xs
xsm
sm
md
lg

Dream Theater Live in Bangkok: ปาฏิหาริย์แห่งดนตรี ณ สวนลุมพินี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วันพุธที่ 25 ม.ค. ปี 2006 เป็นวันที่สาวกของยอดโปรเกรสซีฟ เมทัล Dream Theater ยุติการเฝ้ารอมาอย่างยาวนาน ที่ลากยาวมาตั้งแต่ครั้งที่สื่อเพลงสากาลในเมืองไทย (นำโดย มาโนช พุฒตาล ที่นำเพลง Metropolis Pt.1 มาเปิดในช่วงดึกๆ ของรายการบันเทิงคดี) นำ Images and Words ผลงานโด่งดังชุดแรกของพวกเขาและซิงเกิลสุดดัง Pull Me Under มาให้แฟนๆ ชาวไทยได้รู้จักกัน และหลังจากที่ผิดหวังจากข่าวลือที่พวกเขาจะมาเปิดการแสดงที่เมืองไทยมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน (จนบางคนเริ่มจะไม่เชื่อแล้ว) การแสดงที่อิมแพ็ค อารีนา เมื่อ 2 ปีก่อนก็เป็นการเสร็จสิ้นการรอคอยของแฟนเพลงมาเกือบ 15 ปีในที่สุด ซึ่งเป็นหนึ่งในการแสดงที่สร้างความประทับใจต่อแฟนเพลงจนถึงวันนี้

แต่หลังจากนั้นคงมีไม่กี่คนที่จะเชื่อว่าพวกเขาจะกลับมาอีกครั้งในอีก 2 ปีถัดมาเท่านั้น ในการแสดงที่ บางกอกฮอลล์ สวนลุมไนท์บาร์ซาร์ คืนวันเสาร์ที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการมาเยือนเมืองไทยเพื่อโปรโมทผลงานอัลบั้มชุดล่าสุด 2 อัลบั้มซ้อนของวงดนตรีวงหนึ่ง ซึ่งด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง เรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ง่ายๆ นัก เมื่อดูจากประวัติการจัดคอนเสิร์ตนอกในเมืองไทยที่ต้องหวังผลทางการขายบัตรอย่างมากเพื่อไม่ให้ผู้จัดต้องเข้าเนื้อ การโปรโมทคอนเสิร์ตของวงที่เพิ่งจัดไปได้เพียง 2 ปีจึงต้องมีความพิเศษจริงๆ ถึงจะเรียกกระแสความสนใจของแฟนเพลงให้ยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินอีกรอบได้

แต่เมื่อดูจากแฟนเพลงของ DT ที่มารวมตัวกันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว นอกจากบารมีของวงจะสามารถเรียกแฟนที่เคยดูรอบแรกกลับมาได้อย่างมากมายแล้ว แฟนเพลงที่พลาดโอกาสครั้งก่อนไปที่ไม่ต้องการให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยก็ต่างมาชุมนุมกันในวันนั้นมากมาย ในสถานที่ที่อาจเรียกได้ว่าเล็กลงกว่าเดิมอยู่ซักหน่อย แต่ได้เปรียบตรงที่ระบบเสียงที่ผ่านๆ มาสร้างปัญหาเอาไว้น้อยกว่า และสร้างความอุ่นใจต่อแฟนๆ ที่ต้องการเข้าไปเสพงานเพลงอย่างเต็มเหนี่ยวในวันนั้นได้เป็นอย่างดี

ระหว่างคอนเสิร์ตของ DT ในไทยเวอร์ชั่น 2006 และ 2008 อาจจะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เพราะครั้งที่แล้ว DT ได้ขนงานประเภทที่ถ้าไม่ฟังก็นอนตายตาไม่หลับของวงมาเสิร์ฟแฟนๆ เพื่อชดเชยการปล่อยให้รอกันอย่างยาวนานทั้งงานที่ทุกคนโหยหาอย่าง ครึ่งแรกของ Scenes from a Memory หรือครึ่งหลังของ Six Degrees of Inner Turbulence และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ Pull Me Under กับ Metropolis Pt.1

แต่มาคราวนี้ ด้วยความต้องการให้คอนเสิร์ตออกมาคุ้มค่าต่อแฟนเพลงมากที่สุด ทั้งกลุ่มที่เคยมาดูพวกเขาแล้วและมาดูเป็นครั้งแรก ทางวงจึงไม่นำเพลงที่เคยแสดงในครั้งที่แล้วกลับมาเล่นอีกเลย (ยกเว้นท่อน Razor's edge ของ Octavarium) แต่กระนั้นก็ยังเป็นรายชื่อเพลงที่ยอดเยี่ยมมากพอที่จะสร้างการแสดงที่แสนวิเศษ สมชื่อวงที่สามารถสร้างความตื่นเต้นบนเวทีโดยไม่ต้องพึ่ง "ของตาย" เหมือนศิลปินรายอื่นๆ

