระทบภาคส่งออก แต่ถ้ามีเศรษฐกิจภาคอื่นมาช่วยจุนเจือเช่นเงินลงทุนจากต่างประเทศ เมกะโปรเจกต์ การบริโภคภายในประเทศ ธุรกิจส่งออกก็จะมีคนคอยยันไว้หน่อย เมื่อเป็นอย่างนี้ผมก็เชื่อว่าของเราก็น่าจะไปได้
เรื่องการแข่งขันตัดราคาของเรา ใน 2 ปีที่ผ่านมาก็ได้บทเรียนไปเรียบร้อยแล้ว แต่จริงๆเรียกว่าเป็นกระบวนการ เป็นธรรมชาติของอุตสาหกรรม เมื่อมี Regulate แล้ว De-regulate มันจะเกิด Price War หลังจากนั้นเป็นเรื่อง Acquisition Merging แล้ว Price War ก็จะหายไป ตอนนี้ก็จางลงเรียกได้ว่าแค่น้ำจิ้ม ไม่โหมรุนแรงเหมือนเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการแข่งขันทางธุรกิจจำเป็นต้องใช้ประสิทธิภาพ ทำให้บริการที่แอดวานซ์ถูกนำมาใช้ เหมือนในอดีตที่จำเป็นต้องมีการใช้แฟกซ์ ปัจจุบันทำให้บริการดาต้าเซอร์วิสสูงขึ้น คนต้องมีการใช้โน้ตบุ๊กมากขึ้น ต้องส่งข้อความ ต้องเข้าเว็บมากขึ้น การสื่อสารก็จำเป็นมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อธุรกิจดีขึ้นก็ย่อมมีคนอยากเข้า ต้องเกิดการแข่งขันระหว่างโทรคมด้วยกัน แต่ละรายต้องหาความหลากหลาย เราต้องเพิ่มคุณภาพเครือข่าย เพิ่มบริการที่หลากหลาย เพิ่มคุณภาพการให้บริการลูกค้าเพื่อสร้างความเป็นที่หนึ่งต่อไป
ปีนี้ผมอยากเห็นความชัดเจนของนโยบายภาครัฐ อย่างเช่นไลเซ่นต์ 3G ถ้าไม่ได้ข้อสรุปเราก็ลงทุนไม่ได้ ผมไม่ได้บอกว่าให้เอไอเอสคนเดียว ให้ทุกคนไม่มีปัญหา เราจะได้เคลื่อนที่ไป เรื่องความถี่ก็จัดการให้เรียบร้อย ไม่ว่าความถี่เดิมที่ได้ไปแล้วไม่ได้ใช้หรือความถี่ใหม่ การเรียกร้องความยุติธรรมก็ต้องครบทุกด้าน ไม่ใช่ยุติธรรมด้านเดียว
ให้โจทย์อะไรเอไอเอสไปบ้าง
ให้โจทย์ไป 5 เรื่องเปรียบเสมือนเป็นฐานคือลูกค้าจะได้อะไรจากเอไอเอส ลูกค้าจะต้องได้สิ่งที่ดีขึ้น ดีกว่าและมากกว่าเมื่อเวลาผ่านไปเราต้องพัฒนาขึ้น ดีกว่าอะไร 1.คุณภาพเครือข่ายต้องดีขึ้น 2.ต้องมีความหลากหลายของบริการ 3.คุณภาพในการให้บริการลูกค้าต้องดีขึ้น 4.เรื่องของ CSR ก็ต้องมีมากยิ่งขึ้นและ5.ความทันสมัยและก้าวหน้าของบริการ เป็นสิ่งที่เอไอเอสต้องพัฒนา 5 ด้านด้วยกัน
การเซ็นเอ็มโอยูกับทีโอที
เป็นหลักการที่ถูกต้อง แต่รายละเอียดทางปฏิบัติต้องดูก่อน แนวคิดผมต้องเอาลูกค้าเอาบริการเป็นตัวตั้ง เอาจุดแข็งที่แต่ละคนมีอยู่มารวมกันมากกว่า แต่ถ้าคิดโดยเอาตัวเราเป็นตัวตั้งเกรงว่าจะทำไม่ได้ ผมคิดเหมือนเราไปตลาดโต้รุ่งเราไปนั่งโต๊ะหนึ่ง แต่เราสั่งอาหารได้หลายเจ้า และผมว่ากลับกันเหมือนเวลาตีกอล์ฟต้องอินไซด์เอาท์ วงสวิงถึงสวยและกอล์ฟไปดี แต่ถ้าทำธุรกิจค้าขายต้องเอาท์ไซด์อิน แต่ถ้าอินไซด์เอาท์เมื่อไหร่ก็เหนื่อย ความเห็นผมน่าจะร่วมมือกันได้ ผมไม่คิดว่ามีอะไรเป็นไปไม่ได้ถ้าตั้งใจจะทำไม่ว่าจะในแง่สังคมศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์
6 เดือนในตำแหน่งประธานกรรมการบริหารชินคอร์ป
ผมรับตำแหน่งทางการ 1 ก.ค.2550 โดยประกาศล่วงหน้าตั้งแต่ 22 มี.ค.2550 ซึ่งช่วงนั้นการรับรู้ของมวลชนเห็นว่าบริษัทเราไปผูกพันกับสภาวะการขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่ผมรีบแก้ปัญหา วันที่ 2 ก.ค.รับตำแหน่ง ก็ได้แถลงจุดยืนเรื่องปลอดการเมือง หลังจากนั้นทำเรื่องนี้มาโดยตลอด เรื่องนี้เชื่อว่าได้พัฒนาไปในทางที่ต้องการเป็นอันมาก เห็นว่าเราไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง
ในทางธุรกิจก็ได้ดำเนินการและจัดการไปอย่างเรื่องแคปปิตอลโอเค การจัดโครงสร้างก็ได้ทำให้กะทัดรัดขึ้น การปรับภาพลักษณ์องค์กร ดำเนินกิจกรรมด้านสังคม สร้างภาพลักษณ์อันใหม่เข้าไปในชิน การเปลี่ยนชื่อหรือโลโกไม่สำคัญเท่าการกระทำ และการสื่อสาร ชื่อเป็นสิ่งสมมุติ อย่างพูดถึงคำว่าชินก็ไปคิดถึงคำอะไรอีกคำแล้วไปเชื่อมโยงกันไป เลยเป็นความคิดอันนั้นออกมา ดังนั้นมันอยู่ที่การกระทำของเรา และการสื่อสารของเรา ทำไมไม่เริ่มคำว่าชินแล้วต่อด้วยราชเป็นชินราชล่ะ
ปีนี้ชินมีอะไรเซอร์ไพร์สมั้ย
ผมเป็นคนค่อนข้างไม่มีอะไรเซอร์ไพร์ส ผมเป็น Military Type ทำอะไรก็จะเป็นแผน และผมเป็นคนชั้นเดียว อธิบายหมดแล้วทุกคนก็ทำไปตามแผน ผมคิดอย่างไรก็พูดไปอย่างนั้น
นโยบายเทมาเส็ก
เท่าที่ผมฟังการคอมมูนิเคชั่นที่ออกมา เขาก็เปิด หมายถึงถ้ามีคนซื้อเขาก็ขายไม่ได้หวงแหนหรือกอดเอาไว้
Company Related Links :
Shincorp