xs
xsm
sm
md
lg

รามาเจ๋ง! เผยเทคนิคใหม่รักษา “หัวใจผิดจังหวะ” แห่งแรกในเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รพ.รามาเจ๋ง! ใช้เทคโนโลยีใหม่ ผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กแค่ 1-2 ซม. ปล่อยคลื่นจัดการสยบโรคหัวใจสำเร็จแห่งแรกในเอเชีย ผ่าตัดแล้วไม่กลับมาเป็นอีก ลดค่าใช้จ่ายเดินทางไปรักษาต่างประเทศ 10 เท่าตัว พร้อมเปิด “ศูนย์รักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ” เผยสุดอันตราย ทำไหลตาย-นักกีฬาช็อกคาที่ เสี่ยงอัมพาต

วันนี้ (24 ม.ค.) ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ศ.นพ.รัชตะ รัชตนาวิน คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ผศ.นพ.ครรชิต ลิขิตธนสมบัติ หัวหน้าศูนย์รักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผศ.นพ.สุชาต ไชยโรจน์ หน่วยศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกันแถลงเปิด “ศูนย์รักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ”

ผศ.นพ.ครรชิต ลิขิตธนสมบัติ หัวหน้าศูนย์รักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ กล่าวว่า โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะแบ่งได้ 2 ประเภท คือ โรคหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ และโรคหัวใจเต้นช้าผิดจังหวะ แต่ที่พบบ่อย คือ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด เอเอฟ (Atrial fibrillation : AF) ซึ่งเกิดจากสร้างสัญญาณไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ทำให้หัวใจเต้นเร็วสูงถึง 190-350 ครั้งต่อนาที ซึ่งพบได้ในทุกกลุ่มอายุแต่พบมากในผู้สูงอายุ เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับความเสื่อมของร่างกาย การดื่มสุรา หรือความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ หรืออาจมีสาเหตุมาจากโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตผู้ป่วยจะมีอาการใจสั่น รู้สึกไม่สบาย ระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ บางรายอาจพบลิ่มเลือดในหัวใจ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนอันตราย หากลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดในอวัยวะสำคัญ อาจเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต โดยมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วย 5-7 คน ใน 100 คน หรือ 2 เท่าของผู้ที่หัวใจเต้นปกติ

“ขณะนี้มีผู้ป่วยภาวะหัวใจผิดปกติชนิดเอเอฟสูงขึ้นเรื่อยๆ ในสหรัฐฯ คาดว่ามีผู้ป่วย 2.2 ล้านคน หรือร้อยละ 0.4 ของประชากร คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ได้ทำการวิจัยและพัฒนากระบวนการรักษาเพื่อให้บริการผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้เปิด “ศูนย์รักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ” ซึ่งมีเทคโนโลยีใหม่ในการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ทั้งการจี้ด้วยสายสวนด้วยระบบคาร์โต (Carto system) การผ่าตัดขนาดเล็ก และการผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง ที่ทำสำเร็จเป็นแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ผศ.นพ.ครรชิต กล่าว และว่าส่วนการรักษา หากผู้ป่วยมีอาการหัวใจเต้นช้าผิดปกติ 20-30 ครั้งต่อนาที สามารถฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจที่หน้าอกได้

ผศ.นพ.ครรชิต กล่าวต่อว่า สำหรับขั้นตอนวิธีการรักษา เมื่อพบความผิดปกติหัวใจเต้นผิดจังหวัด หลังจากมีการซักถามอาหารโรคเพื่อหาสาเหตุและวางแผนการรักษา โดยเบื้องต้นจะต้องเปลี่ยนแปลงเลิกพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การดื่มสุรา กาแฟ หรือรักษาโรคหัวใจที่มีอยู่ จากนั้นก็ต้องหารือกับคนไข้จะเลือกวิธีการรักษาแบบการจี้ หรือผ่าตัด ซึ่งจะใช้วิธีการจี้ด้วยสายสวนด้วยระบบคาร์โต ซึ่งเป็นส่งคลื่นวิทยุความถี่สูง แต่หากการจี้ไม่ได้ผลดี จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการผ่าตัด ซึ่งพบว่า สามารถรักษาหายได้ 70-80% โดยไม่กลับมาเป็นเป็นซ้ำอีก โดยที่ผ่านมาทำการผ่าตัดไปแล้ว 2ราย

“วิธีการนี้มีใช่รักษาในอเมริกาไม่ต่ำกว่า 10 ปี แต่ถือเป็นวิทยาการล่าสุด ที่ทำสำเร็จเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากไม่ต้องไปรักษาในต่างประเทศซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมากเฉียดล้านบาท ซึ่งการผ่าตัดในประเทศจะช่วยลดการใช้จ่ายได้ 10 เท่าตัว” ผศ.นพ.ครรชิต กล่าว

ด้านผศ.นพ.สุชาต ไชยโรจน์ หน่วยศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ กล่าวว่า วิทยาการล่าสุดเพื่อรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดปกติชนิด เอเอฟ คือ การผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งได้รับความร่วมมือกับทีมแพทย์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และมหาวิทยาลัย UCLA เบื้องต้นแพทย์ต้องวินิจฉัยว่าผู้ป่วยควรรักษาด้วยวิธีนี้หรือไม่ การผ่าตัดวิธีนี้ ช่วยลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดแบบเดิม โอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนต่ำ เพราะเป็นการผ่าตัดขนาดเล็ก 2 จุด บริเวณช่องชายโครงความยาว 1-2 ซม.เพื่อสอดใส่กล้อง จากนั้นใช้อุปกรณ์พิเศษคล้องบริเวณขั้วของหลอดเลือดดำที่ปอด เพื่อปล่อยคลื่นไมโครเวฟทำลายวงจรผิดปกติของหัวใจ เมื่อหัวใจเต้นปกติ จะปิดเย็บแผล ใช้เวลาการผ่าตัดเพียง 1-1.5 ชั่วโมง หลังจากผ่าตัดผู้ป่วยจะพักใน รพ.1-2 วัน หากไม่พบความผิดปกติก็กลับบ้านได้

ผศ.นพ.สุชาต กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้ คือ แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดและพักฟื้นสั้น และโอกาสผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดสูง ซึ่งแพทย์และประชาชนที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ในงานประชุมวิชาการของคณะ ฯ ซึ่งจัดที่ศูนย์การค้า เซ็นทรัลเวิลด์ ระหว่างวันที่ 30 มกราคม ถึง 2 กุมภาพันธ์ หรือที่ www.ramacvmc.org

ขณะที่ ศ.นพ.รัชตะ รัชตนาวิน คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากโรคเอดส์ ข้อมูลล่าสุดปี 2549 ของกระทรวงสาธารณสุข พบ ผู้ป่วยโรคหัวใจ 328,195 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจประมาณ 4 หมื่นรายต่อปี เฉลี่ยชั่วโมงละ 4 ราย ขณะที่ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ 107.5 ล้านคนต่อปี ทั้งนี้ ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา มีอัตราการเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยถือว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจมากขึ้นเช่นกัน

“สาเหตุการเสียชีวิตจากโรคหัวใจส่วนใหญ่ เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่ยังพบว่าภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะก็เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญซึ่งอยู่ในอันดับที่ 4 ของการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ โดยเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตกะทันหัน ไหลตาย หรือการเสียชีวิตของนักกีฬาในขณะแข่งขัน” ศ.รัชตะ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น