เปิดตัวด้วยผลงานสุดมันประจำชุดล่าสุด Constant Motion ที่เรียกเสียงเฮจากแฟนๆ ได้สุดๆ ต่อด้วยผลงานจากชุดก่อนอย่าง Never Enough ที่เมามันไม่แพ้กัน

หลังจากอุ่นเครื่องกันไปหอมปากหอมคอแล้ว ก็มาถึงช่วงไฮไลท์ของงานในผลงานจากชุด Images and Words ที่วงนำมาเล่นเป็นพิเศษเพื่อฉลองครบรอบ 15 ปีอัลบั้มที่สร้างชื่อให้กับวงอย่างเป็นทางการชุดนี้ ซึ่งเพลงที่นำมาเล่นนี้เป็นผลงานที่แฟนเพลงชาวไทยชื่นชอบเป็นพิเศษอย่าง Surrounded ผลงานการประพันธ์ของ เควิน มัวร์ มือคีบอร์ดคนเก่า ซึ่งเวอร์ชั่นเดิมนั้นต้องยอมรับว่าสมบูรณ์แบบด้วยความระทึก, ซับซ้อน และงดงาม แต่ในเวอร์ชั่น 2007 ที่นำเมาเล่นนี้จะใส่พื้นที่สำหรับการโชว์เทคนิกทางดนตรีเข้าไปเป็นพิเศษ

เพลงนี้เปิดตัวด้วยการโซโลช้าๆ ของ จอห์น เปทรูซซี ที่คราวนี้เปลี่ยนภาพลักษณ์แบบมาเฟียผมมันเยิ้ม มาเป็นไอ้หนุ่มผมยาว ที่ชวนให้นึกถึงศิลปินอิตาลีจากยุคเรอเนสซองซ์ได้ไม่ยาก แม้ว่าปัจจุบันตัวจะบวมขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะ

และที่เรียกเสียงเฮจากแฟนๆ ก็คืออการมาถึงของ Zen Riffer คีบอร์ดสะพายสีดำสุดเท่ความกว้าง 2 Octave ที่ จอร์แดน รูเดส พ่อมดประจำวงนำมาบรรเลงอย่างพิสดาร

เมื่อนึกถึงคีบอร์ดตระกูล Keytar ที่เอามาสะพายเล่นบนเวทีเมื่อยุค 80 หลายคนอาจจะนึกขำกับรูปทรงที่แสนเชย จนมันหายหน้าหายตาไปจากเวทีการแสดงคอนเสิร์ตอยู่หลายปี แต่เจ้า Zen Riffer ตัวนี้รูปทรงของมันถูกออกแบบมาให้เข้ากับการแสดงของวงร็อกอย่างแท้จริง ส่วนเว้าโค้งทำให้นึกถึงบรรดาชุดคอสจากการ์ตูนดังอย่างเซนต์ เซย่าได้ไม่ยาก ยิ่งอยู่ในมือของพ่อมดอย่างรูเดสตอนที่โซโลกับกีตาร์ของเปทรูซซียิ่งเท่สุดๆ

ความมันยังดำเนินต่อไปด้วยเพลงเด่นจากผลงานชุดล่าสุด The Dark Eternal Night ที่ทำเอาหลายคนลืมดูการแสดงบนเวที เพราะมัวแต่เพลิดเพลินกับการ์ตูนของวงที่นำมาฉายประกอบการแสดง ที่ทำออกมาเรียกเสียงฮาได้อย่างดี



The Dark Eternal Night Animation

หลังจากทางวงนำเพลง Lines In The Sand จากชุด Falling into Infinity ที่ไม่ค่อยนำมาเล่นบ่อยนักมาโชว์แล้ว ก็ตามมาด้วย 2 เพลงไพเราะแต่ทรงพลังของชุดล่าสุดทั้ง Forsaken ว่าที่ซิงเกิลที่ 2 ของอัลบั้ม ที่แฟนเพลงร่วมใจกันร้องท่อนสร้อยกันดังสนั่นฮอล และปิดท้ายช่วงแรกด้วย The Ministry Of Lost Souls อันยิ่งใหญ่ ก่อนที่ทางวงจะพักเบรกให้น้ำให้ท่ากัน 15 นาที เรียกได้ว่ากว่าชั่วโมงที่ผ่านไปก็สร้างความสะใจต่อแฟนเพลงในวันนั้นได้มากพออยู่แล้ว แต่ไฮไล์ของคอนเสิร์ตนี้ถือว่าอยู่ที่ช่วงหลังเต็มๆ

