xs
xsm
sm
md
lg

จับมือ สธ.กิมจิป้องโรคระบาด หวัดนก หวัดใหญ่ ข้ามแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอง อธ.กรมควบคุมโรค นำคณะสื่อมวลชนเยือนแดนกิมจิศึกษาดูงานที่กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค เกี่ยวกับนโยบายการป้องกันควบคุมโรค ดูการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่สามารถแพร่ระบาดข้ามแดนที่สำคัญ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก

วันนี้ (28 ม.ค.)นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปกรุงโซล ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อศึกษาดูงานที่กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค เกี่ยวกับนโยบายการป้องกันควบคุมโรค การเตรียมความพร้อมในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่สามารถแพร่ระบาดข้ามแดนที่สำคัญ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก เป็นต้น ซึ่งสาธารณรัฐเกาหลีเป็นหนึ่งในประเทศแถบเอเชีย ที่ประสบความสำเร็จในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดต่อระหว่างประเทศ ไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้าและการท่องเที่ยว

นพ.สมชัย กล่าวว่า ปัจจุบันทุกประเทศทั่วโลก จำเป็นต้องร่วมมือกันในการพัฒนาระบบการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเชื้อโรคมีโอกาสแพร่กระจายได้ทั่วโลกในเวลารวดเร็วจากความสะดวกในการคมนาคม และผลของโลกร้อนที่ทำให้โรคบางชนิดระบาดรุนแรงขึ้น หากไม่มีระบบการป้องกันควบคุมโรคที่ดี จะเกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว ที่กำลังเป็นปัญหาระดับโลกขณะนี้คือโรคไข้หวัดใหญ่และโรคไข้หวัดนกในคน ซึ่งเชื้อโรคมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา เช่น อาจเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างไวรัสไข้หวัดนกกับไข้หวัดใหญ่ และมีโอกาสเกิดการระบาดรุนแรงทุกประเทศทั่วโลกได้ โดยหากเกิดการระบาดใหญ่เช่นเดียวกับปี 2461 คาดการป่วยและเสียชีวิตจะหลายล้านคน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2546-23 มกราคม 2551 มีรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกใน 14 ประเทศ ได้แก่ ทวีปอัฟริกา ยุโรป และเอเชีย รวม 352 ราย เสียชีวิต 219 ราย ร้อยละ 80 อยู่ในเอเชีย พบการระบาดในสัตว์ปีกใน 28 ประเทศรวมทั้งไทยและเกาหลีด้วย แต่ที่เกาหลีไม่มีรายงานติดเชื้อในคน ส่วนไทยในช่วงปี 2547-2549พบผู้ป่วย 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย รายล่าสุดเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2549 หลังจากนั้นยังไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ ซึ่งการระบาดของโรคไข้หวัดนกเมื่อปี 2547 ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของไทย (GDP) ลดลงถึงร้อยละ 0.39

นพ.สมชัย กล่าวต่อว่า สำหรับความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างไทยและเกาหลี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2546 หลังเกิดการระบาดของโรคซาร์ส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของประเทศภูมิภาคอาเซียน และ 3 ประเทศพันธมิตรเอเปค ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้มีข้อตกลงร่วมกัน เพื่อสร้างความร่วมมือในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำในภูมิภาคอาเซียนและ3 ประเทศพันธมิตรเอเปค (ASEAN+3 EID : ASEAN Plus Three Emerging Infectious Diseases) ได้รับความร่วมมือจากองค์การอนามัยโลก ศูนย์โรคติดต่อสหรัฐอเมริกา และองค์กรเอดส์ออสเตรเลีย โดยแผนระยะที่ 1 ระหว่างพ.ศ. 2547–2548 เน้นการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคติดเชื้อทั้งใหม่และเก่า การพัฒนาบุคลากร และการแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญแต่ละประเทศ ในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคในทุกประเทศ ซึ่งไทยได้รับเป็นผู้ประสานงานหลักในการพัฒนาศักยภาพการเฝ้าระวังโรคของประเทศภูมิภาคอาเซียนและ3 ประเทศพันธมิตรเอเปค

แผนระยะที่ 2 ระหว่าง พ.ศ.2550–2553 เน้นเตรียมการรับมือภัยคุกคามของโรคติดต่อ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาวุธชีวภาพ และการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรเอดส์ออสเตรเลีย 3 – 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในปี 2551 นี้ ไทยจะจัดฝึกอบรมด้านระบาดวิทยาแก่ประเทศสมาชิก วิเคราะห์ประเมินสถานการณ์โรคในภูมิภาคและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเครือข่าย จัดทำระบบฐานข้อมูลด้านระบาดวิทยาและเผยแพร่ผลงานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะเข้าร่วมประชุมเตรียมการประเมินผลในวันที่ 11 – 12 กุมภาพันธ์ 2551 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเชีย

นพ.สมชัย กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ป้องกัน แก้ไขและเตรียมพร้อมรับปัญหาไข้หวัดนกและการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 – 2553 ต่อเนื่องจากฉบับแรกที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโรคไข้หวัดนก ทั้งในสัตว์ปีกและในคน จนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ แผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้มียุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ 1.จัดระบบการเลี้ยงสัตว์ปีกอย่างปลอดโรค 2.การเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค ทั้งในคนและสัตว์ 3.การเตรียมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ และ 4.ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ประชาชน ภาคธุรกิจ และนานาประเทศ มีกรอบวงเงินงบประมาณที่เสนอไว้ทั้งสิ้น 10,372 ล้านบาทเศษ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะเตรียมซ้อมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ในระดับประเทศต่อไป

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าหากเกิดการระบาดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในไทย อาจจะมีผู้ป่วยไม่ต่ำกว่าล้านคน และผู้เสียชีวิตระหว่าง 6,500 - 35,000 คน ในขั้นสูงจะป่วยมากถึง 26 ล้านคน เสียชีวิตนับแสนคน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม

กำลังโหลดความคิดเห็น