แม้จะไม่ใช่ผลงานที่หนักที่สุดของวง แต่ Systematic Chaos อัลบั้มล่าสุดก็ถือได้ว่าเป็นผลงานที่วงสร้างความสยดสยองเอาไว้มากมาย โดนเฉพาะเนื้อหาของเพลงส่วนใหญ่ที่ไม่พ้นเรื่องราวของภูติผีปีศาจ ทั้งเรื่องเกี่ยวกับวิญญาณที่วนเวียนในโลกมนุษย์ (The Ministry Of Lost Souls ), อสูรกายออกอาละวาดในในยามราตรี (The Dark Eternal Night) หรือชายหนุ่มที่เฝ้าคอยการมาเยือนของผีดิบสาวสวย (Forsaken)

แต่คงไม่มีเพลงใดที่ให้ภาพดังกล่าวได้ชัดเจนเท่าเพลงแรกที่ถูกนำมาเล่นในช่วงที่สองและเป็นเพลงที่แฟนๆ อยากดูมากที่สุดในวันนั้นอย่าง In The Presence Of Enemies มหากาพย์เรื่องราวการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของมนุษย์เพื่อทวงคืนวิญญาณที่เคยทำสัญญาเอาไว้กับจอมมาร ซึ่งเนื้อหาของดนตรีก็เป็นตัวขับเคลื่อนเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่นี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เรียกได้ว่าการได้ชมการบรรเลงทั้งสองภาคต่อเนื่องกันครั้งนี้เป็นประสบการณ์การฟังเพลงที่ยอดเยี่ยมมากจริงๆ

ตามต่อความสุดยอดกันด้วย Home เพลงเอกจากชุด Scenes from a Memory ที่อุดมไปด้วย Odd Time Signatures อันซับซ้อน ที่ดูเท่าไหร่ก็ไม่มีเบื่อ ก่อนจะมาลุ้นกันว่าเพลงจากซีดีแผ่นแรกของชุด Six Degrees of Inner Turbulence ที่วงไม่ค่อยนำมาเล่นบ่อยนักหวยจะออกที่เพลงอะไร ซึ่งสุดท้ายตัวเลือกอย่าง Misunderstood ซึ่งเป็นเพลงที่โชว์การเขียนเพลงที่ลุ่มลึกของ DT ก็เป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมสำหรับการเบรกอารมณ์ในช่วงนั้น แม้จะปฎิเสธไม่ได้ว่าหลายๆ คนคงอยากจะเห็นโชว์อันยอดเยี่ยมกับงานเมทัลอันสมบูรณ์แบบของเพลง The Glass Prison กันถ้วนหน้า (เอาเป็นว่าแฟนเพลงชาวไทยน่าจะได้ฟังเพลงนี้แน่ๆ จาก Alcoholics Anonymous Suite ที่จะสมบูรณ์ในผลงานของ DT ชุดหน้าสำหรับการมาเยือนเมืองไทยครั้งต่อไป)

และปิดท้ายเซ็ตนี้ด้วยอีกหนึ่งงานเพลงจากชุด Images and Words ที่แฟนๆ รอคอยใน Take The Time เพลงที่ทางวงโชว์ทักษะส่วนตัวทางดนตรีได้อย่างล้ำเลิศ คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนที่ไปดูคอนเสิร์ตในวันนี้จะลืมเสียงร้องของแฟนเพลงที่กระหึ่มบางกอกฮอลในเพลงปิดท้ายเพลงนี้



พ่อมด VS ขุนขวาน

ลีลาเด็ดของพวกเขานอกจากจะอยู่ที่การโชว์ความสามารถทางดนตรีแล้ว ยังอยู่ที่การโชว์มุกเด็ดๆ เรียกเสียงเฮกับแฟนๆ ด้วย ทั้งการโชว์ Zen Riffer ของรูเดส หรือตอนที่เปทรูซซีเอา MusicMan ที่เขาปั่นกระจายไปให้เพื่อนในวงทั้งรูเดสและพอร์ตนอยได้ลองจิ้มดูบ้าง ยิ่งเวอร์ชันของพอร์ตนอยนี่จิ้มกระจายจนทำเอาคนหัดจิ้มใหม่ๆ อายเอาได้เหมือนกัน

แต่คนที่สร้างความบันเทิงระหว่างการเสพดนตรีในวงมากที่สุดคงหนีไม่พ้นจอมโปรเจ็คท์ของวงอย่างพอร์ตนอยนั่นเอง หลังจากเรียกเสียงฮือฮาเมื่อครั้งก่อนด้วยการโยนไม้กลองข้ามเวทีไปมากับทีมงานที่อยู่ด้านข้างเวที คราวนี้ก็กลับมาด้วยมุกโยนไม้กลองไปมากับเปทรูซซีที่ดูเหมือนจะเพิ่งซ้อมกันมา (พลาดทั้งคู่) รวมทั้งการทำให้แฟนเพลงได้เห็นว่ายอดมือกลองของโลกนั้นสามารถทำอะไรได้บ้าง แม้แต่ตีกลองไปด้วยและใช้ไม้กลองแคะขี้มูกไปด้วยก็ทำได้

แต่ที่สุดสำหรับมุกของพอร์ตนอยในปีนี้คงเป็นตอนที่เขาขึ้นเวทีมาอีกครั้งในกางเกงมวย "ลุมพินี" นั่นเอง ที่ทั้งขำทั้งได้ใจแฟนเพลงกันไปถ้วนหน้า

หลังจากปล่อยให้แฟนเพลงส่งเสียงเรียกกันอยู่ซักพัก พวกเขาทั้ง 5 ก็กลับขึ้นมาบนเวทีอีกครั้ง พร้อมกับช่วงอังกอร์ที่แสนวิเศษอย่าง Schmedley Wilcox ที่เป็นเมดเลย์ยำใหญ่ที่นำเพลงปิดท้ายอัลบั้มต่างๆ ของวงมาบรรเลงต่อเนื่องกันกว่าครึ่งชั่วโมง เริ่มด้วยเสียงระลอกน้ำอันแผ่วเบาจากเพลง Trial Of Tears ไปสู่เพลงอันสับสนอลหม่านใน Finally Free สู่ท่อนบรรเลงในเพลง Learning To Live กระแทกกระทั้นอย่างสะใจกับเพลง In The Name Of God และปิดท้ายเพลงด้วยท่อนปิดท้ายอันยิ่งใหญ่สุดบรรยายของมหากาพย์ Octavarium ที่เปรียบดั่งการชำระล้างจิตวิญญาณด้วยอำนาจแห่งเสียงเพลง เป็นประสบการณ์การเสพงานศิลป์ตลอด 3 ชั่วโมงเต็มที่สมบูรณ์แบบยิ่งนัก

บรรยากาศความอลังการของบางกอกฮอลล์ สวนลุมไนท์บาร์ซาร์ เรื่องขนาดอาจจะเทียบกันไม่ได้กับอิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานีเมื่อ 2 ปีก่อน แต่ในครั้งนี้แฟนเพลงสามารถใกล้ชิดพวกเขาได้มากกว่าโดยไม่ต้องรอให้ถึงช่วงอังกอร์เหมือนครั้งที่แล้ว และที่สำคัญไม่ต้องมีใครเดินเอาไฟมาส่องหน้าขณะที่ลุกขึ้นยืนเพื่อมันกับคอนเสิร์ตเพลงร็อกอีกด้วย

ทางผู้จัดเผยว่ามีความเป็นไปได้ที่หลังจากเสร็จการทัวร์ครั้งนี้ ทางวงอาจจะออกบันทึกการแสดงออกมาให้แฟนๆ ได้สะสมกันอีกครั้ง ซึ่งเมื่อวัดจากผลงานที่พวกเขาเอามาฝากแฟนๆ ชาวไทยได้เห็นกันแล้ว เชื่อแน่ว่ามันจะเป็นหนึ่งในบันทึกการแสดงที่ยอดเยี่ยมของวงอีกชุดหนึ่งเช่นเคย

รายชื่อเพลงปี 2008

1. Constant Motion
2. Never Enough
3. Surrounded (expanded)
4. The Dark Eternal Night
5. Keyboard Solo
6. Lines In The Sand
7. Forsaken
8. The Ministry Of Lost Souls

Intermission

9. In The Presence Of Enemies
10.Home
11.Misunderstood
12.Take The Time

Encore

13.Schmedley Wilcox
i. Trial Of Tears
ii. Finally Free
iii. Learning To Live
iv. In The Name Of God
v. Razor's edge (Octavarium)

รายชื่อเพลงปี 2006

1. The Root Of All Evil
2. Panic Attack
3. A Fortune In Line
4. Under A Glass Moon
5. Lie
6. Peruvien Skies
7. Strange Deja Vu
8. Through My Words
9. Fatal Tragedy
10.Solitaly Shell
11.About to Crash (Reprise)
12.Losing Time / Grand Finale

Intermission

13.As I Am
14.Endless Sacrifice
15.I Walk Beside You
16.Sacrificed Sons
17.Octavarium

Encore

18.Through Her eyes
19.Spirit Carries On
20.Pull Me Under / Metropolis Pt.1



















กำลังโหลดความคิดเห็น